บรรจุภัณฑ์สำหรับการค้าในรูปแบบ e-Commerce
โดย: ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.เลอพงศ์ จารุพันธ์
.
เราปฏิเสธไม่ได้ว่าวิถีการดำเนินชีวิตของผู้บริโภคปัจจุบันโดยเฉพาะในเมืองใหญ่เน้นความสะดวกสบายและความรวดเร็ว การซื้อสินค้า ณ ช่องทางขายปลีก (Brick and Mortar Retail Channels) นั้น จึงอาจไม่ได้เป็นที่นิยมของผู้บริโภคสมัยใหม่อีกต่อไป ด้วยการพัฒนาด้านเทคโนโลยีแบบ Disruptive นี้ ความสะดวกสบายเริ่มจากแอพพลิเคชั่นในสมาร์ทโฟน ส่งผลให้บริษัทและร้านค้าต่าง ๆ ต้องปรับกลยุทธ์การให้บริการ โดยอาศัยระบบสารสนเทศเพื่อขายสินค้าของตนเองทางออนไลน์ โดยมีรายงานว่า มูลค่าทางการตลาดสำหรับการขายสินค้าผ่านช่องทางออนไลน์ในประเทศไทยนั้น สามารถมีมูลค่าสูงได้มากกว่า 12-15 ล้านเหรียญสหรัฐภายในปี 2017 นี้ และตัวขับเคลื่อนที่สำคัญของตลาดการค้าออนไลน์คือระบบโลจิสติกส์ที่มีประสิทธิภาพ ไม่ว่าจะเป็นการส่งสินค้าในระยะใกล้หรือไกลก็ตาม
.
ภาพที่ 1: โซ่การกระจายสินค้าออนไลน์
ที่มา: http://www.bemis.com/Bemis/media/Library/pdf/restricted/Bemis-eBook-eCommerce.pdf
นอกจากระบบการขนส่งมวลชนที่ดีและการจัดคลังสินค้าที่มีประสิทธิภาพจะสามารถสร้างความเชื่อมั่นของผู้ซื้อสินค้าแล้ว บรรจุภัณฑ์ขนส่งยังถือว่าเป็นองค์ประกอบหนึ่งที่สำคัญซึ่งก่อให้เกิดความมั่นใจต่อคุณภาพของสินค้าที่ส่งถึงหน้าประตู หากบรรจุภัณฑ์อยู่ในสภาพที่ไม่สมบูรณ์ ผู้รับสินค้าอาจเกิดความลังเลต่อสินค้าที่อยู่ภายในและอาจปฏิเสธรับสินค้าได้ ส่งผลให้เกิดผลกระทบเชิงลบต่อเจ้าของสินค้านั้นๆ นอกจากนี้ ปัญหาการใช้บรรจุภัณฑ์ที่ใหญ่เกินไปก็อาจส่งผลต่อความพึงพอใจของกลุ่มผู้ซื้อที่ให้ความสำคัญกับปัญหาสิ่งแวดล้อม ผู้ซื้อสินค้าออนไลน์ในกลุ่มนี้ อาจมีคำถามในแง่ปริมาณวัสดุบรรจุภัณฑ์ที่ใช้อย่างสิ้นเปลืองและเกินความจำเป็น และอาจมีปัญหากับการจัดการซากบรรจุภัณฑ์หลังได้รับสินค้าแล้ว ซึ่งประเด็นผลกระทบดังกล่าวข้างต้นอาจส่งผลให้ผู้บริโภคไม่กลับไปใช้บริการสินค้านั้นอีกเลย
.
การออกแบบบรรจุภัณฑ์สินค้าออนไลน์ไม่เพียงแต่เน้นด้านฟังก์ชั่นในการปกป้องสินค้าในทุกช่องทางการลำเลียงขนส่งเท่านั้น แต่ยังต้องหาวิธีการลดค่าใช้จ่ายสำหรับการขนส่งด้วย ซึ่งในหลายกรณีพบว่าสินค้าบางประเภทนั้นมีมูลค่าต่ำกว่าบรรจุภัณฑ์ขนส่งเสียเอง ค่าขนส่งสินค้าสามารถคำนวณได้จากน้ำหนักมิติ (Dimensional Weight) ของบรรจุภัณฑ์ที่ใช้หรือน้ำหนักปริมาตร (Volumetric Weight) ของตัวสินค้า โดยทั่วไปน้ำหนักมิติสามารถใช้ผลคูณของมิติของบรรจุภัณฑ์ (กว้าง x ยาว x สูง) หารด้วยค่าเปรียบเทียบ Dimensional Factor (≈ 5000-6000 ลูกบาศก์เซนติเมตร หรือ 139-166 ลูกบาศก์นิ้ว) แล้วนำผลที่ได้เทียบกับน้ำหนักจริงของสินค้าและใช้ค่าที่มากกว่าเป็นตัวกำหนดค่าขนส่งต่อไป ดังนั้น จะเห็นได้ว่า หากเป็นสินค้าที่มีขนาดใหญ่และน้ำหนักเบา ค่าขนส่งจะถูกกำหนดตาม Dimesional Weight ในขณะที่สินค้าน้ำหนักมากๆ ค่าขนส่งมักคิดตาม Volumetric Weight
.
การใช้บรรจุภัณฑ์ที่มีมิติมาตรฐาน (Common Footprint) อาจส่งผลดีต่อการบริหารจัดการสต๊อกบรรจุภัณฑ์ และสามารถใช้กับผลิตภัณฑ์ที่มีขนาดแตกต่างกัน แต่ทว่าอาจส่งผลให้เกิดการสิ้นเปลืองวัสดุบรรจุภัณฑ์โดยใช่เหตุเมื่อต้องบรรจุสินค้าที่มีขนาดเล็กกว่า ด้วยความท้าทายเหล่านี้จึงเกิดนวัตกรรมทางเทคโนโลยีการบรรจุโดยให้สามารถผลิตกล่องได้ตามขนาดของสินค้า (Box on Demand, BOD) เพื่อลดการจัดเก็บสต๊อกกล่องหลายขนาดและการใช้บรรจุภัณฑ์เกินความจำเป็น (Over Packaging) อีกทั้งยังเป็นการลดการใช้วัสดุป้องกันการกระแทกในกรณีที่กล่องบรรจุใหญ่เกินกว่าขนาดของสินค้าได้อีกด้วย
.
ภาพที่ 3: การผลิตบรรจุภัณฑ์แบบ Box on Demand
ที่มา: http://boxondemand.com/wp-content/uploads/2016/02/Packing-Setup-650x413.jpg
.
ในระหว่างการขนส่งสินค้า อุบัติเหตุที่สามารถเกิดขึ้นได้แบบตั้งใจหรือไม่ตั้งใจ ซึ่งอาจส่งผลให้สินค้าเกิดการแตกหักเสียหายได้ ดังนั้น การใช้วัสดุกันกระแทกจึงเป็นทางออกหนึ่งในการลดความเสียหายที่อาจเกิดขึ้นได้ โดยโฟมพอลิสไตรีนมักเป็นวัสดุชนิดเเรกๆ ที่เลือกใช้กัน แต่เมื่อมีประเด็นผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมเข้ามาเกี่ยวข้อง และมีการรณรงค์ให้ลดการใช้โฟมลง การมองหาวัสดุทดแทนโฟมจึงเกิดขึ้น ซึ่งในปัจจุบันวัสดุกันการกระแทกนั้นสามารถผลิตได้จากวัสดุหลากหลายชนิดและมีรูปร่างที่แตกต่างกันไป ยกตัวอย่างเช่น พลาสติกชนิดพอลิเอทิลีนได้เข้ามามีบทบาทมากขึ้นเนื่องจากเป็นพลาสติกที่สามารถนำกลับไปแปรรูปใหม่ได้ หรืออาจนำไปผสมกับสตาร์ช (Starch-Based) เพื่อให้เกิดการย่อยสลายได้ดีขึ้น นอกจากนี้ วัสดุกันการกระแทก MycoFoam® (www. ecovativedesign.com) ซึ่งผลิตจากจุลินทรีย์จากรากเห็ดถือเป็นนวัตกรรมด้านวัสดุบรรจุที่ถูกกล่าวถึงในปัจจุบัน หรือการใช้เยื่อกระดาษขึ้นรูปจากกระดาษกล่องกระดาษลูกฟูกมาใช้ใหม่ (Old Corrugated Containers, OCC) และเยื่อจากฟางข้าวที่เป็นวัสดุทิ้งจากกิจกรรมการเกษตรเป็นการใช้ประโยชน์ของเศษวัสดุให้เกิดความคุ้มค่าและลดปัญหาสิ่งแวดล้อมได้อีกทางหนึ่ง
.
ภาพที่ 4: วัสดุกันกระแทก MycoFoam
ที่มา: www.Ecovativedesign.com
.
ตลาดหนึ่งที่สำคัญของธุรกิจออนไลน์คือสินค้าประเภทอาหารทั้งแบบ Ready-to-Prepare และ Ready-to-Eat ในขณะที่อาหารได้ถูกจัดเตรียมและส่งนั้น การรักษาความสดและคุณภาพของอาหารเมื่อถึงมือของผู้บริโภคจึงถือเป็นสิ่งสำคัญ บรรจุภัณฑ์ที่สามารถรักษาอุณหภูมิของอาหาร จึงเข้ามามีบทบาทสำคัญอย่างยิ่ง ตัวอย่างบรรจุภัณฑ์สำหรับตลาดอาหารออนไลน์ เช่น กล่องซึ่งทำมาจากเยื่อรีไซเคิล 100% และถุงบุชั้นในกันความร้อนจากเส้นใยปอกระเจารีไซเคิลที่ได้จากถุงบรรจุกาแฟ ซึ่งพบว่า สามารถลดผลกระทบต่อปัญหาสิ่งแวดล้อมได้ โดยมีค่าการปลดปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์เพียง 0.23 ปอนด์ เมื่อเปรียบเทียบกับโฟมพอลิยูเรเทนซึ่งมีค่าการปลดปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ประมาณ 4.5 ปอนด์
.
ภาพที่ 5: บรรจุภัณฑ์ Clear Poly Shell สำหรับส่งอาหารออนไลน์
ที่มา: www.temperpack.com
.
โดยสรุปแล้ว บรรจุภัณฑ์เป็นเครื่องมือหนึ่งที่จะส่งผลให้ธุรกิจการค้าออนไลน์ประสบความสำเร็จได้ ด้วยบทบาทหน้าที่ของบรรจุภัณฑ์ในการปกป้องตัวสินค้าให้อยู่ในสภาพดีและมีคุณภาพเมื่อถึงมือของผู้ซื้อ การปรับเปลี่ยนรูปแบบของบรรจุภัณฑ์สินค้าให้เหมาะสมและการนำเอานวัตกรรมบรรจุภัณฑ์ต่างๆ มาใช้ไม่เพียงแต่สร้างความประทับใจต่อผู้ซื้อสินค้า แต่ยังสามารถตัดทอนค่าขนส่งลงได้ ทั้งนี้ สินค้าที่ขายในตลาดออนไลน์นั้นควรอยู่ในบรรจุภัณฑ์ที่มีขนาดเหมาะสม และมีฟังก์ชั่นที่อำนวยความสะดวกต่อผู้บริโภคในการนำผลิตภัณฑ์ออกมาใช้ได้ดี และที่สำคัญที่สุดคือ สามารถปกป้องสินค้าตลอดเส้นทางการขนส่งและได้คุณภาพเป็นที่ยอมรับเมื่อถึงมือผู้รับ นอกจากนี้ หากบรรจุภัณฑ์ที่ใช้สามารถลดปริมาณของวัสดุบรรจุที่มากเกินไป ซึ่งอาจก่อให้เกิดภาระต่อสิ่งแวดล้อม และสามารถแก้ปัญหาการจัดการและควบคุมจำนวนและขนาดที่หลากหลายได้ จะถือว่าเป็นการออกแบบบรรจุภัณฑ์สำหรับการขนส่งสินค้าในตลาดยุคใหม่อย่าง e-Commerce ได้อย่างมีประสิทธิภาพ
.
แหล่งอ้างอิง:
How will e-commerce affect package design, June 29, 2016, available source: https://www.packworld.com/article/trends-and-issues/e-commerce/how-will-e-commerce-affect-package-design
Finding the sweet spot in e-commerce packaging, June 1, 2016, available source: https://www.packworld.com/ article/trends-and-issues/e-commerce/finding-sweet-spot-e-commerce-packaging?utm_medium= Print&utm_source=pwgoto
21
ก.ค.
2562