Category
ทำน้อย แต่ได้มาก (Do less, Get more) ด้วย Logistics
นายภาสันต์ วิชิตอมรพันธ์ นักวิทยาศาสตร์ชำนาญการ ทำน้อย แต่ได้มาก (Do less, Get more) ด้วย Logistics การแก้ไขปัญหาจากการดำเนินธุรกิจนั้น ถ้าเราแก้ไขปัญหาเดิมๆ ด้วยวิธีเดิมๆ ผลที่ออกมาก็จะยังคงเหมือนเดิม ดังนั้น เมื่อผู้ประกอบการเปลี่ยนความคิดและจัดการด้วยแนวคิดใหม่ผลลัพธ์ที่ออกมาก็จะเปลี่ยนไปเช่นกัน แนวคิดการจัดการโลจิสติกส์และโซ่อุปทาน สำหรับผู้ประกอบการ SMEs สามารถแบ่งตามกิจกรรมโลจิสติกส์ 9 หัวข้อ ดังนี้ 1. เข้าใจความต้องการของลูกค้าและส่งมอบได้ตามที่ต้องการ ผู้ประกอบการต้องสามารถคาดการณ์ความต้องการของลูกค้า (Sales Forecast) ไว้ล่วงหน้า มีกระบวนการศึกษาข้อมูลความต้องการของตลาด เพื่อวางแผนจัดเตรียมวัตถุดิบ แผนการผลิต และแผนการจัดเตรียมสินค้าสำเร็จรูปให้พร้อมและตรงกับความต้องการของลูกค้า พร้อมที่จะจัดส่งสินค้าให้ตรงเวลาและจำนวนครบถ้วนตามความต้องการของผู้ซื้อ เพราะหากไม่มีสินค้าตามที่ผู้ซื้อต้องการหรือไม่สามารถจัดส่งได้ตามกำหนดเวลา ผู้ประกอบการก็ไม่อาจแปลงกิจกรรมการดำเนินธุรกิจให้เป็นยอดขายได้ 2. วางแผนให้สอดคล้องกันตลอดทั้งโซ่อุปทาน ผู้ประกอบการ SMEs จะต้องมีการเชื่อมโยงระบบการทำงานทั่วทั้งองค์กรให้มีความสอดคล้องกัน เพื่อตอบสนองความต้องการของลูกค้าให้ตรงตามต้องการ มีการทำงานร่วมกันหลายฝ่าย เช่น ฝ่ายขายและการตลาด ฝ่ายจัดส่ง ฝ่ายผลิต ฝ่ายคลังสินค้าและคลังวัตถุดิบ ฝ่ายจัดซื้อ ฝ่ายการเงิน และมีการวางแผนการผลิตและส่งมอบวัตถุดิบร่วมกันกับซัพพลายเออร์ ทำให้สองบริษัทได้รับประโยชน์ในการจัดการระดับสินค้าคงคลังให้เพียงพอและเหมาะสม เป็นต้น 3. การสื่อสารข้อมูลกับผู้เกี่ยวข้องให้เข้าใจตรงกันทั้งหมด สถานประกอบการต้องมีการบันทึกข้อมูล ที่ถูกต้อง ใช้ข้อมูลชุดเดียวกันและตรงกัน เพื่อให้ทุกหน่วยงานสื่อสารและเกิดความเข้าใจเหมือนกัน ทำให้ การทำงานง่ายและตัดสินใจได้ดี 4. จัดการให้ได้วัตถุดิบมาอย่างมีประสิทธิภาพและต้นทุนที่เหมาะสม สถานประกอบการจะต้องเข้าใจตลาดของวัตถุดิบว่ามีลักษณะเป็นฤดูกาลหรือไม่จะต้องจัดซื้อให้ถูกจังหวะ และควรมีแหล่งซื้อวัตถุดิบ หลายแหล่ง เพื่อไม่ให้ธุรกิจเกิดการหยุดชะงักเนื่องมาจากขาดวัตถุดิบ ซึ่งบริษัทที่ดีจะมีการวางแผนการผลิตและ ส่งมอบวัตถุดิบร่วมกับซัพพลายเออร์ เพื่อสามารถลดต้นทุน ลดเวลา และความผิดพลาดของการส่งมอบได้ 5. เครื่องมือเครื่องใช้ในกระบวนการโลจิสติกส์ที่ทันสมัย ปัจจุบันการนำเทคโนโลยีสารสนเทศมาใช้ (Internet of Things) ร่วมกับเครื่องมืออุปกรณ์ในงานโลจิสติกส์ ทำให้ผู้ประกอบการสามารถลดเวลา ลดขั้นตอน การทำงานและมีความแม่นยำในกระบวนการจัดการโลจิสติกส์ภายในองค์กรได้ดียิ่งขึ้น เช่น การนำระบบ Barcode และ RFID มาใช้ในการจัดการสินค้าภายในคลังสินค้า เป็นต้น 6. การจัดการคลังสินค้าให้มีประสิทธิภาพ ต้องจัดการพื้นที่จัดเก็บสินค้าในคลังให้เพียงพอต่อ ความต้องการด้านการผลิตและการขาย ต้องวางแผนจัดการโลจิสติกส์ให้สอดคล้องกับแผนการผลิตและแผนการจัดเก็บสินค้า มีขั้นตอนการปฏิบัติงานสำหรับการจัดการคลังสินค้า และมีการควบคุมการปฏิบัติงานให้เป็นไปตามมาตรฐานเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการปฏิบัติงานด้านโลจิสติกส์ และการเลือกสถานที่ตั้งคลังสินค้าที่เหมาะสมจะเป็นการสร้างความได้เปรียบด้านประสิทธิภาพการส่งมอบสินค้า และการจัดการต้นทุนโลจิสติกส์ในระยะยาว 7. การบริหารสินค้าคงคลัง ปัญหาที่พบมากของภาคธุรกิจก็คือ หน่วยของสินค้าคงคลังในแต่ละแผนกจัดเก็บข้อมูลไม่เหมือนกัน เช่น ฝ่ายบัญชีมองสินค้าคงคลังเป็นเงิน (บาท) ฝ่ายคลังสินค้ามองสินค้าคงคลังเป็น หน่วย (ชิ้น กล่อง พาเลท น้ำหนัก หรือตารางเมตร) ซึ่งการจัดการสินค้าคงคลังเมื่อมองในระดับโซ่อุปทาน ผู้ประกอบการควรจัดการสินค้าคงคลังอยู่ในรูปของ จำนวนวัน หรือ Day of Sales (DOS) หรือ Month of Sales (MOS) เพื่อให้ทุกฝ่ายมาประชุมร่วมกัน และกำหนดระดับสินค้าคงคลังขององค์กรที่เหมาะสมต่อไป 8. การขนส่ง ต้องขนส่งสินค้าให้ถูกต้องครบถ้วนทันเวลาและดำเนินการด้านเอกสารตามที่ระบุในข้อกำหนดการขนส่งให้มีประสิทธิภาพ ควรมีการจัดการใช้รถขนส่งที่เหมาะสมกับสินค้าและปริมาณที่จะบรรทุก มีการวางแผนเส้นทางการขนส่งให้มีประสิทธิภาพ นอกจากนี้ หากมีการขนส่งเที่ยวกลับ (Backhauling) จะช่วยลดต้นทุนการขนส่ง และเพิ่มประสิทธิภาพในการใช้พลังงานเชื้อเพลิงอีกด้วย 9. โลจิสติกส์ย้อนกลับ เมื่อวัตถุดิบที่ถูกส่งมาจากซัพพลายเออร์ไม่ตรงตามคุณภาพที่กำหนด ผู้ประกอบการจะต้องมีกระบวนการจัดการที่เป็นมาตรฐาน กำหนดบทบาทหน้าที่ของแต่ละหน่วยงานให้ชัดเจน และมีการดำเนินการแก้ปัญหาร่วมกันในการรับเข้าวัตถุดิบจากซัพพลายเออร์ หากจำเป็นต้องส่งคืนวัตถุดิบให้ดำเนินงานตามขั้นตอนที่เป็นมาตรฐานที่ตกลงร่วมกับซัพพลายเออร์ ในกรณีพบสินค้าที่ส่งมอบให้ลูกค้ามีปัญหาและอาจเกิดความเสียหายต้องรีบดำเนินการเรียกคืนสินค้าตามมาตรฐานที่กำหนด
15 มี.ค. 2019
วงจรการพัฒนาระบบ (System Development Life Cycle : SDLC)
เกียรติพงษ์ อุดมธนะธีระ นักวิชาการคอมพิวเตอร์ชำนาญการพิเศษ สำนักโลจิสติกส์ วงจรการพัฒนาระบบ (System Development Life Cycle : SDLC) ในฉบับที่ผ่านมาเรากล่าวถึง การจัดทำแผนที่นําทางเทคโนโลยี (Technology Road Mapping: TRM) ซึ่งเป็นแนวคิดที่นำเทคโนโลยีมาเป็นปัจจัยร่วมในการกำหนดทิศทางการขับเคลื่อนองค์กร ฉบับนี้จะพูดถึงขั้นตอนการนำระบบ (เทคโนโลยีสารสนเทศ) มาใช้ในองค์กร อาจเรียกว่า การพัฒนาระบบ เนื่องจากปัจจุบันหลายองค์กรล้มเหลวในการนำระบบมาใช้ในงาน เพราะขาดความรู้ความเข้าใจหรือไม่ได้มีการจัดขั้นตอนการพัฒนาระบบที่ถูกต้อง ดังนั้น ทุกองค์กรจึงควรมีการวางแผนการดำเนินงานตามขั้นตอนการพัฒนาระบบที่ดีในองค์กรเพื่อประสิทธิภาพที่สูงสุด วงจรการพัฒนาระบบ (System Development Life Cycle : SDLC) คือ การแบ่งขั้นตอนกระบวนการพัฒนาระบบงาน หรือระบบเทคโนโลยีสารสนเทศด้วย เพื่อช่วยแก้ปัญหาทางธุรกิจหรือตอบสนองความต้องการขององค์กรโดยระบบที่จะพัฒนานั้นอาจเป็นการพัฒนาระบบใหม่หรือการปรับปรุงระบบเดิมให้ดีขึ้นก็ได้ การพัฒนาระบบแบ่งออกเป็น 7 ขั้นตอน ดังนี้ 1. การค้นหาปัญหาขององค์กร (Problem Recognition) เป็นกิจกรรมแรกที่สำคัญในการกำหนดเป้าหมายที่ชัดเจนในการปรับปรุงโดยใช้ระบบเข้ามาช่วยนำข้อมูลปัญหาที่ได้มาจำแนกจัดกลุ่มและจัดลำดับความสำคัญ เพื่อใช้คัดเลือกโครงการที่เหมาะสมที่สุดมาพัฒนา โดยโครงการที่จะทำการพัฒนาต้องสามารถแก้ปัญหาที่มีในองค์กรและให้ประโยชน์กับองค์กรมากที่สุด 2. การศึกษาความเหมาะสม (Feasibility Study) ว่าเหมาะสมหรือไม่ที่จะปรับเปลี่ยนระบบ โดยให้เสียค่าใช้จ่าย (Cost) และเวลา (Time) น้อยที่สุดแต่ให้ได้ผลลัพธ์ที่น่าพอใจ และหาความต้องการของผู้เกี่ยวข้องใน 3 เรื่อง คือ เทคนิคเครื่องมือหรืออุปกรณ์ที่ใช้ บุคลากรและความพร้อม และความคุ้มค่า เพื่อใช้นำเสนอต่อผู้บริหารพิจารณาอนุมัติดำเนินการต่อไป 3. การวิเคราะห์ (Analysis) เป็นการรวบรวมข้อมูลปัญหาความต้องการที่มีเพื่อนำไปออกแบบระบบ ขั้นตอนนี้จะศึกษาจากผู้ใช้ โดยวิเคราะห์การทำงานของระบบเดิม (As Is) และความต้องการที่มีจากระบบใหม่ (To Be) จากนั้นนำผลการศึกษาและวิเคราะห์มาเขียนเป็นแผนภาพผังงานระบบ (System Flowchart) และทิศทางการไหลของข้อมูล (Data Flow Diagram) 4. การออกแบบ (Design) นำผลการวิเคราะห์มาออกแบบเป็นแนวคิด (Logical Design) เพื่อแก้ไขปัญหา โดยในส่วนนี้จะยังไม่ได้มีการระบุถึงรายละเอียดและคุณลักษณะอุปกรณ์มากนัก เน้นการออกแบบโครงร่างบนกระดาษ แล้วส่งให้ผู้ออกแบบระบบนำไปออกแบบ (System Design) ซึ่งขั้นตอนนี้จะเริ่มมีการระบุลักษณะการทำงานของระบบทางเทคนิค รายละเอียดคุณลักษณะอุปกรณ์ที่ใช้ เทคโนโลยีที่ใช้ ชนิดฐานข้อมูลการออกแบบ เครือข่ายที่เหมาะสม ลักษณะของการนำข้อมูลเข้า ลักษณะรูปแบบรายงานที่เกิด และผลลัพธ์ที่ได้ 5. การพัฒนาและทดสอบ (Development & Test) เป็นขั้นตอนการการเขียนโปรแกรม (Coding) เพื่อพัฒนาระบบจากแบบบนกระดาษให้เป็นระบบตามคุณลักษณะที่กำหนดไว้ จากนั้นทำการทดสอบหาข้อผิดพลาด (Testing) เพื่อตรวจสอบความถูกต้อง จนมั่นใจว่าถูกต้องและตรงตามความต้องการ หากพบว่ามีข้อผิดพลาดเกิดขึ้นจากการทำงานของระบบต้องปรับแก้ไขให้เรียบร้อยพร้อมใช้งานก่อนนำไปติดตั้งใช้จริง 6. การติดตั้ง (Implementation) เป็นขั้นตอนการนำระบบที่พัฒนาจนสมบูรณ์มาติดตั้ง (Installation) และเริ่มใช้งานจริง ในส่วนนี้นอกจากติดตั้งระบบใช้งานแล้ว ยังต้องมีการจัดเตรียมขั้นตอนการสนับสนุนส่งเสริมการใช้งานให้สามารถใช้งานได้อย่างสมบูรณ์ โดยจัดทำหลักสูตรฝึกอบรมผู้ใช้งาน (Training) เอกสารประกอบระบบ (Documentation) และแผนการบริการให้ความช่วยเหลือ (Support) เพื่อให้ระบบสามารถใช้งานได้อย่างต่อเนื่อง 7. การซ่อมบำรุงระบบ (System Maintenance) เป็นขั้นตอนการบำรุงรักษาระบบต่อเนื่องหลังจากเริ่มดำเนินการ ผู้ใช้ระบบอาจจะพบกับปัญหาที่เกิดขึ้นภายหลัง เช่น ปัญหาเนื่องจากความไม่คุ้นเคยกับระบบใหม่ จึงควรกำหนดแผนค้นหาปัญหาอย่างต่อเนื่อง ติดตามประเมินผล เก็บรวบรวมคำร้องขอให้ปรับปรุงระบบ วิเคราะห์ข้อมูลร้องขอให้ปรับปรุงระบบ จากนั้นออกแบบการทำงานที่ต้องการปรับปรุงแก้ไขและติดตั้ง ซึ่งต้องมีการฝึกอบรมการใช้งานระบบให้แก่ผู้ใช้งาน เพื่อที่จะทราบความพึงพอใจของผู้ใช้ การที่องค์กรมีการดำเนินการตามแนวทางวงจรการพัฒนาระบบจะช่วยให้สามารถดำเนินการได้อย่างมีประสิทธิภาพ มีแนวทางและขั้นตอนในการดำเนินงานที่ชัดเจน สามารถควบคุมเวลาและงบประมาณได้ง่าย โดยจะเลือกดำเนินการตามแนวทางทั้งหมดหรือเพียงบางส่วน ซึ่งอาจมีความแตกต่างกันไปตามวิธีการหรือขั้นตอนที่จะนำมาใช้ ซึ่งสามารถปรับเปลี่ยนเพื่อให้เหมาะสมกับความพร้อมของแต่ละองค์กรได้ และควรมีการทำซ้ำในขั้นตอนการติดตามประเมินผล และหาวิธีการปรับปรุงอย่างต่อเนื่อง เพื่อการพัฒนาที่ดียิ่งๆ ขึ้นไป
15 มี.ค. 2019
การจัดการซัพพลายเชนอย่างยั่งยืนในยุคประเทศไทย 4.0
ดร.วัชรพจน์ ทรัพย์สงวนบุญ บัณฑิตวิทยาลัยการจัดการและนวัตกรรม มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี การจัดการซัพพลายเชนอย่างยั่งยืนในยุคประเทศไทย 4.0 ภายใต้ยุทธศาสตร์ประเทศไทย 4.0 ที่จะพัฒนาประเทศสู่ความ มั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืน ในรูปแบบ “ทำน้อย ได้มาก” โจทย์ที่สำคัญของภาคอุตสาหกรรม คือ จะทำอย่างไรให้ธุรกิจประสบความสำเร็จอย่างยั่งยืน ปัจจุบันหน่วยธุรกิจต่างๆ ในซัพพลายเชนตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ เริ่มมีการนำกลยุทธ์ใหม่ที่เรียกว่า Sustainable Supply Chain Management หรือ การจัดการซัพพลายเชนอย่างยั่งยืน มาประยุกต์ใช้เพื่อสร้างความสามารถในการแข่งขันตลอดซัพพลายเชน สามารถตอบสนองพฤติกรรมผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงไป โดยปัจจุบันพบปัจจัยที่ส่งผลกระทบต่อการซื้อสินค้า คือ ผู้บริโภคไม่ได้ให้ความสำคัญกับราคาถูกแต่เพียงอย่างเดียว แต่ลูกค้าเริ่มมีจิตสำนึกต่อความรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อมมากขึ้น ผู้ประกอบการจึงจำเป็นต้องปรับตัวเพื่อตอบสนองความต้องการของลูกค้า จากการเปลี่ยนแปลงของพฤติกรรมผู้บริโภคที่กล่าวมาข้างต้น การจัดการซัพพลายเชนอย่างยั่งยืน คือ การบริหารกิจกรรมต่างๆ ตั้งแต่แหล่งวัตถุดิบไปจนถึงแหล่งบริโภคเพื่อตอบสนองความต้องการของลูกค้า โดยคำนึงถึงผลกระทบต่อความต้องการของคนรุ่นต่อไปในอนาคต ดังนั้น ธุรกิจจำเป็นที่ต้องให้ความสำคัญกับการดำเนินกิจกรรมต่างๆ ในซัพพลายเชน อาทิ การพัฒนาผลิตภัณฑ์ การจัดหาวัตถุดิบ การผลิต รวมทั้งกิจกรรมโลจิสติกส์อื่นๆ ไม่เพียงแต่มีประสิทธิผลและประสิทธิภาพที่สามารถส่งมอบคุณค่าให้กับลูกค้าและสร้างกำไรให้กับธุรกิจแต่เพียงอย่างเดียวอีกต่อไป แต่ธุรกิจจำเป็นที่จะต้องคำนึงถึงผลกระทบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อมจากการดำเนินกิจกรรมต่างๆ ที่กล่าวมาข้างต้น เพื่อเป็นการต่อยอดความคิดจากการจัดการซัพพลายเชนในอดีต โดยมุ่งหวังให้เกิดประโยชน์กับองค์กรทั้งในเรื่องการเพิ่มกำไร การใช้สินทรัพย์อย่างคุ้มค่า มุ่งหวังในการลดความเสี่ยงที่อาจจะเกิดขึ้น ปรับตัวให้เข้ากับนวัตกรรมที่กำลังเปลี่ยนแปลง โดยต้องพัฒนาและปรับปรุงองค์กรอย่างต่อเนื่อง อีกทั้งการมีชื่อเสียงของธุรกิจให้เป็นที่ยอมรับของลูกค้า หากธุรกิจต้องการที่จะประยุกต์หลักการการจัดการอย่างยั่งยืน จำเป็นที่ต้องพิจารณา 3 มุมมอง ได้แก่ เศรษฐกิจ (Economic) สิ่งแวดล้อม (Environment) และสังคม (Social) เริ่มจากการกำหนดวัตถุประสงค์ให้ชัดเจนตามแนวคิดของ Cetinkayaet al. (2011) ในเชิงสังคม หน่วยธุรกิจต่างๆ ในซัพพลายเชนต้องให้ความสำคัญกับแนวทางในการดูแลสุขภาพและความปลอดภัย รวมทั้งสวัสดิภาพของพนักงาน คู่ค้า รวมไปถึงลูกค้า โดยให้เกิดผลกระทบเชิงลบต่อสังคมให้น้อยที่สุด ในเชิงเศรษฐกิจ ธุรกิจอาจจะกำหนดเป้าหมายในเรื่องรายได้ ต้นทุน กำไร รวมไปถึงคุณภาพของสินค้าและบริการ ประสิทธิภาพ และความสามารถในการตอบสนองความต้องการของลูกค้า ในเชิงของสิ่งแวดล้อม ธุรกิจจำเป็นต้องคำนึงการลดผลกระทบที่จะเกิดจากกิจกรรมต่างๆ ในซัพพลายเชน เช่น การลดปริมาณมลพิษที่จะปล่อยออกสู่สิ่งแวดล้อม การใช้ทรัพยากรธรรมชาติให้เกิดความคุ้มค่าสูงสุด อีกทั้งการลดของเสีย และส่งเสริมการนำกลับมาใช้ใหม่ (recycle) เมื่อธุรกิจสามารถกำหนดเป้าหมายเพื่อตอบโจทย์การจัดการซัพพลายเชนอย่างยั่งยืนแล้ว ธุรกิจจะต้องปรับแนวทางการทำงาน เช่น ในอดีตเคยจัดซื้อด้วยวิธีการเจรจาต่อรองเพื่อให้มีต้นทุนการซื้อต่ำสุด ซึ่งการจัดซื้อดังกล่าวอาจจะเป็นการซื้อจากผู้ขายที่อาจสร้างผลกระทบเชิงลบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม เนื่องจากผู้ขายต้องหาวิธีการที่ทำให้ต้นทุนของสินค้าต่ำสุด เพื่อให้ขายสินค้าในราคาถูกให้กับลูกค้าได้ ลูกค้าโดยเฉพาะผู้บริโภคจึงมีส่วนสำคัญในการผลักดันให้เกิดการจัดการซัพพลายเชนอย่างยั่งยืน หากผู้บริโภคมีความรับผิดชอบต่อสังคมก็จะเลือกซื้อสินค้าที่สร้างผลกระทบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อมน้อยที่สุด ทำให้หน่วยธุรกิจต่างๆ ในซัพพลายเชนตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำจำเป็นต้องปรับตัวให้สามารถสนองตอบความต้องการของลูกค้า ส่งผลให้ซัพพลายเชนมีความยั่งยืนในที่สุด สำนักโลจิติกส์ กรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ ให้ความสำคัญของการพัฒนาอุตสาหกรรมอย่างยั่งยืน จึงได้มอบหมายให้บัณฑิตวิทยาลัยการจัดการและนวัตกรรม มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี จัดการอบรมในหลักสูตร “การจัดการซัพพลายเชนอย่างยั่งยืน” ตามโครงการสร้างนักโลจิสติกส์อุตสาหกรรมมืออาชีพ โดยผู้ที่ได้รับคัดเลือกให้เข้ารับการอบรมจะได้รับสนับสนุนทุนการอบรมจากสำนักโลจิสติกส์มากกว่าร้อยละ 60 ผู้สนใจสามารถดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ www.logistics.kmutt.ac.th เอกสารอ้างอิง: Cetinkaya, B., Cuthbertson, R., Ewer, G., Klaas-Wissing, T., Piorowicz, W. and Tyssen, C. The need for sustainable supply chain management. In Cuthbertson, R. (Ed.) Sustainable Supply Chain Management.Springer. London, 2011.
15 มี.ค. 2019
การกำหนดแผนที่นําทางเทคโนโลยี (Technology Road Mapping: TRM)
เกียรติพงษ์ อุดมธนะธีระ นักวิชาการคอมพิวเตอร์ชำนาญการพิเศษ สำนักโลจิสติกส์ การกำหนดแผนที่นําทางเทคโนโลยี (Technology Road Mapping: TRM) ในฉบับที่ผ่านมาเรากล่าวถึงการเตรียมตัวขององค์กรเพื่อเพิ่มศักยภาพในการแข่งขันของตนเองในยุคอุตสาหกรรม 4.0 ที่ควรจะมีหน่วยงานวิจัยพัฒนา (R&D) และหน่วยงานนวัตกรรม (Innovation) แต่เนื่องจากการเพิ่มมูลค่าผลิตภัณฑ์ โดยการใช้ความรู้และนวัตกรรมจากการวิจัยและพัฒนา อาจยังไม่เพียงพอ เพราะแนวคิดเหล่านั้นอาจไม่ได้นำเอาทิศทางของเทคโนโลยีมาร่วมในการกำหนดแผนงาน ผลงานที่ได้จึงไม่ทันกับการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีที่รวดเร็ว จึงควรนำเอาเทคโนโลยีมาประกอบในการทำแผนหรือที่เรียกว่า แผนที่นําทางเทคโนโลยี (Technology Road Mapping: TRM) ซึ่งเป็นแนวคิดที่นำเอาเทคโนโลยีมาเป็นปัจจัยร่วมในการกำหนดทิศทางการขับเคลื่อนองค์กร ที่ได้รับการยอมรับในระดับสากลว่าสามารถใช้เป็นเครื่องมือทำแผนในเชิงนโยบายด้านต่างๆ ได้อย่างเป็นระบบและมีประสิทธิภาพ แผนที่นําทางเทคโนโลยี เป็นวิธีการเชิงกลยุทธ์ที่เชื่อมกลยุทธ์ทางธุรกิจเข้ากับการพัฒนาเทคโนโลยี วิเคราะห์ความสัมพันธ์ของปัจจัยในทางธุรกิจ ทั้งปัจจัยภายนอกและปัจจัยภายในองค์กร เช่น ทิศทางเทคโนโลยีและทรัพยากรที่มี ช่วยในการตัดสินใจในแผนการลงทุนและพัฒนาด้านเทคโนโลยีขององค์กรให้มีประสิทธิภาพ หรือเป็นการวางแผนใช้เทคโนโลยีขององค์กรในอนาคต โดยการคาดการณ์ทิศทางของเทคโนโลยีที่จะมีการพัฒนาในอนาคต และมองภาพเส้นทางการพัฒนาผลิตภัณฑ์ทั้งด้านมิติการตลาดและเทคโนโลยีที่เกี่ยวข้อง ขั้นตอนการจัดทําแผนที่นําทางเทคโนโลยี จะเกี่ยวกับการวางแผนเชิงกลยุทธ์ การจัดสรรงบประมาณ และการกำหนดแนวทางนำเทคโนโลยีมาใช้ แบ่งเป็น 5 ขั้นตอน คือ - การระดมความคิดเห็นเพื่อกําหนดวิสัยทัศน์ - การกำหนดทิศทางพัฒนาเพื่อมุ่งสู่เป้าหมายตามวิสัยทัศน์ - การกำหนดกลยุทธ์ของการพัฒนาผลิตภัณฑ์และบริการ - การศึกษาส่วนประกอบงานให้ใช้ร่วมกับเทคโนโลยีที่เกี่ยวข้อง - จัดทำเป็นแผนที่นําทางเทคโนโลยี การเขียนแผนที่นําทางเทคโนโลยี มีหลายรูปแบบ แต่รูปแบบที่ใช้กันอย่างแพร่หลาย และมีความยืดหยุ่นสามารถปรับใช้ได้ดี คือ แผนที่นําทางเทคโนโลยีแบบหลายระดับชั้น โดย EIRMA (1997) ซึ่งรูปแบบแผนผังกระบวนการประกอบด้วย - แกนแนวนอน: เวลา เป็นตัวหลักอยู่ในแกนนอน ควรปรับให้เหมาะสมกับ ระยะเวลาแผนงาน สถานการณ์ - แกนแนวตั้ง: ปัจจัยประกอบสำคัญที่สนใจ กำหนดให้อยู่ในแนวแกนตั้ง เรียงลำดับชั้นตามความสนใจ เช่น ธุรกิจและ การตลาด ผลิตภัณฑ์และการบริการ เทคโนโลยีหรือปัจจัยมุมมองด้านที่สนใจ ตามความเหมาะสม ลำดับปัจจัยประกอบ ควรจัดกลุ่มตามปัจจัยภายในจากด้านล่างไปสู่ปัจจัยภายนอกที่อยู่ด้านบน - ข้อมูลด้านอื่น: สามารถใส่ข้อมูลด้านอื่นไว้ในแผนที่ได้ด้วย โดยใช้รูปของเครื่องมือหรือกราฟิก เช่น รูปสัญลักษณ์ รหัสสี จุดตัดสินใจที่สำคัญ ช่องว่าง เส้นทาง โอกาสและอุปสรรค เป็นต้น - กระบวนการหรือขั้นตอน: มีขั้นตอนทำงานตามลำดับเมื่อทำเสร็จจึงจะไปขั้นต่อไป แต่ละแห่งมีขั้นตอนที่แตกต่างกันตามความเหมาะสม เช่น ประเด็นที่นำมาพิจารณา วัตถุประสงค์ ขอบเขต ทรัพยากรที่มีบุคลากร ระยะเวลา งบประมาณ ลักษณะของเรื่องที่ทำ แสดงรูปตัวอย่างแผนที่นําทางเทคโนโลยี (TRM) แบบหลายระดับชั้น โดย EIRMA (1997) ประโยชน์ของแผนที่นําทางเทคโนโลยี - ช่วยให้ผู้บริหารมองเห็นภาพรวมขององค์กรได้อย่างชัดเจน เพิ่มประสิทธิภาพการสื่อสารภายในองค์กรให้เข้าใจตรงกัน เป็นประโยชน์ต่อการดำเนินงาน และตัดสินใจกำหนดทิศทางขององค์กรในอนาคต - การเชื่อมโยงกลยุทธ์ทางธุรกิจ (Business strategy) และกลยุทธ์ด้านอื่นเข้าด้วยกัน ช่วยให้การพัฒนาองค์กรดำเนินไปในทิศทางเดียวกันในทุกส่วน - ช่วยให้องค์กรพิจารณาจุดอ่อนจุดแข็งทางด้านเทคโนโลยีที่เป็นประโยชน์ต่อการดําเนินงาน ช่วยลดความซํ้าซ้อนของงาน สามารถวางแผนการพัฒนาให้เหนือกว่าคู่แข่งได้ - การทำแผนที่นำทาง (Road Map) ระบุถึงศักยภาพในการนำทรัพยากรที่มีอยู่เดิมกลับมาใช้ใหม่ (Reuse) ช่วยให้องค์กรสามารถควบคุมต้นทุนได้ดีขึ้น หรือช่วยให้องค์กรสามารถจัดสรรทรัพยากรที่มีอยู่อย่างจำกัดได้อย่างมีประสิทธิภาพ - ส่งเสริมการมีส่วนร่วม (Participation) และความรู้สึกเป็นเจ้าของ (Ownership) ของพนักงานในโครงการต่างๆ ทุกองค์กรควรเริ่มมีการจัดทำแผนที่นําทางเทคโนโลยี และนำมาใช้กำหนดการทำงานในอนาคต โดยเน้นให้มีการนำเอาเทคโนโลยีสารสนเทศมาช่วยในการปฏิบัติที่เหมาะสมเป็นระบบมากขึ้น และหลังจากที่ได้พัฒนาแผนแล้ว ควรคำนึงถึงเสมอว่าแผนที่ดีต้องมีการปรับปรุงเปลี่ยนแปลงอย่างสม่ำเสมอเมื่อมีเหตุที่ต้องปรับปรุง เช่น แนวโน้มการตลาดใหม่ นโยบายหรือเหตุการณ์เกิดการเปลี่ยนแปลง และควรมีการศึกษาวิเคราะห์ข้อมูลการตลาดและเทคโนโลยีใหม่อยู่ตลอดเวลา เพื่อประโยชน์สูงสุดของการพัฒนาองค์กร
15 มี.ค. 2019
การพัฒนาอุตสาหกรรมสนับสนุนการเป็นศูนย์กลางโลจิสติกส์
ผศ.ดร.ประมวล สุธีจารุวัฒน จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และคณะที่ปรึกษาโครงการฯ การพัฒนาอุตสาหกรรมสนับสนุนการเป็นศูนย์กลางโลจิสติกส์ รัฐบาลได้กำหนดตำแหน่งยุทธศาสตร์ของประเทศให้มีบทบาทเป็นศูนย์กลางธุรกรรมการค้าและบริการของกลุ่มประเทศลุ่มแม่น้ำโขง และเป็นประตูการค้าสู่ตลาดเอเชีย (Trade and Service Hub of GMS, and Gateway to Asia) รวมถึงการเป็นศูนย์กลางด้านโลจิสติกส์ (Logistics Hub) ในแผนยุทธศาสตร์การพัฒนาระบบโลจิสติกส์ของประเทศไทย ฉบับที่ 2 (พ.ศ. 2556-2560) เพื่อสร้างความเข้มแข็งให้กับผู้ประกอบการไทยในกลุ่มอุตสาหกรรมสนับสนุนภาคการขนส่งและโครงสร้างพื้นฐานอย่างยั่งยืนเป็นรูปธรรม สำนักโลจิสติกส์ ให้ความสำคัญกับการส่งเสริมอุตสาหกรรมสนับสนุนการเป็นศูนย์กลางโลจิสติกส์ของประเทศไทย จึงจัดทำ “โครงการเสริมสร้างขีดความสามารถของอุตสาหกรรมสนับสนุนการเป็นศูนย์กลางโลจิสติกส์ (Logistics Hub) เพื่อการบริการที่ยั่งยืน” โดยสำรวจ ศึกษา และวิเคราะห์ในกลุ่มอุตสาหกรรมสนับสนุนการขนส่งและโครงการพื้นฐาน 3 กลุ่ม คือ กลุ่มอุตสาหกรรมสนับสนุนการขนส่งสินค้าด้วยรถบรรทุก กลุ่มอุตสาหกรรมรถไฟ และกลุ่มอุตสาหกรรมต่อเรือและซ่อมเรือ เพื่อกำหนดแผนงานและแนวทาง (Roadmap) การพัฒนาที่เหมาะสม ดังนี้ กลุ่มอุตสาหกรรมสนับสนุนการขนส่งสินค้าด้วยรถบรรทุก กลุ่มผู้ประกอบการผลิตรถบรรทุกและผู้ผลิตชิ้นส่วนรถบรรทุก ให้ความสำคัญกับอุตสาหกรรมซ่อมบำรุงรถบรรทุกและเห็นว่าควรได้รับการส่งเสริมมากที่สุด เนื่องจากต้นทุนเกิดจากกิจกรรมการซ่อมบำรุงเป็นส่วนใหญ่และควบคุมได้ยาก อีกทั้งการเข้ารับบริการซ่อมบำรุงจากศูนย์มีค่าใช้จ่ายสูง ดังนั้น ผู้ประกอบการขนส่งที่มีรถบรรทุกเป็นจำนวนมากจึงนิยมเปิดศูนย์ซ่อมของตัวเอง บางรายอาจเลือกใช้บริการจากผู้รับเหมาช่วงการซ่อมบำรุง หรือร้านซ่อมรถรายย่อยอื่นๆ ซึ่งประสบปัญหาการซ่อมรถที่ไม่มีมาตรฐาน อันเนื่องมาจากขาดแคลนช่างฝีมือ ช่างฝีมือเปลี่ยนงานบ่อยเนื่องจากเงินเดือนน้อย ขาดมาตรฐานอู่ซ่อมบำรุง ขาดแคลนอะไหล่ ท้ายที่สุดกลายเป็นสาเหตุของอุบัติเหตุบนท้องถนน ดังนั้น แนวทางในการส่งเสริมอุตสาหกรรมสนับสนุนการขนส่งด้วยรถบรรทุก จึงต้องมุ่งไปในทิศทางที่ทำให้เกิดมาตรฐานอู่ซ่อมบำรุง มาตรฐานช่างฝีมือ เพิ่มจำนวนช่างที่มีคุณภาพให้มีมากขึ้น สร้างเส้นทางอาชีพช่างฝีมือที่ชัดเจน และให้มีรายได้ที่สมเหตุสมผล ตลอดจนการจัดการอะไหล่ให้มีเพียงพอ กลุ่มอุตสาหกรรมรถไฟ ปริมาณความต้องการใช้รถไฟในประเทศไทยแบ่งได้เป็น 3 กลุ่ม คือ (1) รถไฟในกลุ่มระบบขนส่งระหว่างเมืองของการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) ประกอบด้วยรถจักรดีเซลไฟฟ้า รถโดยสาร รถดีเซลราง และรถสินค้า (2) รถไฟฟ้าขนส่งมวลชนภายในเมือง ประกอบด้วย รถไฟฟ้าที่ให้บริการอยู่ในบริเวณกรุงเทพมหานครและปริมณฑล (3) รถไฟฟ้าโครงการเชื่อมต่อสนามบินสุวรรณภูมิ หรือแอร์พอร์ตลิงค์ ที่มีปริมาณความต้องการใช้เป็นจำนวนมาก ซึ่งที่ผ่านมามีการจัดหาแบบแยกการประมูลเป็นรายสาย รายโครงการ ตามกระบวนการจัดซื้อที่ดำเนินการโดยกระทรวงคมนาคม ทำให้ถูกแบ่งออกเป็นส่วนย่อยๆ จนทำให้ไม่เกิดความคุ้มค่าในการส่งเสริมให้มีการผลิตชิ้นส่วนหรือแม้แต่การประกอบตู้และขบวนรถไฟฟ้าภายในประเทศไทย ดังนั้น การส่งเสริมจึงควรมุ่งเน้นไปที่การกำหนดวิธีการจัดซื้อ (ซึ่งเป็นการจัดซื้อโดยรัฐบาล) ให้เอื้อต่อการพัฒนาอุตสาหกรรมการผลิตภายในประเทศ กลุ่มอุตสาหกรรมต่อเรือและซ่อมเรือ ขีดความสามารถของอุตสาหกรรมต่อเรือและซ่อมเรือในประเทศไทยนับตั้งแต่ พ.ศ.2550 เป็นต้นมา พบว่า อุตสาหกรรมต่อเรือและซ่อมเรือของไทยมิได้ด้อยไปกว่าต่างประเทศ หากแต่มีข้อด้อยที่สำคัญเชิงการบริหารจัดการ 3 ประการ คือ (1) ปัญหาการบริหารความต้องการที่แตกต่างกันจากผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย กล่าวคือ กลุ่มเจ้าของเรือให้ความสำคัญกับเรื่อง ราคา (ถูก) ระยะเวลาส่งมอบตรงต่อเวลา (เร็ว) และคุณภาพ (ดี) แต่มักประสบปัญหาเมื่อต้องสั่งซื้อเรือจากผู้ผลิตในประเทศไทย ทำให้กลุ่มเจ้าของเรือนิยมสั่งซื้อเรือจากต่างประเทศ (2) ปัญหารูปแบบการดำเนินธุรกิจ ตลอดจนความร่วมมือระหว่างผู้ประกอบการด้วยกันในลักษณะการบริหารห่วงโซ่อุปทาน (3) ปัญหาการส่งเสริมขีดความสามารถในการผลิตของอุตสาหกรรมในประเทศผ่านกลไกสนับสนุนของรัฐ ดังนั้น แนวทางในการส่งเสริมอุตสาหกรรมต่อเรือต้องนำปริมาณความต้องการใช้ภายในประเทศมาเป็นเครื่องมือในการพัฒนาอุตสาหกรรม ส่งเสริมให้มีการทดแทนเรือที่มีอายุสูงด้วยการผลิตเรือใหม่ในประเทศไทย ด้วยต้นทุนและคุณภาพที่กลุ่มเจ้าของเรือยอมรับได้ ก็จะก่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดในระยะยาว ผลการศึกษาวิเคราะห์อุตสาหกรรมเป้าหมายข้างต้น จะถูกนำเสนอเป็นข้อมูลในการกำหนดยุทธศาสตร์ของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยยุทธศาสตร์จะครอบคลุมทั้งการปรับเปลี่ยนปัจจัยภายนอกให้เกื้อกูลผู้ประกอบการไทย และยกระดับปัจจัยภายใน ซึ่งหมายถึงศักยภาพผู้ประกอบการไทย โดยคำนึงถึงบทบาทภาครัฐ สมาคมวิชาชีพของภาคเอกชน และตัวผู้ประกอบการเอง เพื่อให้สามารถขับเคลื่อนการพัฒนาอุตสาหกรรมสนับสนุนได้อย่างยั่งยืนและเป็นรูปธรรม
15 มี.ค. 2019
เทคโนโลยี RFID ใน Industry 4.0
ธนาพล โชคสุนทสุทธิ์ ที่ปรึกษาโครงการส่งเสริมการปรับกระบวนการจัดการโลจิสติกส์ ด้วยการใช้เทคโนโลยี Application ระบบ RFID และ Barcode เทคโนโลยี RFID ใน Industry 4.0 เทคโนโลยีบ่งชี้ตัวตนด้วยคลื่นความถี่วิทยุ หรือที่บางท่านรู้จักในชื่อของ RFID หรือ Radio Frequency Identification เป็นเทคโนโลยีที่เข้ามามีบทบาทอย่างมากในโลกอุตสาหกรรมปัจจุบัน เนื่องจากการแข่งขันของภาคอุตสาหกรรมต่างๆ ที่มีการขยายตัว ทำให้ข้อมูลที่ใช้ในการตัดสินใจเป็นเรื่องสำคัญสำหรับผู้บริหารในปัจจุบัน ซึ่งการที่สถานประกอบการจะมีข้อมูลที่ถูกต้องแม่นยำ และรวดเร็วได้นั้นจำเป็นต้องพึ่งเทคโนโลยีต่างๆ เช่น RFID, Sensor, Embedded สำหรับสร้างนวัตกรรมใหม่ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพด้านโลจิสติกส์ให้เกิดประโยชน์ได้ตรงตามความต้องการของผู้ใช้งาน สำนักโลจิสติกส์ กรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ สังกัดกระทรวงอุตสาหกรรม ผู้สนับสนุนและส่งเสริมการพัฒนาระบบโลจิสติกส์ภาคอุตสาหกรรมของประเทศไทยได้เห็นถึงความจำเป็นในการนำ RFID มาประยุกต์ใช้งานในภาคอุตสาหกรรม จึงได้คิดเริ่มโครงการ “ส่งเสริมการปรับปรุงกระบวนการ โลจิสติกส์ด้วยเทคโนโลยี Application ระบบ RFID และ Barcode” ขึ้นในปี 2558 ซึ่งได้รับผลตอบรับจากสถานประกอบการในอุตสาหกรรมต่างๆเป็นอย่างดี ทำให้สำนักฯ ดำเนินโครงการต่อเนื่องในปี 2559 เพื่อให้สถานประกอบการได้เรียนรู้วิธีการนำเทคโนโลยี RFID ไปใช้อย่างถูกวิธีและเกิดประโยชน์ พร้อมกับรองรับกระแส Industry 4.0 ที่กำลังจะเกิดขึ้นในอนาคต ในการดำเนินโครงการนี้ ทีมงานที่ปรึกษาได้ร่วมกับตัวแทนจากสถานประกอบการที่เข้าร่วมโครงการ จำนวน 10 ราย ในการออกแบบระบบและนวัตกรรมใหม่โดยใช้ RFID ซึ่งสามารถสร้างระบบการระบุตัวตนของวัตถุในกระบวนการโลจิสติกส์ต่างๆได้ อาทิ ระบบบริหารจัดการคลังสินค้าด้วย RFID ซึ่งสถานประกอบการที่นำ RFID ไปสร้างนวัตกรรม เช่น บริษัทผู้ผลิตและส่งออกกระเบื้องเซรามิค บริษัทผู้ผลิตมอเตอร์แอร์ส่งออก ฯลฯ ซึ่งผลการนำเทคโนโลยีดังกล่าวไปใช้สามารถลดต้นทุนหรือเพิ่มผลิตภาพของบริษัทฯ คิดเป็นมูลค่ามากกว่า 10 ล้านบาท รวมถึงแก้ไขปัญหาด้านการบริหารจัดการขององค์กรได้อย่างมีประสิทธิภาพ เช่น การลดปัญหาเรื่องของการหยิบสินค้าผิดพลาด ลดระยะเวลาในการค้นหาสินค้า พนักงานทำงานอย่างเป็นระบบ และสามารถควบคุมพฤติกรรมได้ ในส่วนของบริษัทผู้ผลิตและส่งออกกระเบื้อง ก่อนการปรับปรุง บริษัทฯ พบปัญหาในการบริหารจัดการคลังสินค้ามากมาย เช่น ข้อมูลของคลังสินค้าที่จัดเก็บไม่ถูกต้อง ตำแหน่งจัดเก็บไม่ถูกต้อง การตรวจนับสต็อกสินค้าใช้คนในการตรวจทำให้ใช้ระยะเวลา และเกิดข้อผิดพลาดสูง ซึ่งหลังจากบริษัทฯ นำ RFID เข้ามาประยุกต์ใช้งานในการบริหารจัดการคลังสินค้าทำให้สามารถลดจำนวนพนักงานสำหรับปฏิบัติงานกว่า 30% ลดจำนวนรถโฟล์คลิฟต์ที่ใช้งานในคลังสินค้าไปได้ 6 คัน และสามารถลดค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานได้มากกว่า 500,000 บาทต่อเดือน จากผลของการปรับปรุงดังกล่าว ทำให้บริษัทฯ เห็นถึงประโยชน์ของการนำเทคโนโลยี RFID มาประยุกต์ใช้งาน จึงมีนโยบายที่จะขยายการปรับปรุงกระบวนการเพิ่มขึ้น โดยวางแผนจะทำให้คลังสินค้าของบริษัทฯ เป็น Smart Warehouse และพัฒนาส่วนอื่นเพิ่มเติมเพื่อให้เป็นระบบอัตโนมัติสำหรับรองรับ IOT ที่กำลังจะเกิดขึ้นต่อไป สำหรับบริษัทผู้ผลิตมอเตอร์แอร์ส่งออก ก่อนการปรับปรุง บริษัทฯได้พยายามนำเทคโนโลยี Barcode เข้ามาประยุกต์ใช้กับรถโฟล์คลิฟต์ เพื่อสร้างระบบการทำงานอัตโนมัติให้พนักงานสามารถทำงานได้อย่างสะดวกและถูกต้องแม่นยำ แต่บริษัทฯ ต้องพบปัญหาในเรื่องของการนำเทคโนโลยีที่ไม่เหมาะสมไปใช้งาน ทำให้ไม่เกิดประโยชน์เท่าที่ควร ทีมงานที่ปรึกษาจึงเข้าไปแนะนำการนำเทคโนโลยี RFID เข้ามาใช้งานแทน Barcodeโดยหลังจากการประยุกต์ใช้งานแล้วบริษัทฯ สามารถลดต้นทุนในกระบวนการต่างๆที่นำเทคโนโลยีไปประยุกต์ใช้ได้มากกว่า 1 ล้านบาทต่อเดือน นอกจากนี้ยังมีแผนการที่จะพัฒนาระบบของบริษัทฯ ให้เป็นรูปแบบ IOT ให้ได้ภายในปี 2020 ในอนาคตเทคโนโลยี RFID จะเข้ามามีส่วนในการสร้างระบบอัตโนมัติภายในองค์กรเป็นอย่างมาก ประกอบการกับภาวะการแข่งขันในตลาดที่เพิ่มสูงขึ้นทุกวัน ดังนั้นทุกองค์กรไม่ควรนิ่งเฉยต่อการพัฒนาระบบ และเทคโนโลยีต่างๆ ของตนเอง เพื่อให้สามารถแข่งขันในตลาดได้อย่างมีประสิทธิภาพ และตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้าได้ตรงความต้องการ
15 มี.ค. 2019
มาตรฐานการทดสอบบรรจุภัณฑ์เพื่อการขนส่ง
มาตรฐานการทดสอบบรรจุภัณฑ์เพื่อการขนส่ง ก่อนการเลือกใช้บรรจุภัณฑ์เพื่อการขนส่งสินค้าในระบบโลจิสติกส์ เราจำเป็นต้องทราบรูปแบบของสภาวะอันตรายที่สินค้าอาจประสบระหว่างการขนส่ง เช่น ความชื้น สภาพอากาศ อุณหภูมิ รูปแบบการลำเลียง เป็นต้น นอกจากนั้น ความเสียหายจากเหตุการณ์ทางกลที่เกิดจากการตกกระแทก (shock and impact) การสั่นสะเทือน (vibration) และการกดทับ (compression) ต่างก็มีผลให้สินค้าเสียหายได้เช่นกัน ดังนั้น การทดสอบบรรจุภัณฑ์ก่อนการขนส่งจริงจึงใช้เป็นตัวชี้วัดประสิทธิภาพในเบื้องต้นได้ในระดับหนึ่ง อย่างไรก็ตามผลที่ได้จากห้องปฏิบัติการถือว่าเป็นการคาดคะเนเบื้องต้นเท่านั้น เนื่องจากสภาวะเเวดล้อมในกระบวนการขนส่งจริงมีความแปรปรวนได้ตลอดเวลา ดังนั้นเพื่อให้เกิดความเชื่อมั่นในการทดสอบ การเก็บข้อมูลของสภาวการณ์ที่เกี่ยวข้องจึงต้องนำมาใช้เป็นข้อมูลนำเข้าในการจำลองสภาวะการทดสอบในห้องปฏิบัติการให้เสมือนเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นจริงที่สุด ซึ่งผลจากการทดสอบนี้เองจะเป็นผลให้บรรจุภัณฑ์ขนส่งนั้นสามารถถูกนำไปใช้งานได้อย่างมีประสิทธิภาพและน่าเชื่อถือยิ่งขึ้น ข้อมูลเบื้องต้นสำหรับการทดสอบที่สามารถสะท้อนความเสียหายของสินค้าจากการตกกระแทกและการสั่นสะเทือน เช่น ความสูงของการวางเรียงซ้อน รูปแบบการเก็บรักษาสินค้า สภาวะบรรยากาศ ระยะเวลาประเภทยานพาหนะขนส่ง รูปแบบและจำนวนครั้งที่สินค้ามีโอกาสตกกระแทกได้ เป็นต้น ดังนั้น อุปกรณ์บันทึกข้อมูลและตรวจวัดความเร่งจึงเป็นเครื่องมือที่เก็บและบันทึกข้อมูลกิจกรรมภาคสนามที่เกิดขึ้น เช่นอุณหภูมิ ความชื้นสัมพัทธ์ และความดันบรรยากาศ เพื่อนำมาใช้จำลองรูปแบบของสภาวะการขนส่งในห้องปฏิบัติการให้ใกล้เคียงกับการขนส่งจริงที่สุด เพื่อให้เกิดความเชื่อมั่นต่อบรรจุภัณฑ์ขนส่งที่ออกเเบบมา การทดสอบบรรจุภัณฑ์ขนส่งนั้นสามารถแบ่งออกเป็น 2 ประเภท คือ การทดสอบก่อนการขนส่ง และระหว่างขนส่งจริง ซึ่งการทดสอบก่อนการขนส่งนั้นมักอ้างอิงมาตรฐาน ASTM D4169 “Standard Practice for Performance Testing of Shipping Containers and Systems” และระเบียบวิธี ISTA 1A และ 2A ประกอบด้วยลำดับการทดสอบการตกกระแทกการสั่นสะเทือน และการกดทับ เพื่อประเมินสมรรถนะของบรรจุภัณฑ์ที่สามารถทนต่ออันตรายที่เกิดขึ้นในสภาวะการขนส่งได้ โดยใช้บรรจุภัณฑ์ชุดเดียวกันต่อเนื่องตลอดการทดสอบ และจะเปิดบรรจุภัณฑ์เพื่อตรวจสอบและประเมินความเสียหายของสินค้าเมื่อการทดสอบเสร็จสิ้นการทดสอบประเภทนี้จะให้ผลเพียงผ่านหรือไม่ผ่านเท่านั้น จึงไม่ได้เป็นการรับประกันว่าสินค้าจะไม่เกิดความเสียหายภายใต้สภาวะแวดล้อมขนส่งจริงได้เนื่องจากสินค้าอาจเผอิญกับปัจจัยอื่น ๆ ที่ยากต่อการควบคุม การทดสอบสมรรถนะของบรรจุภัณฑ์ขนส่งสามารถกระทำระหว่างการขนส่งจริง ในกรณีนี้ผลการตรวจวัดและบันทึกข้อมูลที่เกี่ยวข้องต่อความเสียหายของสินค้าระหว่างทางจะถูกนำมาเปรียบเทียบกับผลทดสอบที่ได้จากห้องปฏิบัติการ แต่ไม่สามารถใช้ทดแทนการทดสอบก่อนการขนส่งในห้องปฏิบัติการได้ เนื่องจากสภาวะการทดสอบจะถูกควบคุมในห้องปฏิบัติการ ในขณะที่สภาวะบรรยากาศระหว่างการขนส่งจริงอาจมีการแปรปรวนของอุณหภูมิ ความชื้น ลักษณะเส้นทาง และพฤติกรรมของผู้บังคับพาหนะขนส่ง เป็นผลให้เกิดความรุนแรงมากกว่าผลที่ได้จากห้องปฏิบัติการ ระดับความเสียหายต่อสินค้าขึ้นกับความสามารถในการปกป้องของบรรจุภัณฑ์และระดับความทนต่อการเเตกหักเสียหายของตัวสินค้า (product fragility) เองด้วย วัสดุกันกระแทกจึงเป็นอุปกรณ์เสริมเพื่อช่วยลดความรุนแรงที่จะมีผลต่อตัวสินค้าได้โดยตรง อย่างไรก็ตาม การใช้วัสดุบรรจุเกินความจำเป็นจะสามารถปกป้องสินค้าจากความเสียหายได้จริงอยู่ แต่อาจส่งผลให้ต้นทุนและค่าใช้จ่ายที่สูงขึ้น ในทางตรงข้าม วัสดุบรรจุที่น้อยเกินไปอาจทำให้ต้นทุนลดลงจริง แต่อาจทำให้บรรจุภัณฑ์ไม่สามารถปกป้องสินค้าได้เลย ดังนั้น การออกแบบบรรจุภัณฑ์ขนส่งสินค้าจึงต้องอาศัยแนวคิดที่เป็นระบบเพื่อให้ได้บรรจุภัณฑ์ที่เหมาะสม โดยอาศัยความรู้เชิงเทคนิคและความเข้าใจในสถานการณ์ความเสียหายที่อาจเกิดขึ้นเพื่อให้สินค้าถึงจุดหมายได้อย่างปลอดภัย สำนักโลจิสติกส์ กรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ ได้เล็งเห็นถึงความสำคัญของปัญหาดังกล่าวข้างต้น จึงได้ดำเนินโครงการส่งเสริมการพัฒนาบรรจุภัณฑ์ (Packaging) ร่วมกับภาควิชาเทคโนโลยีการบรรจุและวัสดุ คณะอุตสาหกรรมเกษตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เพื่อเพิ่มศักยภาพทางการแข่งขันของสินค้าอุตสาหกรรมไทย ให้สามารถพัฒนาบรรจุภัณฑ์ที่เหมาะสมกับผลิตภัณฑ์ ช่วยลดความสูญเสียของผลิตภัณฑ์ รวมทั้งยกระดับมูลค่าของสินค้าและสร้างการยอมรับสินค้าสู่มาตรฐานสากล นอกจากนี้ยังช่วยในการขนย้าย การรวบรวม และจัดเรียงผลิตภัณฑ์ได้อย่างเหมาะสมโดยมีการใช้พื้นที่อย่างเต็มประสิทธิภาพ ซึ่งสามารถลดต้นทุนโลจิสติกส์ได้อีกด้วย ทั้งนี้ ผู้ประกอบการที่สนใจ สามารถสมัครเพื่อรับคัดเลือกเข้าร่วมโครงการ ผ่านระบบออนไลน์ได้ที่ www.sclenroll.org
15 มี.ค. 2019
ปรับตัวและรับมืออย่างไรในยุคอุตสาหกรรม 4.0
ปรับตัวและรับมืออย่างไรในยุคอุตสาหกรรม 4.0 ในฉบับที่ผ่านมาเรากล่าวถึงโลกของอุตสาหกรรม 4.0 (Industry 4.0) ที่เป็นการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญ ปัจจุบันทุกประเทศมีการเชื่อมต่อกันอย่างไร้พรมแดนในทุกมิติ ทั้งความร่วมมือทางการค้าการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน การเมือง เศรษฐกิจและสังคม หลายประเทศจำเป็นต้องปรับตัวสู่การพัฒนาในยุคอุตสาหกรรม 4.0 เพื่อเพิ่มศักยภาพในการแข่งขันของตนเองภายใต้การแข่งขันที่รุนแรงและเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา ประเทศไทยอาจต้องใช้ระยะเวลาในการเข้าสู่อุตสาหกรรม 4.0 เนื่องจากยังไม่สามารถผลิตเทคโนโลยีได้เอง แม้จะมีการวิจัยและพัฒนาจำนวนมากแต่ยังไม่สามารถนำมาปรับใช้ได้อย่างเต็มรูปแบบ และไม่สามารถนำไปสู่การสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์ที่เป็นเทคโนโลยีขั้นสูงได้ เราควรเปลี่ยนวิธีคิดใหม่โดยมองให้ออกว่า โลกในวันนี้มีเทคโนโลยีอะไรที่จะนำมาใช้กับการผลิตของเราได้บ้าง จำเป็นแค่ไหนในการนำเทคโนโลยีเข้ามาช่วยในการผลิต เราจะขับเคลื่อนศักยภาพของประเทศไปสู่การเป็นผู้ผลิตสินค้าระดับโลกได้แค่ไหน มองการผลิตสินค้าสำหรับการบริโภคของคนทั่วโลก โดยหาว่าตัวเองเก่งหรือเหมาะสมกับธุรกิจอะไร และจะสามารถนำเทคโนโลยีมาใช้เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดได้อย่างไร ภาครัฐและภาคธุรกิจควรต้องเตรียมพร้อมรับมือในการปฏิรูปอุตสาหกรรมครั้งนี้ร่วมกัน 1. ภาครัฐ ปัจจุบันเริ่มมีการสนับสนุนการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านดิจิทัลมากขึ้น ซึ่งเป็นการวางรากฐานการพัฒนาสู่ยุคอุตสาหกรรม 4.0 ทั้งสิ้น โดยส่วนของกระทรวงอุตสาหกรรมได้วางนโยบายการพัฒนาอุตสาหกรรมดังนี้ 1.1 การส่งเสริมต่อยอดอุตสาหกรรมใหม่โดยการจัดกลุ่มอุตสาหกรรมเป็น Cluster เพื่อพัฒนาตามกลุ่มเป้าหมาย รวมทั้งพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานในด้านเทคโนโลยี เช่น ห้องปฏิบัติการ ศูนย์ทดสอบ และสนามทดสอบกลาง พร้อมทั้งส่งเสริมงานวิจัยและพัฒนาให้มีเพิ่มมากขึ้น 1.2 การส่งเสริมเพื่อสร้างผู้ประกอบการในระดับ SMEs รวมทั้งอุตสาหกรรม OTOP โดยเพิ่มการยกระดับมาตรฐานการผลิตและผลิตภัณฑ์ สร้างผู้ประกอบการรายใหม่ให้กระจายไปในภูมิภาค พัฒนาศูนย์บ่มเพาะ SMEs/OTOP ให้มีมากขึ้น ส่งเสริมเทคโนโลยีการตลาดยุคดิจิทัล รวมถึงจัดหาแหล่งเงินทุนในการพัฒนาการผลิต 1.3 ปรับปรุงฐานการลงทุนการผลิตและการส่งออกของอุตสาหกรรม โดยแยกเป็น - การเพิ่มผลผลิต (Productivity) โดยการพัฒนาทักษะแรงงานและสนับสนุนให้มีการปรับเปลี่ยนเครื่องจักรให้ทันสมัย - การสร้างปัจจัยที่เอื้อต่อการผลิต (Enabling Factor) กำหนดกฎหมาย/กฎระเบียบ พัฒนาคน ส่งเสริมโครงสร้างพื้นฐานโลจิสติกส์ และบริหารจัดการข้อมูล Big Data - การเชื่อมโยงเครือข่าย (Connectivity) สร้างพันธมิตรและจับคู่ธุรกิจ (Business Matching) ประสานจัดกลุ่มอุตสาหกรรมเชื่อมโยงเป็น Cluster และเชื่อมโยงการผลิตการตลาดโดยใช้ Digital Technology - การส่งเสริมอุตสาหกรรมสีเขียว (Green Industry) โรงงานที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม (Green Factory) และเมืองนิเวศน์ (ECO-Town) 2. ภาคผู้ประกอบการ ควรต้องเริ่มที่จะมีการกำหนดวิสัยทัศน์ เป้าหมาย กลยุทธ์ที่ชัดเจนในเรื่องที่เกี่ยวข้องเช่น - การเพิ่มความร่วมมือในการผลิตร่วมกันตั้งแต่อุตสาหกรรมต้นน้ำ กลางน้ำ ปลายน้ำ มีการจัดกลุ่มการผลิต - การปรับปรุงโครงสร้างองค์กร พัฒนาระบบบริหารจัดการ จัดหาเครื่องมือจัดการองค์ความรู้เพื่อยกระดับศักยภาพการปฏิบัติงาน - การเพิ่มขีดความสามารถในการผลิต โดยพัฒนาความสามารถในงานด้านโลจิสติกส์และชัพพลายเชน ได้แก่ การวางแผน การจัดซื้อจัดหา การผลิต การจัดเก็บ และการกระจายสินค้า - พัฒนานำเอาระบบเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร มาใช้เพื่อการบริหารและการบริการที่มีประสิทธิภาพ - การพัฒนาอุตสาหกรรมต้องเป็นมาตรฐานสากล สามารถปรับเปลี่ยนเข้ากับเงื่อนไข กฎระเบียบ และกติกาที่เป็นสากลได้ - ส่งเสริมธรรมาภิบาลภายในองค์กร เพื่อสร้างความถูกต้องโปร่งใสและการมีส่วนร่วมในการทำงาน - พัฒนาศักยภาพของบุคลากรในองค์กรให้สามารถผลักดันการพัฒนาอุตสาหกรรมต่อไปในอนาคตได้อย่างยั่งยืน - อุตสาหกรรมต้องอยู่ร่วมกับสังคมได้ โดยเฉพาะการมีส่วนร่วมในสังคม และการรักษาสิ่งแวดล้อม ประเทศไทยยังคงจำเป็นที่จะต้องพึ่งพาอุตสาหกรรมการผลิตเพื่อการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ แม้ว่าอุตสาหกรรมไทยจะมีโอกาสแข่งขันในหลายอุตสาหกรรม แต่ก็ควรที่จะต้องเลือกเวทีและสินค้าให้ถูกต้อง อาจมองหาอุตสาหกรรมที่ถือเป็นจุดเด่นของประเทศไทย เช่น อุตสาหกรรมอาหาร หรืออุตสาหกรรมเกษตรแปรรูป เริ่มกำหนดเป้าหมายยุทธศาสตร์ และพึ่งพาเทคโนโลยีในการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต เพื่อลดปัญหาด้านต้นทุนแรงงานที่สูงขึ้น การดึงศักยภาพที่แท้ของของประเทศไทยมาพัฒนาโดยใช้เทคโนโลยีเป็นเครื่องมือจะทำให้เรามีจุดเด่นที่สามารถต่อยอดให้ถึงขีดสุด เน้นการผลักดันนำเอาระบบ IT เข้ามาช่วยในการพัฒนากระบวนการผลิตให้มากขึ้น ตั้งแต่กระบวนการผลิต การบรรจุหีบห่อ และการขนส่ง เป็นต้น หากทำได้จะสามารถลดต้นทุน ลดความสูญเสีย และนำไปสู่การแข่งขันที่ดีขึ้น อย่างไรก็ตามการปรับเปลี่ยนเอาเทคโนโลยีมาใช้งานนั้น ควรเลือกใช้ให้เหมาะสมกับอุตสาหกรรมในบ้านเรา และต้องคำนึงถึงผลกระทบต่อการดำเนินชีวิตของคนไทยด้วย
15 มี.ค. 2019
การส่งเสริมการใช้และเชื่อมโยงระบบ Backhauling เพื่อลดการขนส่งเที่ยวเปล่า
การส่งเสริมการใช้และเชื่อมโยงระบบ Backhauling เพื่อลดการขนส่งเที่ยวเปล่า บริษัทต่างๆ ในประเทศไทยที่ทำหน้าที่รับจ้างขนส่งสินค้า หรือบริษัทผู้ผลิตสินค้าและวัตถุดิบที่ต้องมีการเคลื่อนย้ายสินค้าล้วนถูกกดดันให้แข่งขันทั้งในด้านต้นทุนและความใส่ใจสิ่งแวดล้อมมากขึ้น ส่งผลให้การขนส่งเที่ยวกลับ (Backhauling) และโลจิสติกส์ย้อนกลับ (Reversed Logistic) เข้ามามีบทบาทต่อการออกแบบเครือข่ายการกระจายสินค้ามากขึ้น ปัญหาที่องค์กรส่วนใหญ่พบในการบริหารจัดการรถเที่ยวกลับคือไม่สามารถใช้ประโยชน์จากยวดยานพาหนะ (Load Utilization) และการใช้พลังงานเชื้อเพลิงให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุดได้ เนื่องด้วยเพราะขาดระบบและการประสานงานที่ดีในการจับคู่ผู้ที่มีความต้องการตรงกัน อีกทั้งการใช้คนในการดำเนินการโดยขาดระบบเทคโนโลยีสารสนเทศเข้ามาช่วยอาจก่อให้เกิดความผิดพลาดได้ง่าย และใช้เวลานานในการจัดตารางเที่ยวการขนส่ง ดังนั้น กรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ โดยสำนักโลจิสติกส์ ซึ่งรับผิดชอบดำเนินภารกิจหลักด้านการส่งเสริมการพัฒนาระบบโลจิสติกส์ภาคอุตสาหกรรมได้จัดทำโครงการส่งเสริมให้เกิดการจัดการการขนส่งเที่ยวเปล่า โดยผู้เข้าร่วมโครงการจะได้รับสิทธิประโยชน์ในการใช้งานระบบบริหารการจัดการด้านการขนส่ง (Transportation Management System:TMS) และระบบเครือข่ายการขนส่งเพื่อลดจำนวนรถเที่ยวเปล่า (Backhauling Management System: BMS) โดยมีรายละเอียดดังนี้ ระบบ TMS มีหน้าที่ช่วยในการบริหารจัดการการขนส่งภายในสถานประกอบการ โดยรองรับการทำงาน 3 ด้าน หลักคือ (1) การจัดการคำสั่งของลูกค้าที่เข้ามา (2) การบริหารจัดการการขนส่ง ทั้งในการออกใบงาน การบริหารจัดการกองยวดยานพาหนะ ประวัติพนักงานขับรถ การซ่อมบำรุง และ (3)การจัดการด้านการเงิน นอกจากนี้ระบบยังมีการเก็บข้อมูลตัวชี้วัดประสิทธิภาพ (Key Performance Indicator: KPI) ที่เกี่ยวข้องกับระบบการขนส่ง เช่น ต้นทุน ระยะเวลาเฉลี่ยในการจัดส่งสินค้า ความสามารถในการจัดส่งสินค้า เป็นต้น เพื่อให้ผู้บริหารได้มองเห็นถึงประสิทธิภาพในการทำงานได้อย่างรวดเร็ว อีกทั้งระบบที่สำนักโลจิสติกส์ได้พัฒนาขึ้นมายังรองรับกับมาตรฐาน Q-mark ของกรมการขนส่งทางบกอีกด้วย ระบบ BMS มีหน้าที่ช่วยจับคู่การขนส่งในเที่ยวกลับไม่ให้รถวิ่งเที่ยวเปล่า โดยระบบสามารถรับข้อมูลได้ทั้งจากการป้อนข้อมูลโดยตรงหรือจะรับข้อมูลจากระบบ TMS ก็ได้ ซึ่งช่วยลดเวลาในการทำงานและลดความผิดพลาดที่อาจจะเกิดขึ้นได้ โดยระบบทั้งสองถูกพัฒนาขึ้นมาภายใต้ระบบของ Odoo ซึ่งมีฟังก์ชั่นการทำงานของระบบบริหารจัดการทรัพยากรขององค์กร (Enterprise Resource Planning: ERP) ที่ครบถ้วน มีลักษณะเป็นระบบเปิด (Open source) ทำให้ผู้ประกอบการสามารถนำระบบเทคโนโลยีสารสนเทศภายในองค์กรมาเชื่อมต่อได้โดยง่าย เช่น เชื่อมกับระบบบัญชี หรือระบบบริหารจัดการงานขาย เป็นต้น และในอนาคตเพื่อให้การบริหารจัดการการขนส่งมีประสิทธิภาพสูงสุดระบบจะเชื่อมโยงกับ GPS และแผนที่อิเล็คทรอนิคส์เพื่อให้ออกเส้นทางการขนส่งได้โดยสะดวก ปัจจัยหลักแห่งความสำเร็จที่สำคัญของการทำ Backhauling คือ ผู้ประกอบการจะต้องรวมกลุ่มกันเพื่อแบ่งปันข้อมูลการขนส่งและสร้างความไว้เนื้อเชื่อใจระหว่างสมาชิกในกลุ่ม เนื่องจากการจะผลักดันให้เกิดการจับคู่ Backhauling ได้นั้น ทั้งผู้ว่าจ้างและผู้ถูกว่าจ้างและต้องมีความเชื่อใจซึ่งกันและกัน ผู้ถูกว่าจ้างต้องทำให้ผู้ว่าจ้างมั่นใจได้ว่าสินค้าที่ตนให้ทำการขนส่งจะไม่สูญหายหรือเกิดความเสียหาย ทางผู้ถูกว่าจ้างเองก็ต้องมั่นใจว่าเมื่อส่งสินค้าถึงปลายทางแล้วจะสามารถเรียกเก็บค่าขนส่งจากผู้ว่าจ้างได้ ความไว้ใจกันจึงเป็นปัจจัยหลักที่สมาชิกคำนึงถึง ดังนั้นเป้าหมายหนึ่งในการดำเนินโครงการของทางสำนักโลจิสติกส์คือการสร้างเครือข่ายของผู้ให้บริการขนส่งและโลจิสติกส์ (Logistics Service Provider Cluster) เพื่อการแลกเปลี่ยนและบูรณาการข้อมูลด้วยการใช้ระบบเทคโนโลยีสารสนเทศเป็นเครื่องมือหลัก และส่งผลให้มีการขนส่งสินค้าเที่ยวกลับเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยยะ โดยโครงการได้ดำเนินการมาอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2555 และมีสถานประกอบการเข้าร่วมในการใช้งานระบบมาแล้วไม่ต่ำกว่า 113 สถานประกอบการ เพื่อการสร้างเครือข่ายการขนส่งแบบไม่เสียเที่ยวเปล่าของผู้ประกอบการขนส่งและผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมการผลิตอย่างกว้างขวางในประเทศ นอกจากจะช่วยลดต้นทุนรวมด้านโลจิสติกส์ให้กับภาคอุตสาหกรรม และลดมลพิษทางอากาศจากการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์แล้วยังเป็นการยกระดับศักยภาพของภาคอุตสาหกรรมการผลิตและผู้ให้บริการขนส่งและโลจิสติกส์ด้วยเช่นกัน
15 มี.ค. 2019
โลจิสติกส์และชัพพลายเชนในยุคอุตสาหกรรม 4.0 (Industry 4.0)
เกียรติพงษ์ อุดมธนะธีระ สำนักโลจิสติกส์ โลจิสติกส์และชัพพลายเชนในยุคอุตสาหกรรม 4.0 (Industry 4.0) จากที่ผ่านมาได้กล่าวถึงข้อมูลขนาดใหญ่ Big data เทคโนโลยีการสื่อสารไร้สายและผลที่เกิดเป็นInternet of Thing ในฉบับนี้จะกล่าวถึงการพลิกโฉมหน้าวงการอุตสาหกรรมสู่ยุคใหม่หรือที่เรียกว่าอุตสาหกรรม 4.0 (Industry 4.0) ซึ่งกว่าจะมาเป็นอุตสาหกรรม 4.0 แต่ละยุคสมัยนั้นมีการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญดังนี้ ยุคที่ 1 เกิดขึ้นในปี ค.ศ. 1784 มีการประดิษฐ์เครื่องจักรกลไอน้ำขึ้นมาใช้งานเป็นครั้งแรก เป็นยุคการผลิตแบบโรงงานที่ใช้เครื่องจักรช่วยในการผลิต ซึ่งเป็นยุคเริ่มต้นของการปฏิวัติอุตสาหกรรม ยุคที่ 2 เกิดขึ้นในปี ค.ศ. 1870 มีการเปลี่ยนจากการใช้เครื่องจักรไอน้ำมาใช้พลังงานไฟฟ้า ต้นทุนการผลิตลดลง เป็นยุคของการผลิตสินค้าชนิดเดียวกันจำนวนมาก (Mass Production) ยุคที่ 3 เกิดขึ้นในปี ค.ศ. 1969 มีการใช้เครื่องจักรอัตโนมัติหรือหุ่นยนต์ในการผลิตแทนที่แรงงานคน เป็นยุคของการใช้อิเล็กทรอนิกส์และเทคโนโลยีสารสนเทศในการผลิต มีการปรับปรุงกระบวนการระบบบริหารจัดการด้านคุณภาพ และเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตให้สูงขึ้น ยุคที่ 4 เกิดขึ้นในปี ค.ศ. 2013 จากนโยบายอุตสาหกรรมแห่งชาติของเยอรมันเน้นการนำหุ่นยนต์ เครื่องจักร เทคโนโลยีดิจิทัล และอินเทอร์เน็ต มาใช้ช่วยในกระบวนการผลิตสินค้าแบบครบวงจร เป็นยุคของกระบวนการผลิตที่มีประสิทธิภาพด้วยเทคโนโลยีดิจิทัลแบบ “Smart Factory” การเปลี่ยนแปลงทางกายภาพของอุตสาหกรรม 4.0 มี 2 ส่วนหลักคือ ส่วนฮาร์ดแวร์ซึ่งหมายถึงเทคโนโลยี นวัตกรรมด้านเครื่องจักร ระบบอัตโนมัติ และระบบควบคุมการทำงาน และส่วนซอฟท์แวร์ ประกอบด้วย โปรแกรมควบคุมระบบการทำงาน และการเชื่อมต่อทางเครือข่ายในรูปแบบ Internet of Things (IoT) ทำให้เกิดข้อมูลในระบบการผลิตขึ้นอย่างมหาศาลซึ่งจำเป็นต้องได้รับการบริหารจัดการอย่างเป็นระบบ อุตสาหกรรม 4.0 มีแนวคิดที่สำคัญคือ การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต การบริการ หรือการขายสินค้า โดยการเชื่อมต่อกับเทคโนโลยีดิจิทัล เช่น การพัฒนาเทคโนโลยีสื่อสารกับเครื่องจักร และระบบเครื่องจักรสามารถสื่อสารกันได้เอง หรือการผลิตสินค้าแบบอัตโนมัติตามความต้องการของผู้บริโภค ซึ่งจะเน้นการตอบสนองโดยอัตโนมัติต่อการเปลี่ยนแปลงของสภาพแวดล้อมและตลาด ทำให้อาจสามารถจะตอบสนองถึงระดับรายบุคคลได้โดยยังรักษาคุณภาพการผลิตที่มีประสิทธิภาพสูง ทั้งนี้ ความคาดหวังหรือท้าทายในอุตสาหกรรม 4.0 ได้แก่ การผลิตสินค้าตามความต้องการเฉพาะของผู้บริโภคได้มากขึ้น มีวงจรในการเกิดนวัตกรรมสินค้าที่สั้นลง สินค้าที่ผลิตมีความซับซ้อนมากขึ้นระยะเวลาในการผลิตสั้นลง และรองรับความต้องการตลาดที่ผันผวนมากขึ้น สามารถแข่งขันในการผลิตเพิ่มมากขึ้น การเตรียมพร้อมของภาคอุตสาหกรรมเพื่อเข้าสู่ยุค Industry 4.0 จุดเด่นที่สำคัญในยุคนี้คือ ความสามารถในการเชื่อมต่อความต้องการของผู้บริโภคแต่ละรายเข้ากับกระบวนการผลิตสินค้าได้โดยตรง ทำให้สามารถผลิตสินค้าหลากหลายรูปแบบแตกต่างกันตามความต้องการเฉพาะของผู้บริโภคแต่ละราย การบริหารจัดการโลจิสติกส์และซัพพลายเชนนับตั้งแต่กระบวนการสั่งซื้อ การนำเข้าวัตถุดิบ กระบวนการผลิต การจัดเก็บ จนกระทั่งจัดส่งสินค้าถึงมือลูกค้า มีส่วนสำคัญที่จะช่วยยกระดับความสามารถขององค์กร รองรับการเข้าสู่ยุคอุตสาหกรรม 4.0 ได้ ทุกองค์กรควรเริ่มที่จะต้องเตรียมพร้อมเพื่อรับมือกับการเปลี่ยนแปลงในอนาคต โดยเริ่มดำเนินการดังนี้ กำหนดเป้าหมาย นโยบาย แนวทางในการพัฒนาองค์กร เพื่อมุ่งสู่ยุคอุตสาหกรรม 4.0 กำหนดแผนการปรับโครงสร้างองค์กร เพิ่มการสร้างความร่วมมือกับทุกฝ่ายทั้งในระดับองค์กรและซัพพลายเชน รองรับการทำงานที่จะเกิดในรูปแบบใหม่ ปรับปรุงกระบวนการทำงานให้สามารถเชื่อมโยงและติดตามตรวจสอบต่อเนื่องได้ทั้งระบบตั้งแต่วัตถุดิบจากผู้ขายที่ต้นน้ำ ไปจนถึงผลิตภัณฑ์ส่งมอบแก่ลูกค้าหรือผู้ใช้ที่ปลายน้ำ สร้างช่องทางการเข้าถึงติดต่อและทำความเข้าใจในลูกค้าให้มากขึ้น โดยใช้เทคโนโลยีดิจิทัล และนวัตกรรมมาช่วยในการทำงาน พัฒนานำข้อมูลที่เริ่มมีปริมาณมากมาย Big Data จากเทคโนโลยีดิจิทัลมาบริหารจัดการอย่างเป็นระบบเพื่อจัดทำเป็นสารสนเทศในการบริหารจัดการและตัดสินใจอย่างถูกต้องและทันต่อสถานการณ์ความต้องการอันผันผวนของผู้บริโภค พัฒนาบุคลากรให้เพิ่มทักษะการปฏิบัติงาน การใช้เทคโนโลยีดิจิทัล และความรู้ที่เกี่ยวข้อง ให้ความสำคัญกับการวิจัยและพัฒนา (R&D) เพื่อสร้างนวัตกรรมใหม่และสร้างความแตกต่างในการแข่งขัน การพัฒนาองค์กรให้มีความพร้อมเข้าสู่ยุคอุตสาหกรรม 4.0 ต้องมีจุดแข็งคือการนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาช่วยควบคุมการผลิต หากต้องการมีศักยภาพและความสามารถในการแข่งขันในอนาคต ต้องเริ่มกำหนดนโยบายและแผนการทำงานที่ชัดเจน เน้นการพัฒนางานด้านการปรับปรุงโลจิสติกส์และ ซัพพลายเชนให้เป็นมาตรฐาน กระตุ้นให้เกิดการวิจัยและพัฒนาอย่างต่อเนื่อง เพื่อสร้างความได้เปรียบทางการแข่งขันขององค์กรให้ทันต่อสถานการณ์ตลอดเวลา
15 มี.ค. 2019