Category
ทำไมต้อง e-Business
ดร.วรัญญา ติโลกะวิชัย ที่ปรึกษาโครงการเพิ่มประสิทธิภาพโลจิสติกส์ภาคอุตสาหกรรม (Logistics Consult) กลุ่มอุตสาหกรรมอาหารและยา ทำไมต้อง e-Business ในการดำเนินธุรกิจปัจจุบันจำเป็นต้องรวดเร็วถูกต้อง และมีประสิทธิภาพเพื่อให้เกิดความสามารถทางการแข่งขัน องค์กรจำเป็นต้องมีความยืดหยุ่นในการบริหารจัดการให้สามารถตอบสนองความต้องการของตลาดที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วซึ่ง e-Business (Electronic Business) เป็นการดำเนินงานของธุรกิจด้วยการใช้เทคโนโลยีอินเตอร์เน็ต (Internet Technology) เพื่อปรับปรุงประสิทธิภาพการดำเนินงานภายในองค์กร (Intra-Organization) ลดต้นทุน เพิ่มคุณค่าให้กับสินค้าและ/หรือบริการ สร้างความสัมพันธ์ที่ดีผู้ขายและลูกค้า ทำให้เกิดประสิทธิภาพในการดำเนินงานทั้งโซ่คุณค่า (Value Chain) และโซ่อุปทาน (Supply Chain Performance) ดังแสดงในรูปที่ 1 รูปที่ 1 แสดงความสัมพันธ์ e-business ในโซ่คุณค่า (Value Chain) และSupply chain จากรูปที่ 1 แสดงถึงโซ่คุณค่าที่ประกอบด้วย กิจกรรมหลัก (Primary activities) และกิจกรรมสนับสนุน (Support Activities) ซึ่งกิจกรรมหลักเป็นกิจกรรมที่สร้างคุณค่าให้กับลูกค้าโดยตรง กิจกรรมหลักจะประกอบด้วยโลจิสติกส์ขาเข้า (Inbound Logistics) การดำเนินการ (Operations) ฝ่ายขายและตลาด (Sales and Marketing) การบริการ (Service) และโลจิสติกส์ขาออก (Outbound Logistics) โดยมีการนำเทคโนโลยีเข้ามาช่วยในแต่ละกิจกรรม ส่วนกิจกรรมสนับสนุนจะเป็นกิจกรรมที่สนับสนุนกิจกรรมหลักให้สามารถทำงานให้เกิดประสิทธิผลอย่างมีประสิทธิภาพ ประกอบด้วยโครงสร้างองค์กรในส่วนของการบริหารและการจัดการ (Administration and Management) ทรัพยากรมนุษย์ (Human Resources) เทคโนโลยี (Technology) และการจัดซื้อจัดหา (Procurement) ซึ่งได้มีการนำ e-business เข้ามาใช้ในแต่ละกิจกรรม ดังแสดงในรูปที่ 1 ในที่นี้ขออธิบายถึง e-business ที่สำคัญ ได้แก่ 1. ระบบการวางแผนทรัพยากร (Enterprise Resource Planning: ERP) เป็นระบบที่ใช้ในการบริหารจัดการทรัพยากรทั้งองค์กรด้วยการเชื่อมโยงระบบงานต่างๆ เข้าด้วยกัน ตั้งแต่ระบบงานขาย ทรัพยากรบุคคล จัดซื้อ การผลิต การจัดการคลังสินค้า การจัดการสินค้าคงคลัง การกระจายสินค้า และบัญชีและการเงิน ซึ่งองค์กรสามารถวางแผนและบริหารทรัพยากรได้อย่างมีประสิทธิภาพลดเวลาและขั้นตอนการทำงานขององค์กร 2. Business Intelligence (BI) ระบบที่ใช้ในการเก็บรวบรวมข้อมูล และนำเสนอสารสนเทศ ที่สามารถวิเคราะห์ได้หลายมุมมอง (Multidimensional Model) ช่วยให้ผู้ใช้งานสามารถวิเคราะห์และตัดสินใจได้รวดเร็วและถูกต้อง เช่น การวิเคราะห์สินค้าคงคลัง การวิเคราะห์ลูกค้า การวิเคราะห์ผู้ขาย การวิเคราะห์คู่แข่ง เป็นต้น 3. e-SupplyChain Management (e-SCM) เป็นการจัดการโซ่อุปทานด้วยการใช้เทคโนโลยีอินเตอร์เน็ต เพื่อปรับปรุงและเพิ่มประสิทธิภาพกิจกรรมในโซ่อุปทาน (Supply Chain Activities) ซึ่งกิจกรรมและโครงสร้าง (Activities and Infrastructure) ของ e-SCM เช่น ระบบการเติมเต็มสินค้าอัตโนมัติ (Collaborative Planning Forecasting and Replenishment : CPFR)เป็นระบบที่ช่วยวางแผนพยากรณ์ความต้องการสินค้าจากผู้ซื้อและการเติมเต็มสินค้าจากผู้ขาย การจัดซื้อจัดหาอิเล็กทรอนิกส์ (e-Procurement) การจัดการสินค้าคงคลังโดยใช้อุปกรณ์ไร้สาย เช่น เครื่องอ่านบาร์โค้ดแบบพกพา การใช้ RFID (Radio Frequency Identification) เป็นต้นรวมทั้งการพัฒนาผลิตภัณฑ์ร่วมกันกับผู้ขายและ/หรือลูกค้า จนถึงการส่งมอบ และการรับคืนสินค้า ซึ่งความสำเร็จของ e-SCM ขึ้นกับความสามารถในการร่วมมือกันในการทำงานระหว่างองค์กรในโซ่อุปทาน เป็นการบูรณาการทั้งโซ่อุปทานด้วยการใช้เทคโนโลยีอินเตอร์เน็ต เช่น การแบ่งปันข้อมูลระหว่างผู้ซื้อและผู้ขาย ผู้ซื้ออนุญาตให้ผู้ขายเข้าถึงข้อมูลการขายและคลังสินค้า ในสินค้าทุกรายการของผู้ขายด้วยระบบการบริหารคลังสินค้าโดยผู้ขาย(Vendor Management Inventory : VMI) ผ่าน Extranet ทำให้ผู้ขายได้ข้อมูลความต้องการของผู้ซื้ออย่างรวดเร็วถูกต้องและส่งผลให้ผู้ซื้อมีปริมาณสินค้าคงคลังที่เหมาะสม เป็นต้น 4. e-Commerce เป็นการดำเนินธุรกิจผ่านเทคโนโลยีอินเตอร์เน็ตประกอบด้วย Upstream supply chain เป็นการดำเนินธุรกิจระหว่างองค์กรทางด้านซื้อ (Buy-Side e-Commerce) และ Downstream supply chainเป็นการดำเนินธุรกิจระหว่างองค์กรทางด้านขาย (Sell-Side e-Commerce) ซึ่ง e-Commerce เป็นส่วนหนึ่งของe-Business ดังแสดงดังรูปที่ 2 รูปที่ 2 แสดงความสัมพันธ์ระหว่าง e-Commerce และ e-Business ตารางที่ 1 แสดงการเปรียบเทียบระหว่างการการดำเนินธุรกิจแบบดั้งเดิม (Traditional) กับ e-Commerce จากตารางที่ 1 แสดงให้เห็นว่าแต่ละกิจกรรมที่เกิดขึ้นในการดำเนินธุรกิจแบบดั้งเดิม (Traditional) กับ e-Commerce มีการดำเนินงานที่แตกต่างไปจากเดิม ด้วยการใช้เทคโนโลยีอินเตอร์เน็ตเข้ามาช่วยในการทำงาน การนำ e-Business มาใช้ในองค์กรรวมทั้งห่วงโซ่อุปทานขององค์กรทำให้องค์กรสามารถทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพรวดเร็ว ถูกต้องเพิ่มคุณค่าให้กับสินค้าและ/หรือบริการ สร้างความสัมพันธ์ที่ดีทั้งกับผู้ขายและลูกค้า ทำให้องค์กรเกิดความได้เปรียบทางการแข่งขัน อีกทั้งช่วยลดต้นทุนการดำเนินงาน นั่นหมายถึงกำไรที่เพิ่มขึ้นขององค์กร ซึ่งเป็นเหตุผลว่าทำไมต้อง e-Business
15 มี.ค. 2019
RFID เทคโนโลยีที่อยู่ใกล้ตัว
ณัฏฐพิชา จันทร์กระจ่าง นักวิชาการอุตสาหกรรมปฏิบัติการ RFID เทคโนโลยีที่อยู่ใกล้ตัว ในอนาคตอันใกล้นี้การใช้ชีวิตประจำวันของเราอาจเปลี่ยนไปอย่างมาก หากอุปกรณ์สิ่งของหลายๆ สิ่งบนโลกนี้ สามารถบอกเราได้ว่าตัวเองเป็นอะไร เคยผ่านกระบวนการผลิตมาอย่างไร และตอนนี้จัดเก็บอยู่ ณ ตำแหน่งใด ซึ่งแนวคิดนี้เป็นหลักการของเทคโนโลยี RFID (Radio Frequency Identification) ที่กำลังได้รับความสนใจและมีแนวโน้มการใช้งานมากขึ้นในการดำเนินธุรกิจ เพื่อควบคุมหรืออำนวยความสะดวกให้รวดเร็วและถูกต้อง เช่น เหรียญโดยสารรถไฟฟ้าใต้ดิน หรือบัตรผ่านทางด่วน Easy pass เป็นต้น เทคโนโลยี RFID ปรากฏครั้งแรกในทางการทหารของอังกฤษ ซึ่งถูกนำมาใช้ในช่วงปลายของสงครามโลกครั้งที่ 2 ในการระบุสถานะเพื่อแยกแยะเครื่องบินที่เป็นของประเทศอังกฤษหรือว่าเป็นเครื่องบินของศัตรู หลังจากนั้นถูกนำมาใช้ทางการปศุสัตว์เพื่อติดตามตัวสัตว์ การใช้เป็นบัตรผ่านเข้า-ออกอาคารสถานที่เพื่อรักษาความปลอดภัย จนมาถึงการประยุกต์ใช้ในอุตสาหกรรม ในระบบโลจิสติกส์และโซ่อุปทาน มารู้จักกับหลักการทำงานของเทคโนโลยี RFID RFID ย่อมาจาก Radio Frequency Identification เป็นเทคโนโลยีการระบุตัวตนหรือตำแหน่งของวัตถุ เช่น คน สัตว์ หรือสิ่งของ โดยใช้คลื่นความถี่วิทยุเป็นตัวเหนี่ยวนำแทนการสัมผัส มีลักษณะเป็นป้ายอิเล็กทรอนิกส์ที่สามารถอ่านค่าได้ในระยะห่าง โดยไม่ต้องเห็นแท็กหรือแท็กซ่อนอยู่ภายในวัตถุก็สามารถอ่านค่าได้ เพียงแค่อยู่ในบริเวณที่สามารถรับคลื่นวิทยุได้ และการอ่านแท็กยังสามารถอ่านได้หลายๆแท็กในเวลาเดียวกัน มีองค์ประกอบหลัก คือ แท็ก (Tag) หรือ Transponders เครื่องอ่าน (Reader) และ ซอฟต์แวร์ สามารถนำแท็กไปฝังหรือติดกับวัตถุต่างๆ โดยมีการบันทึกและติดตามข้อมูลว่า คืออะไร ผลิตมาจากที่ไหน ใครเป็นผู้ผลิต วันเดือนปีที่ผลิต ประกอบด้วยชิ้นส่วนอะไรบ้าง แต่ละชิ้นมาจากที่ไหน ซึ่งรวมถึงตำแหน่งที่ตั้งของวัตถุนั้นๆ ด้วย ตัวอย่างการนำ RFID มาประยุกต์ใช้ มีดังนี้ อุตสาหกรรมการผลิต RFID ถูกนำมาช่วยตรวจสอบเรื่องคุณภาพ เวลาการผลิต และการคิดค่าแรงพนักงาน เช่น ในธุรกิจการตัดเย็บเสื้อผ้านำ RFID มาใช้ตรวจสอบเวลาในการผลิตของแต่ละจุดการตัดเย็บ เมื่อเปลี่ยนขั้นตอนการทำงานจะนำแท็ก RFID ไปอ่านในทุกๆ จุดที่เกิดการเปลี่ยนสถานะงาน ทำให้ทราบว่าในแต่ละขั้นตอนมีเวลาการผลิตเท่าไร สามารถควบคุมเวลาการผลิตในขณะนั้นได้ ทั้งยังนำผลมาปรับสมดุลสายการผลิต (Line Balancing) ให้ทันต่อเป้าหมายในแต่ละชั่วโมงได้แบบ Real Time และผลที่ได้ตามมาอีกสิ่งหนึ่งก็คือ สามารถคำนวณค่าจ้างแรงงานพนักงานตามรายชิ้นงานหรือรายชั่วโมงได้ คลังสินค้า การใช้ RFID ภายในกระบวนการรับ-ส่งสินค้า กระบวนการรับ-เบิกวัตถุดิบ ซึ่งช่วยลดระยะเวลาการตรวจเช็คสินค้า มีความถูกต้องแม่นยำสูงขึ้น จากการรู้ตำแหน่งการวางสินค้าอัตโนมัติจะมีเสียงเตือนเมื่อมีการวางสินค้าผิดตำแหน่ง ตัวอย่างเช่น คลังสินค้าแห่งหนึ่งได้ติดเครื่องอ่าน RFID พร้อมจอแสดงผลที่รถโฟล์คลิฟต์และติดแท็กไว้ที่พาเลท ซึ่งจะมีการลงทะเบียนข้อมูลไว้ตั้งแต่การรับสินค้าเข้าคลัง เมื่อมีการเคลื่อนย้ายพาเลทจะทราบตำแหน่งการจัดเก็บสินค้าแสดงข้อมูลบนจอภาพทันที จึงช่วยลดระยะเวลาการตรวจสอบและลดต้นทุนด้านแรงงานลงได้อย่างมาก อย่างไรก็ตาม ในการประยุกต์ใช้ RFID ควรมีการศึกษา และทำความเข้าใจระบบการทำงานของเทคโนโลยีนี้ก่อน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในงานด้านโลจิสติกส์ที่มีความเกี่ยวข้องกับทุกฝ่ายตั้งแต่ต้นน้ำจนถึงปลายน้ำ นอกจากนี้ยังควรคำนึงถึงความสามารถด้านการลงทุนในอุปกรณ์ฮาร์ดแวร์ ระบบซอฟต์แวร์ ระบบเครือข่าย และการประมวลผลต่างๆ ให้เหมาะสมกับธุรกิจหรือผลิตภัณฑ์ในปัจจุบัน โดยมีการกำหนดขอบเขตของการใช้งานเพื่อลดปัญหาที่อาจเกิดขึ้นได้ สุดท้ายในการเลือกใช้เทคโนโลยีใดๆ ก็ตาม ไม่จำเป็นต้องลงทุนสูงหรือใหม่ล่าสุดเสมอไป แต่ให้พิจารณาที่ความเหมาะสมกับงานและความพร้อมในธุรกิจ เพื่อให้เกิดความคุ้มค่าสูงสุดต่อองค์กร สำนักโลจิสติกส์ กรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ ได้เล็งเห็นถึงความสำคัญและประโยชน์ของเทคโนโลยี RFID จึงได้ดำเนินโครงการส่งเสริมการปรับกระบวนการโลจิสติกส์ด้วยเทคโนโลยี Application ระบบ RFID เพื่อเตรียมความพร้อมให้กับผู้ประกอบการไทยได้มีความรู้ความเข้าใจและสามารถประยุกต์ใช้ระบบ RFID ในการปรับกระบวนการต่างๆ ด้านโลจิสติกส์ได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยร่วมกับที่ปรึกษาผู้มีความเชี่ยวชาญเฉพาะด้าน RFID เข้าให้คำปรึกษาเชิงลึก ณ สถานประกอบการ วิเคราะห์และออกแบบระบบ พร้อมให้คำปรึกษาในการติดตั้งระบบ RFID จนแล้วเสร็จทั้งกระบวนการ ส่งผลให้สถานประกอบการสามารถลดต้นทุน เวลา และสร้างความน่าเชื่อถือให้กับองค์กร
15 มี.ค. 2019
Industrial Logistics Performance Index..Key Success Factor ตัวชี้วัดประสิทธิภาพด้านโลจิสติกส์..ปัจจัยสู่ความสำเร็จ
Industrial Logistics Performance Index..Key Success Factor ตัวชี้วัดประสิทธิภาพด้านโลจิสติกส์..ปัจจัยสู่ความสำเร็จ การกำหนดตัวชี้วัดความสามารถด้านโลจิสติกส์ถูกจัดทำขึ้นทั้งในระดับสากล ระดับชาติ และระดับองค์กร เช่น ตัวชี้วัดประสิทธิภาพด้านโลจิสติกส์ (Logistic Performance Index: LPI) โดยธนาคารโลก (World Bank) ตัวชี้วัดสมรรถนะของโซ่อุปทานด้วยแบบจำลอง SCOR (Supply Chain Operating Reference Model: SCOR Model) โดยองค์กร Supply Chain Council และตัวชี้วัดประสิทธิภาพด้านโลจิสติกส์ของสถานประกอบการภาคอุตสาหกรรม(Industrial Logistics Performance Index: ILPI) โดยสำนักโลจิสติกส์ กรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ เป็นต้น สิ่งสำคัญของตัวชี้วัดในทุกระดับ คือ ความมีระบบ หรือความมีมาตรฐานอันเป็นจุดเริ่มต้นของการพัฒนาการด้านโลจิสติกส์ ทำให้เกิดการลดต้นทุน ลดเวลา และสร้างความน่าเชื่อถือซึ่งผู้ประกอบการสามารถนำมาประยุกต์ใช้ในการประเมินมิติต่างๆ ของการจัดการโลจิสติกส์และโซ่อุปทานได้ การทำความเข้าใจเกี่ยวกับตัวชี้วัดความสามารถด้านโลจิสติกส์จึงเป็นสิ่งที่สำคัญ นอกจากจะทำให้ทราบถึงจุดแข็งและจุดอ่อนขององค์กรด้านโลจิสติกส์แล้ว ยังทำให้ทราบถึงศักยภาพหรือขีดความสามารถที่แท้จริงของตนเองว่าอยู่ในระดับใดเพื่อการปรับปรุงการดำเนินงานด้านโลจิสติกส์และโซ่อุปทานให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น นำไปสู่การเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันที่ยั่งยืนต่อไป บทความนี้ได้นำเสนอ ตัวชี้วัดประสิทธิภาพด้านโลจิสติกส์ของสถานประกอบการภาคอุตสาหกรรม(Industrial Logistics Performance Index: ILPI) เพื่อให้สถานประกอบการเห็นถึงความสำคัญของการประเมินประสิทธิภาพโลจิสติกส์ของตนเอง และพัฒนาองค์กรสู่เกณฑ์มาตรฐาน ILPI ได้รับการพัฒนาขึ้นโดยสำนักโลจิสติกส์ กรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ เพื่อใช้เป็นเกณฑ์เทียบวัด (Benchmark) ผลการดำเนินงานด้านโลจิสติกส์ของผู้ประกอบในกลุ่มอุตสาหกรรมเดียวกันรวมถึงกลุ่มอุตสาหกรรมอื่น จำนวน 24 กลุ่มอุตสาหกรรม 88 หมวดอุตสาหกรรมย่อย ซึ่งเริ่มดำเนินงานตั้งแต่ปี 2553 เป็นต้นมา เพื่อส่งเสริมให้เกิดการปรับปรุงและพัฒนาองค์กรสู่มาตรฐานด้านโลจิสติกส์ สามารถตอบสนองความต้องการของลูกค้า (Customer Service) ได้ทันเวลาและลดต้นทุนรวมด้านโลจิสติกส์ (Total Logistics Cost) โดยสามารถวัดประสิทธิภาพการดำเนินงานครอบคลุมกิจกรรมด้านโลจิสติกส์ทั้ง 9 กิจกรรม ดังรูปที่ 1 รูปที่ 1 กิจกรรมโลจิสติกส์ การประเมินองค์กรด้วย ILPI ในกิจกรรมโลจิสติกส์ทั้ง 9 กิจกรรม ถูกพิจารณาใน 3 มิติ มีตัวชี้วัดทั้งสิ้น 27 ตัวชี้วัด ตามโครงสร้างดังรูปที่ 2 ซึ่งแต่ละมิติมีแนวทางการประเมินคือ 1. มิติด้านต้นทุน (Cost Dimension) แสดงถึงสัดส่วนต้นทุนของกิจกรรมโลจิสติกส์เปรียบเทียบกับยอดขายประจำปีของกิจการสามารถใช้เป็นแนวทางในการปรับปรุงหรือควบคุมต้นทุนส่วนเกินที่ไม่จำเป็นได้โดยไม่ส่งผลเสียต่อคุณภาพสินค้าหรือการบริการ 2. มิติด้านเวลา (Time Dimension) ประกอบด้วยตัวชี้วัดที่ใช้ข้อมูลระยะเวลาของการเคลื่อนย้ายสินค้าที่อยู่นอกเหนือจากช่วงของกระบวนการผลิต และระยะเวลาการเคลื่อนย้ายของข้อมูลที่เริ่มตั้งแต่การรับข้อมูลและสิ้นสุดที่การส่งมอบข้อมูลให้แก่ลูกค้าหรือผู้ใช้สินค้าหรือบริการลำดับถัดไป 3. มิติด้านความน่าเชื่อถือ (Reliability Dimension) ประกอบด้วยตัวชี้วัดที่ใช้วัดความน่าเชื่อถือเกี่ยวกับการส่งมอบสินค้าและข้อมูล โดยสามารถแบ่งออกเป็น 2 ลักษณะ คือ ตัวชี้วัดด้านการส่งมอบตรงเวลา (On-time) และตัวชี้วัดด้านการส่งมอบครบจำนวน (In-full) จะเห็นได้ว่า ILPI เป็นเสมือนเครื่องมือที่ใช้ในการวัดและเปรียบเทียบ (Benchmarking Tools) ผลการดำเนินงานในมิติของการจัดการโลจิสติกส์และโซ่อุปทานเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีของการเรียนรู้เพื่อพัฒนาองค์กรอย่างต่อเนื่องทำให้เกิดการดำเนินกิจกรรมโลจิสติกส์อย่างมีประสิทธิภาพ รวดเร็ว เชื่อถือได้ และมีต้นทุนที่เหมาะสม รูปที่ 2โครงสร้างตัวชี้วัดประเมินประสิทธิภาพด้านโลจิสติกส์ ค่า ILPI จะมีความแม่นยำจนสามารถใช้เป็นตัวแทนและเป็นมาตรฐานในการเปรียบเทียบทุกระดับได้เมื่อมีการเก็บข้อมูลผลการประเมินในแต่ละตัวชี้วัดในจำนวนมากพอทำให้การกระจายของค่าตัวอย่างดังกล่าวมีแนวโน้มใกล้เคียงกับการแจกแจงแบบปกติ (Normal Distribution) ตามทฤษฎีแนวโน้มเข้าสู่ศูนย์กลาง (Central Limit Theorem) ผู้ประกอบการที่เข้าร่วมโครงการประเมิน ILPI จะก่อให้เกิดประโยชน์ต่อทุกภาคส่วน คือ ทำให้ทราบผลดำเนินงานด้านโลจิสติกส์ขององค์กร และทำให้ค่า ILPI ของกลุ่มอุตสาหกรรมและของประเทศมีความแม่นยำและมีมาตรฐานสามารถเทียบเคียงในระดับสากลได้หากผู้ประกอบการมี “มาตรฐานโลจิสติกส์” เป็นแนวทางในการปฏิบัติงานแล้ว ย่อมนำไปสู่หนทางแห่งความเป็นผู้นำทางด้านโลจิสติกส์และในโซ่อุปทานระดับโลก
15 มี.ค. 2019
การทำเหมืองข้อมูล (Data Mining)
การทำเหมืองข้อมูล (Data Mining) จากบทความใน Forum ฉบับที่แล้ว ได้พูดถึงโลกของข้อมูลและทิศทางการเติบโตของโลกจากการใช้ข้อมูล “Big Data” โดยแสดงให้เห็นว่าบริษัทที่ดำเนินกิจการเกี่ยวกับข้อมูลสารสนเทศ ไม่ว่าจะเป็นส่วน Hardware, Software, Network, Information หรือ Data Managements ล้วนประสบความสำเร็จติดอันดับต้นๆ แต่อย่างไรก็ดีการก้าวเข้าไปสู่ยุค “Big Data” หากจะให้เกิดประโยชน์ได้จริงผู้ใช้จะต้องมีความรู้ความเข้าใจและมีความสามารถทำการวิเคราะห์ข้อมูลที่มีอยู่มากมายนั้น ให้มาเป็นข้อมูลสารสนเทศที่ดีมีประโยชน์ เทคนิคที่ได้รับความนิยมในปัจจุบันคือการทำเหมืองข้อมูล (Data Mining) ซึ่งจะเน้นการจัดการข้อมูลที่ถูกต้อง จัดกลุ่มค้นหาความสัมพันธ์ของกลุ่มข้อมูล และนำมาสร้างแบบจำลองเพื่อทำนายสิ่งที่จะเกิดขึ้นในอนาคต การทำเหมืองข้อมูล (Data Mining) คือ การค้นหาข้อมูลที่มีประโยชน์จากแหล่งข้อมูลที่มีเป็นจำนวนมากมายมหาศาล เพื่อดึงข้อมูลที่มีประโยชน์มาทำการวิเคราะห์ค้นหารูปแบบหรือความสัมพันธ์ที่เกิดในฐานข้อมูล และจัดทำเป็นสารสนเทศเพื่อใช้ในการวางแผนบริหารจัดการธุรกิจ โดยการแยกข้อมูลที่มีประโยชน์ออกมาใช้งานเปรียบเทียบคล้ายกับการทำเหมืองแร่ ที่จะต้องทำการแยกเศษหินดินทรายที่ไม่มีค่าและมีปริมาณมากออกจากแร่ที่มีมูลค่ามากและมักจะมีปริมาณน้อย ขั้นตอนการทำเหมืองข้อมูลที่นิยมใช้ในปัจจุบันมีหลายแบบ แต่ที่จะนำมากล่าวคือวิธี Cross-Industry Standard Process for Data Mining (CRISP-DM) ที่มีการพัฒนาเป็น Workflow มาตรฐานสำหรับการทำเหมืองข้อมูล ประกอบด้วย 6 ขั้นตอนคือ 1. Business Understanding เน้นไปที่การทำความเข้าใจในงาน ระบุโอกาส และหาปัญหาที่จะเกิดขึ้นกับธุรกิจ กำหนดขอบเขตของข้อมูลที่จะนำวิเคราะห์หาความได้เปรียบทางการตลาดและแก้ไขปัญหาองค์กร ซึ่งต้องสามารถระบุผลลัพธ์ที่มีได้ 2. Data Understanding ทำความเข้าใจข้อมูลโดยการรวบรวมข้อมูลที่เกี่ยวข้อง คัดเลือกให้เหลือเพียงข้อมูลที่มีความถูกต้องและสำคัญต่องานมาทำการวิเคราะห์ 3. Data Preparation ทำการแปลงข้อมูล (Raw Data) ให้กลายเป็นข้อมูลที่สามารถนำมาช่วยในการวิเคราะห์ต่อไปได้ ขั้นตอนนี้จะใช้เวลามากที่สุดในทุกขั้นตอน เพราะคุณภาพของงานที่ได้จะดีเพียงใดขึ้นอยู่กับคุณภาพข้อมูลที่จัดเตรียมในขั้นนี้ การเตรียมข้อมูลประกอบด้วย การคัดเลือกข้อมูล การกลั่นกรองข้อมูล และแปลงรูปแบบของข้อมูล 4. Modeling การสร้างแบบจำลองเพื่อวิเคราะห์ข้อมูลที่ได้จากขั้นตอนที่ 3 พร้อมทดสอบผลลัพธ์แบบจำลองเพื่อให้ได้คำตอบที่ดีที่สุด บางครั้งอาจมีการย้อนกลับไปปรับการเตรียมข้อมูลเพื่อให้ได้แบบจำลองที่เหมาะสมที่สุด 5. Evaluation การประเมินผลลัพธ์ที่ได้ก่อนที่จะนำไปใช้จริง ว่าตรงกับวัตถุประสงค์หรือเป้าหมายที่ได้ตั้งไว้หรือมีความน่าเชื่อถือมากน้อยเพียงใด หากไม่ได้ผลลัพธ์ตามวัตถุประสงค์ต้องย้อนกลับไปปรับปรุงแก้ไขการดำเนินงานในขั้นตอนก่อนหน้า 6. Deployment การนำเอาข้อมูลที่เป็นผลลัพธ์จากทั้งหมด มาลองปฏิบัติจริงกับธุรกิจในองค์กร โดยแปลงแนวคิดที่มีให้เกิดเป็นสารสนเทศเพื่อให้ผู้บริหารหรือนักการตลาดเข้าใจสามารถนำไปใช้ประโยชน์ในทางธุรกิจได้จริง และติดตามประเมินผลที่ได้เพื่อนำกลับไปปรับปรุง Data Mining ต่อเนื่องต่อไป ซึ่งการประเมินผลสามารถทำได้หลายทางเช่น วัดจากส่วนแบ่งของตลาด วัดจากปริมาณลูกค้า หรือ วัดจากกำไรสุทธิ เป็นต้น จากขั้นตอนที่กล่าวมาคือการทำเหมืองข้อมูลในงานระบบทางธุรกิจ เป็นกระบวนการทางสถิติที่เน้นการจัดการข้อมูลที่มีจำนวนมากในหลากหลายรูปแบบ คัดเลือกเฉพาะข้อมูลที่สำคัญและจำเป็นต้องนำมาใช้งาน ทำการกำหนดรูปแบบจัดแบ่งกลุ่มลำดับความสำคัญ จากนั้นจึงจะเริ่มค้นหารูปแบบแนวทางและความสัมพันธ์ที่ซ่อนอยู่ในชุดข้อมูลนั้นโดยแต่ละขั้นตอนจะอาศัยผลลัพธ์จากอีกขั้นตอนหนึ่งกลายเป็นข้อมูลให้ขั้นตอนต่อไป การทำเหมืองข้อมูลจะช่วยเปลี่ยนข้อมูลดิบให้เป็นสารสนเทศที่มีประโยชน์ การระบุแหล่งข้อมูลที่ถูกต้องจึงเป็นสิ่งที่สำคัญต่อผลลัพธ์ที่ได้จากการวิเคราะห์ การทำเหมืองข้อมูลจำเป็นต้องอาศัยบุคลากรจากหลายฝ่ายและต้องอาศัยความรู้จำนวนมากถึงจะได้รับประโยชน์อย่างแท้จริง เพราะสิ่งที่ได้เป็นเพียงตัวเลขและข้อมูล ที่อาจจะนำไปใช้ประโยชน์ได้หรือใช้ประโยชน์อะไรไม่ได้เลยก็เป็นได้ ผู้ที่ศึกษาการทำเหมืองข้อมูลจึงควรมีความรู้รอบด้านและต้องติดต่อกับทุก ๆ ฝ่าย เพื่อให้เข้าใจถึงขอบเขตของปัญหาโดยแท้จริงก่อน เพื่อให้การทำเหมืองข้อมูลเกิดประโยชน์อย่างแท้จริง
15 มี.ค. 2019
การอบรมหลักสูตร "การประเมินและพัฒนาศักยภาพองค์กรด้านโลจิสติกส์และโซ่อุปทาน (จำนวน12 วัน) "
การอบรมหลักสูตร "การประเมินและพัฒนาศักยภาพองค์กรด้านโลจิสติกส์และโซ่อุปทาน (จำนวน12 วัน)" ณ โรงแรมอีสติน มักกะสัน กรุงเทพมหานคร โดยมีนายเจริญภพ พรวิริยางกูล ผู้อำนวยการกลุ่มส่งเสริมโลจิสติกส์องค์กร เป็นผู้มอบใบประกาศนียบัตร มีผู้สำเร็จได้รับใบประกาศศนีย์บัตร 34 คน
11 มี.ค. 2019
ILPI
ดาวน์โหลดที่นี่
06 มี.ค. 2019
ขอเชิญสมัครเข้ารับการคัดเลือก รางวัลอุตสาหกรรมดีเด่น ประเภทการจัดการโลจิสติกส์และโซ่อุปทาน
ขอเชิญท่านผู้ประกอบการอุตสาหกรรมภาคการผลิต สมัครเข้ารับการคัดเลือก "รางวัลอุตสาหกรรมดีเด่น ประเภทการจัดการโลจิสติกส์และโซ่อุปทาน ประจำปี 2562" "The Prime Minister's Industry Award 2019" คุณสมบัติทั่วไป 1. มีใบอนุญาตประกอบกิจการโรงงานตาม พ.ร.บ.โรงงาน พ.ศ. 2535 หรือมีใบรับรองการเป็นผู้ประกอบอุตสาหกรรมตาม พ.ร.บ. นิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย พ.ศ. 2550 ที่ หรือมีประทานบัตร หรือใบอนุญาตแต่งแร่ หรือใบอนุญาตประกอบโลหกรรมตาม พ.ร.บ. แร่ พ.ศ. 2560 ทั้งนี้ ต้องเป็นสถานประกอบการที่มีธุรกิจหลักเป็นการผลิต 2. สถานประกอบการไม่ได้กระทำผิดกฎหมายใด ๆ และไม่ได้ตกเป็นข่าวในทางเสื่อมเสีย ไม่เคยถูกร้องเรียนและไม่เกิดอุบัติเหตุถึงขั้นเสียชีวิตในระยะ 3 ปี ย้อนหลัง ขั้นตอนการสมัครและดำเนินงาน 1. กรอกใบสมัคร >> Click เพื่อ Download ใบสมัคร << 2. กรอกข้อมูลหลักเกณฑ์การพิจารณารางวัลอุตสาหกรรมดีเด่น และจัดทํารายงานเพื่ออธิบายยกตัวอย่างที่เกี่ยวข้องกับหลักเกณฑ์ประกอบ ความยาวไม่เกิน 120 หน้า จำนวน 15 ชุด >> Click เพื่อ Download หลักเกณฑ์ << 3. กรอก "แบบฟอร์มประเมินประสิทธิภาพโลจิสติกส์"จำนวน 1 ชุด >> Click เพื่อ Download ตัวชี้วัดฯ << 4. จัดส่งใบสมัครเอกสารประกอบ (หลักเกณฑ์ฯ+รายงาน+ข้อมูลตัวชี้วัดฯ) มาที่ กองโลจิสติกส์ กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม ถนนพระรามที่ 6 แขวงทุ่งพญาไท เขตราชเทวี กรุงเทพฯ 10400 ภายในวันที่ 30 เม.ย. 2562 5. ซ้อมการนำเสนอแก่ จนท. กองโลจิสติกส์ วันที่ 7-8 พฤษภาคม 2562 (ขึ้นอยู่กับผู้สมัครว่าสนใจมาซ้อมหรือไม่) 6. นำเสนอผลการดำเนินงานแก่คณะกรรมการ (ตรวจประเมินรอบที่ 1) วันที่ 27-31 พฤษภาคม 2562 7. เข้าตรวจประเมินการดำเนินงาน ณ สถานประกอบการ (ตรวจประเมินรอบที่ 2) เดือนมิถุนายน 2562 หมายเหตุ** ท่านสามารถส่งสำเนาใบสมัครมาทาง logistics.award@gmail.com และจัดส่งฉบับจริงและเอกสารแนบมาภายหลังได้ สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติม กองโลจิสติกส์ กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม โทร. 02 354 3173, 083 689 3393, 063 197 1032 e-mail: logistics.award@gmail.com
04 มี.ค. 2019
ตารางกิจกรรมการสัมมนา Logistics Showcase’62
ตารางกิจกรรมการสัมมนา Logistics Showcase&rsquo;62 ครั้งที่ 1 วันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2562 โรงแรม เดอะ เบอร์เคลีย์ โฮเต็ล ประตูน้ำ กรุงเทพฯ ครั้งที่ 2 เดือน กุมภาพันธ์ 2562 จ.เชียงราย ครั้งที่ 3 เดือน พฤษภาคม 2562 จ.อุดรธานี ครั้งที่ 4 เดือน มิถุนายน 2562 จ.สงขลา ครั้งทีี่ 5 เดือน กันยายน 2562 กรุงเทพฯ หมายเหตุ : กำหนดการอาจมีการเปลี่ยนแปลงตามความเหมาะสม สามารถติดตามข่าวการอบรมสัมมนาในแต่ละครั้งได้ที่ข่าวประชาสัมพันธ์หน้าหลักของเว็บไซต์ หรือติดต่อ คุณภิญญาพัชญ์ ทัพพะรังสี และคุณปิยะพร อริยขจร 063 213 2097 กองโลจิสติกส์ กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม ถ.พระรามที่6 ราชเทวี กทม.
04 มี.ค. 2019
กองโลจิสติกส์ขอเชิญท่านผู้ประกอบการและพนักงาน เข้าร่วมสัมมนาเชิงปฏิบัติการ หลักสูตร Step by Step ครบเครื่องเรื่องควรรู้ นำเข้า+ส่งออก สำหรับ SMEs
กองโลจิสติกส์ขอเชิญท่านผู้ประกอบการและพนักงาน เข้าร่วมสัมมนาเชิงปฏิบัติการหลักสูตร Step by Step ครบเครื่องเรื่องควรรู้ นำเข้า+ส่งออก สำหรับ SMEsวันที่ 26-28 มี.ค 62 เวลา 08.30&ndash;16.30 น.ณ โรงแรมอิสติน มักกะสันกรุงเทพฯ จัดโดย กองโลจิสติกส์ กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม เข้าร่วมอบรม ลงทะเบียนออนไลน์ คลิ๊กกกกก ...https://docs.google.com/forms/d/e/1FAIpQLSfo6A3lCxGDM5B78XOK_OMqYuwFDHWR9KjGorME7cOj85oX6Q/formResponse
26 ก.พ. 2019
วันที่​ 25​ ก.พ​ 62 นายสรศักดิ์​ สมเจษ ผู้อำนวยการกลุ่มมาตรฐานและนวัตกรรม​ ให้เกียรติเป็นประธานเปิดการอบรมเชิงปฏิบัติการ "PM Award Decoding: ทำอย่างไรให้ได้รางวัลอุตสาหกรรมดีเด่น" ณ ห้องหลานหลวง โรงแรมรอยัลปริ๊นเซส หลานหลวง กรุงเทพฯ
วันที่ 25 ก.พ 62 นายสรศักดิ์ สมเจษ ผู้อำนวยการกลุ่มมาตรฐานและนวัตกรรม ให้เกียรติเป็นประธานเปิดการอบรมเชิงปฏิบัติการ "PM Award Decoding: ทำอย่างไรให้ได้รางวัลอุตสาหกรรมดีเด่น" ณ ห้องหลานหลวง โรงแรมรอยัลปริ๊นเซส หลานหลวง กรุงเทพฯ โดยการอบรมมีผู้เข้าร่วม 50 คน
26 ก.พ. 2019