ณัฏฐพิชา จันทร์กระจ่าง
นักวิชาการอุตสาหกรรมปฏิบัติการ
RFID เทคโนโลยีที่อยู่ใกล้ตัว
ในอนาคตอันใกล้นี้การใช้ชีวิตประจำวันของเราอาจเปลี่ยนไปอย่างมาก หากอุปกรณ์สิ่งของหลายๆ สิ่งบนโลกนี้ สามารถบอกเราได้ว่าตัวเองเป็นอะไร เคยผ่านกระบวนการผลิตมาอย่างไร และตอนนี้จัดเก็บอยู่ ณ ตำแหน่งใด ซึ่งแนวคิดนี้เป็นหลักการของเทคโนโลยี RFID (Radio Frequency Identification) ที่กำลังได้รับความสนใจและมีแนวโน้มการใช้งานมากขึ้นในการดำเนินธุรกิจ เพื่อควบคุมหรืออำนวยความสะดวกให้รวดเร็วและถูกต้อง เช่น เหรียญโดยสารรถไฟฟ้าใต้ดิน หรือบัตรผ่านทางด่วน Easy pass เป็นต้น
เทคโนโลยี RFID ปรากฏครั้งแรกในทางการทหารของอังกฤษ ซึ่งถูกนำมาใช้ในช่วงปลายของสงครามโลกครั้งที่ 2 ในการระบุสถานะเพื่อแยกแยะเครื่องบินที่เป็นของประเทศอังกฤษหรือว่าเป็นเครื่องบินของศัตรู หลังจากนั้นถูกนำมาใช้ทางการปศุสัตว์เพื่อติดตามตัวสัตว์ การใช้เป็นบัตรผ่านเข้า-ออกอาคารสถานที่เพื่อรักษาความปลอดภัย จนมาถึงการประยุกต์ใช้ในอุตสาหกรรม ในระบบโลจิสติกส์และโซ่อุปทาน
มารู้จักกับหลักการทำงานของเทคโนโลยี RFID
RFID ย่อมาจาก Radio Frequency Identification เป็นเทคโนโลยีการระบุตัวตนหรือตำแหน่งของวัตถุ เช่น คน สัตว์ หรือสิ่งของ โดยใช้คลื่นความถี่วิทยุเป็นตัวเหนี่ยวนำแทนการสัมผัส มีลักษณะเป็นป้ายอิเล็กทรอนิกส์ที่สามารถอ่านค่าได้ในระยะห่าง โดยไม่ต้องเห็นแท็กหรือแท็กซ่อนอยู่ภายในวัตถุก็สามารถอ่านค่าได้ เพียงแค่อยู่ในบริเวณที่สามารถรับคลื่นวิทยุได้ และการอ่านแท็กยังสามารถอ่านได้หลายๆแท็กในเวลาเดียวกัน มีองค์ประกอบหลัก คือ แท็ก (Tag) หรือ Transponders เครื่องอ่าน (Reader) และ ซอฟต์แวร์ สามารถนำแท็กไปฝังหรือติดกับวัตถุต่างๆ โดยมีการบันทึกและติดตามข้อมูลว่า คืออะไร ผลิตมาจากที่ไหน ใครเป็นผู้ผลิต วันเดือนปีที่ผลิต ประกอบด้วยชิ้นส่วนอะไรบ้าง แต่ละชิ้นมาจากที่ไหน ซึ่งรวมถึงตำแหน่งที่ตั้งของวัตถุนั้นๆ ด้วย
ตัวอย่างการนำ RFID มาประยุกต์ใช้ มีดังนี้
อุตสาหกรรมการผลิต
RFID ถูกนำมาช่วยตรวจสอบเรื่องคุณภาพ เวลาการผลิต และการคิดค่าแรงพนักงาน เช่น ในธุรกิจการตัดเย็บเสื้อผ้านำ RFID มาใช้ตรวจสอบเวลาในการผลิตของแต่ละจุดการตัดเย็บ เมื่อเปลี่ยนขั้นตอนการทำงานจะนำแท็ก RFID ไปอ่านในทุกๆ จุดที่เกิดการเปลี่ยนสถานะงาน ทำให้ทราบว่าในแต่ละขั้นตอนมีเวลาการผลิตเท่าไร สามารถควบคุมเวลาการผลิตในขณะนั้นได้ ทั้งยังนำผลมาปรับสมดุลสายการผลิต (Line Balancing) ให้ทันต่อเป้าหมายในแต่ละชั่วโมงได้แบบ Real Time และผลที่ได้ตามมาอีกสิ่งหนึ่งก็คือ สามารถคำนวณค่าจ้างแรงงานพนักงานตามรายชิ้นงานหรือรายชั่วโมงได้
คลังสินค้า
การใช้ RFID ภายในกระบวนการรับ-ส่งสินค้า กระบวนการรับ-เบิกวัตถุดิบ ซึ่งช่วยลดระยะเวลาการตรวจเช็คสินค้า มีความถูกต้องแม่นยำสูงขึ้น จากการรู้ตำแหน่งการวางสินค้าอัตโนมัติจะมีเสียงเตือนเมื่อมีการวางสินค้าผิดตำแหน่ง ตัวอย่างเช่น คลังสินค้าแห่งหนึ่งได้ติดเครื่องอ่าน RFID พร้อมจอแสดงผลที่รถโฟล์คลิฟต์และติดแท็กไว้ที่พาเลท ซึ่งจะมีการลงทะเบียนข้อมูลไว้ตั้งแต่การรับสินค้าเข้าคลัง เมื่อมีการเคลื่อนย้ายพาเลทจะทราบตำแหน่งการจัดเก็บสินค้าแสดงข้อมูลบนจอภาพทันที จึงช่วยลดระยะเวลาการตรวจสอบและลดต้นทุนด้านแรงงานลงได้อย่างมาก
อย่างไรก็ตาม ในการประยุกต์ใช้ RFID ควรมีการศึกษา และทำความเข้าใจระบบการทำงานของเทคโนโลยีนี้ก่อน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในงานด้านโลจิสติกส์ที่มีความเกี่ยวข้องกับทุกฝ่ายตั้งแต่ต้นน้ำจนถึงปลายน้ำ นอกจากนี้ยังควรคำนึงถึงความสามารถด้านการลงทุนในอุปกรณ์ฮาร์ดแวร์ ระบบซอฟต์แวร์ ระบบเครือข่าย และการประมวลผลต่างๆ ให้เหมาะสมกับธุรกิจหรือผลิตภัณฑ์ในปัจจุบัน โดยมีการกำหนดขอบเขตของการใช้งานเพื่อลดปัญหาที่อาจเกิดขึ้นได้ สุดท้ายในการเลือกใช้เทคโนโลยีใดๆ ก็ตาม ไม่จำเป็นต้องลงทุนสูงหรือใหม่ล่าสุดเสมอไป แต่ให้พิจารณาที่ความเหมาะสมกับงานและความพร้อมในธุรกิจ เพื่อให้เกิดความคุ้มค่าสูงสุดต่อองค์กร
สำนักโลจิสติกส์ กรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ ได้เล็งเห็นถึงความสำคัญและประโยชน์ของเทคโนโลยี RFID จึงได้ดำเนินโครงการส่งเสริมการปรับกระบวนการโลจิสติกส์ด้วยเทคโนโลยี Application ระบบ RFID เพื่อเตรียมความพร้อมให้กับผู้ประกอบการไทยได้มีความรู้ความเข้าใจและสามารถประยุกต์ใช้ระบบ RFID ในการปรับกระบวนการต่างๆ ด้านโลจิสติกส์ได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยร่วมกับที่ปรึกษาผู้มีความเชี่ยวชาญเฉพาะด้าน RFID เข้าให้คำปรึกษาเชิงลึก ณ สถานประกอบการ วิเคราะห์และออกแบบระบบ พร้อมให้คำปรึกษาในการติดตั้งระบบ RFID จนแล้วเสร็จทั้งกระบวนการ ส่งผลให้สถานประกอบการสามารถลดต้นทุน เวลา และสร้างความน่าเชื่อถือให้กับองค์กร