โลจิสติกส์อัจฉริยะ (Smart Logistics)
วศ.สิริพงศ์ จึงถาวรรณ, ACPE, CSCP, EPPM
จากฉบับก่อนที่ผมเขียนถึง โลจิสติกส์แบบลีน (Lean Logistics) ไปแล้ว ในฉบับนี้ ผมจะเพิ่มข้อมูลในส่วนของเทคโนโลยีที่เข้ามามีบทบาทสำคัญในกิจกรรมโลจิสติกส์ ตั้งแต่ต้นน้ำจนไปถึงปลายน้ำ หรือ End-to-end (E2E) ก่อนอื่นมาดูกันว่าโลกสากลมองแบบจำลองโลจิสติกส์ 4.0 กันอย่างไรบ้าง ตั้งแต่ยุคแรกๆ โลจิสติกส์ 1.0 เปลี่ยนจากการเพาะปลูก ล่าสัตว์ในปลายศตรวรรษ 18 เริ่มมีการปฏิวัติอุตสาหกรรม เกิดการสร้างเครื่องจักรไอน้ำ เริ่มทำอุตสาหกรรมเบาๆ เกิดการต่อเรือเดินสมุทร สร้างทางรถไฟ การทำเครื่องบิน ขึ้นมา รูปแบบการผลิตเป็นแบบผลัก (Push) ส่งมอบสินค้าและบริการไปที่ตลาด โดยไม่ได้สนใจความต้องการของลูกค้ามากนัก
โลจิสติกส์ 2.0 เกิดขึ้นเมื่อภาคอุตสาหกรรมสามารถพัฒนาวัตถุดิบใหม่ๆ เช่น เหล็ก ทองแดง อลูมิเนียม ทำให้เกิดอุตสาหกรรมต่อเนื่องตามมา การผลิตไฟฟ้า และการสื่อสารที่ดีขึ้น เกิดระบบการผลิตแบบเน้นปริมาณ (Mass production) นำโดยค่ายรถยนต์ Ford รุ่น Model T ที่พัฒนาการผลิตแบบสายการผลิตแบบประกอบ (Assemble Line) ที่เกิดการพลิกโลกอีกครั้ง ทำให้โลกทั้งโลกเชื่อมโยงกันด้วยการสร้างถนนหนทาง เริ่มมีเครื่องไม้เครื่องมือในการช่วยในงานขนถ่าย เคลื่อนย้ายสินค้า (Material Handling) มากขึ้น มีการสร้างคลังสินค้าง่ายๆ กองสินค้าบนพื้น หรือกองสินค้าบนพาเลต ไปจนถึงการสร้างตัวคัดแยกอัตโนมัติ (Sorter) คลังสินค้าอัตโนมัติเริ่มเกิดขึ้น มีการใช้รถยกสินค้า (Forklift) การจัดการขนส่งแบบรวมศูนย์ (Centralization) บริหารจากกองยานพาหนะกลาง
โลจิสติกส์พัฒนากลายเป็นโลจิสติกส์และโซ่อุปทาน ขยายขอบเขตไปทั่วทั้งโลก เชื่อมโยงเป็นหนึ่งเดียว โลกกลับมาแบนอีกครั้ง เพราะเทคโนโลยีการสื่อสาร โลจิสติกส์ยุคที่ 3.0 เกิดอุตสาหกรรม เทคโนโลยีนวัตกรรมใหม่ๆ ความเชี่ยวชาญเฉพาะด้านมีความจำเป็นอย่างยิ่งยวด ข้อมูลและสารสนเทศเริ่มเชื่อมโยงกันบ้างในบางองค์กร ทำให้เกิดการสั่งและบริหารสินค้าแบบดึง (Pull) ใช้ความต้องการของลูกค้าเป็นตัวผลักดันธุรกิจ เริ่มมีรถยกไฟฟ้า การบริหารกองยานพาหนะในภาพรวมเชิงบูรณาการมากขึ้น เพราะสามารถใช้เทคโนโลยีสารสนเทศมาช่วยให้กระบวนการต่างๆ ง่ายขึ้น คอมพิวเตอร์พัฒนาการเปลี่ยนเป็นซุปเปอร์คอมพิวเตอร์และมีขนาดเล็กลงเรื่อยๆ จากจอเขียว มาเป็นจอขาวดำ และจอสีแบบในปัจจุบัน ในช่วง 1960 เริ่มมีการนำหุ่นยนต์มาช่วยในงานภาคอุตสาหกรรม เกิดระบบการจัดการโลจิสติกส์ต่างๆ เช่น ระบบการจัดการการขนส่ง (Transportation Management Systems: TMS) ระบบจัดการคลังสินค้า (Warehouse Management Systems: WMS) และการพัฒนาเครือข่าย (Network) โครงสร้างพื้นฐาน (Infrastructure) และสาธารณูปโภคอื่นๆ ที่ดียิ่งขึ้น
โลจิสติกส์ในปัจจุบัน ก้าวไปมากกว่าความเป็นโลจิสติกส์ในยุคแรกๆ ที่ทำงานแบบแยกส่วน (Silo) เกิดความเป็นอัจฉริยะมากขึ้น อินเตอร์เนตแห่งสรรพสิ่ง (Internet of Thing: IoT) ทำให้กระบวนการทุกอย่างเชื่อมกันอย่างไร้รอยต่อ (Seamless) ตั้งแต่ การวางแผน การจัดหาวัตถุดิบ การผลิต การจัดเก็บ การส่งมอบ และการเก็บเงิน ในยุคที่เราสามารถตรวจติดตามสถานการณ์ต่างๆ ได้บนมือถืออัจฉริยะเพียงเครื่องเดียว เกิดโลกเสมือน (Cyber) และโลกจริงควบคู่กัน (Cyber-Physical Systems: CPS) ตั้งแต่ ชั้นวางสินค้าอัตโนมัติที่เคลื่อนที่ได้เอง รถยกอัตโนมัติ รถยนต์ขับได้เองสามารถควบคุมติดตามปัจจัยต่างๆ อาทิ ระบบตรวจวัดความดันลมยาง (Tire-pressure Monitoring System: TPMS) ระบบติดตามตำแหน่งด้วยระบบระบุตำแหน่งบนพื้นโลก (Global Positioning System: GPS) เซนเซอร์อัจฉริยะที่ช่วยในการขับขี่ (Mobileye) โดรนบินส่งสินค้า การรับส่งสินค้าถึงหน้าประตู และในอนาคตอันใกล้ ผู้จัดส่งสินค้า จะเปิดประตูบ้านของท่านผ่านระบบอัจฉริยะ (Smart Door) ผ่านเข้าไปส่งสินค้าในบ้าน โดยที่ท่านสามารถเปิดกล่อง CCTV ดูได้ว่าใครมาทำอะไร ส่งสินค้าใด วางไว้ตรงไหน
ลองไปดูกรณีศึกษาระดับสากล Amazon ผู้จำหน่ายสินค้าออนไลน์ (e-commerce) ยักษ์ใหญ่ Amazon มีอะไรที่น่าสนใจบ้าง จากการเริ่มต้น พัฒนาธุรกิจใหม่จากระบบ Online สู่ระบบ Offline ที่เรียกว่า Online to Offline (O2O) โดยต้นปี 2560 ได้เปิดสาขา Amazon Go ที่ Seattle, Washington สหรัฐอเมริกา “เพียงเปิด Application Amazon Go ในมือถือ เดินเข้าร้าน ยิง QR Code หยิบสินค้า เดินออกจากร้าน ค่าใช้จ่ายก็จะถูกหักผ่านบัตรเครดิตทันที” ระบบจะนำข้อมูลสินค้าใส่เข้าในตะกร้าเสมือน (Visual cart) ถ้าเปลี่ยนใจไม่เอาสินค้าใด ระบบจะอัพเดทตัดสินค้าออกไปทันทีด้วยระบบหลังบ้าน ทั้ง Computer Vision, Deep Learning Algorithms, AI, Sensor fusion แบบเดียวกับที่ใช้ในรถยนต์อัตโนมัติ พร้อมตัดบัตรเครดิตอัตโนมัติ Amazon เรียก เทคโนโลยีนี้ว่า Just Walk Out Technology เดินออกจากร้านพร้อม รายงานตัดยอดเงินบนมือถือ ไม่มีการต่อแถว ไม่ต้องยืนรอชำระเงิน (No Lines, No check Out) ส่วนระบบโลจิสติกส์สนับสนุนหลังบ้าน Amazon Fulfillment Center ตั้งแต่ คลังสินค้าและกระจายสินค้า จนถึงระบบโลจิสติกส์ ด้วยคลังสินค้าขนาดมากกว่า 1.1 ล้านตารางฟุต ในปี 2015 Amazon ส่งสินค้าไปมากกว่า 51 ล้านชิ้น มีสินค้าที่ถูกขาย 629 ชิ้นในทุกๆ วินาที ใช้หุ่นยนต์ Kiva ในการขนสินค้าตามคำสั่งซื้อ ในรูปแบบเดิมๆ พนักงานจะเดินเข้าไปหยิบสินค้า ถ้าอยากดูคลิปสามารถยิง QR Code เข้าไปดูกันได้เลยครับ
จะเห็นได้ว่า โลจิสติกส์อัจฉริยะ (Smart Logistics) ทำให้โลจิสติกส์แบบลีน “การส่งมอบในเวลาที่ต้องการ ปริมาณที่ต้องการ ส่งได้อย่างสะดวก และมุ่งกำจัดความสูญเปล่าในกระบวนการโลจิสติกส์ออกไป เพื่อปรับเปลี่ยนวิธีการโลจิสติกส์ต่างๆ ให้เข้ากับลูกค้า (อุปสงค์) มากที่สุด” กลายเป็นจริง ตามที่ผมได้นำเสนอไปในฉบับก่อนได้เป็นอย่างดี
เอกสารอ้างอิง
วิทยา สุหฤทดำรง, 2553, การกระจายสินค้าแบบลีน, กรุงเทพมหานคร: อี.ไอ. สแควร์.
สิริพงศ์ จึงถาวรรณ, 2561, LEAN ผู้ประกอบการยุคใหม่ จากก้าวเล็กๆ สู่ก้าวที่ยิ่งใหญ่ในโลกธุรกิจ, กรุงเทพมหานคร: Dดี (ติดอันดับหนังสือขายดี (Best Seller) ภายในวันแรกที่วางจำหน่าย).
สิริพงศ์ จึงถาวรรณ, 2560, LEAN ลดต้นทุนธุรกิจ งานเสร็จไว กำไรพุ่ง, กรุงเทพมหานคร: Dดี (ติดอันดับหนังสือขายดี (Best Seller) ภายในสัปดาห์แรกที่วางจำหน่าย).
Laura Domingo Galindo, 2016, The Challenges of Logistics 4.0 for the Supply Chain Management and the Information Technology, Master of Science in Mechanical Engineering, Norway: Norwegian University of Science and Technology.
31
พ.ค.
2562