การจัดการซัพพลายเชนอย่างยั่งยืนในยุคประเทศไทย 4.0


15 มี.ค. 2019    รัตนทัต    19

  ดร.วัชรพจน์ ทรัพย์สงวนบุญ

บัณฑิตวิทยาลัยการจัดการและนวัตกรรม

มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี

การจัดการซัพพลายเชนอย่างยั่งยืนในยุคประเทศไทย 4.0

          ภายใต้ยุทธศาสตร์ประเทศไทย 4.0 ที่จะพัฒนาประเทศสู่ความ มั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืน ในรูปแบบ “ทำน้อย ได้มาก” โจทย์ที่สำคัญของภาคอุตสาหกรรม คือ จะทำอย่างไรให้ธุรกิจประสบความสำเร็จอย่างยั่งยืน ปัจจุบันหน่วยธุรกิจต่างๆ ในซัพพลายเชนตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ เริ่มมีการนำกลยุทธ์ใหม่ที่เรียกว่า Sustainable Supply Chain Management หรือ การจัดการซัพพลายเชนอย่างยั่งยืน มาประยุกต์ใช้เพื่อสร้างความสามารถในการแข่งขันตลอดซัพพลายเชน สามารถตอบสนองพฤติกรรมผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงไป โดยปัจจุบันพบปัจจัยที่ส่งผลกระทบต่อการซื้อสินค้า คือ ผู้บริโภคไม่ได้ให้ความสำคัญกับราคาถูกแต่เพียงอย่างเดียว แต่ลูกค้าเริ่มมีจิตสำนึกต่อความรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อมมากขึ้น ผู้ประกอบการจึงจำเป็นต้องปรับตัวเพื่อตอบสนองความต้องการของลูกค้า

          จากการเปลี่ยนแปลงของพฤติกรรมผู้บริโภคที่กล่าวมาข้างต้น การจัดการซัพพลายเชนอย่างยั่งยืน คือ การบริหารกิจกรรมต่างๆ ตั้งแต่แหล่งวัตถุดิบไปจนถึงแหล่งบริโภคเพื่อตอบสนองความต้องการของลูกค้า โดยคำนึงถึงผลกระทบต่อความต้องการของคนรุ่นต่อไปในอนาคต ดังนั้น ธุรกิจจำเป็นที่ต้องให้ความสำคัญกับการดำเนินกิจกรรมต่างๆ ในซัพพลายเชน อาทิ การพัฒนาผลิตภัณฑ์ การจัดหาวัตถุดิบ การผลิต รวมทั้งกิจกรรมโลจิสติกส์อื่นๆ ไม่เพียงแต่มีประสิทธิผลและประสิทธิภาพที่สามารถส่งมอบคุณค่าให้กับลูกค้าและสร้างกำไรให้กับธุรกิจแต่เพียงอย่างเดียวอีกต่อไป แต่ธุรกิจจำเป็นที่จะต้องคำนึงถึงผลกระทบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อมจากการดำเนินกิจกรรมต่างๆ ที่กล่าวมาข้างต้น เพื่อเป็นการต่อยอดความคิดจากการจัดการซัพพลายเชนในอดีต โดยมุ่งหวังให้เกิดประโยชน์กับองค์กรทั้งในเรื่องการเพิ่มกำไร การใช้สินทรัพย์อย่างคุ้มค่า มุ่งหวังในการลดความเสี่ยงที่อาจจะเกิดขึ้น ปรับตัวให้เข้ากับนวัตกรรมที่กำลังเปลี่ยนแปลง โดยต้องพัฒนาและปรับปรุงองค์กรอย่างต่อเนื่อง อีกทั้งการมีชื่อเสียงของธุรกิจให้เป็นที่ยอมรับของลูกค้า 

          หากธุรกิจต้องการที่จะประยุกต์หลักการการจัดการอย่างยั่งยืน จำเป็นที่ต้องพิจารณา 3 มุมมอง ได้แก่ เศรษฐกิจ (Economic) สิ่งแวดล้อม (Environment) และสังคม (Social) เริ่มจากการกำหนดวัตถุประสงค์ให้ชัดเจนตามแนวคิดของ Cetinkayaet al. (2011) ในเชิงสังคม หน่วยธุรกิจต่างๆ ในซัพพลายเชนต้องให้ความสำคัญกับแนวทางในการดูแลสุขภาพและความปลอดภัย รวมทั้งสวัสดิภาพของพนักงาน คู่ค้า รวมไปถึงลูกค้า โดยให้เกิดผลกระทบเชิงลบต่อสังคมให้น้อยที่สุด ในเชิงเศรษฐกิจ ธุรกิจอาจจะกำหนดเป้าหมายในเรื่องรายได้ ต้นทุน กำไร รวมไปถึงคุณภาพของสินค้าและบริการ ประสิทธิภาพ และความสามารถในการตอบสนองความต้องการของลูกค้า ในเชิงของสิ่งแวดล้อม ธุรกิจจำเป็นต้องคำนึงการลดผลกระทบที่จะเกิดจากกิจกรรมต่างๆ ในซัพพลายเชน เช่น การลดปริมาณมลพิษที่จะปล่อยออกสู่สิ่งแวดล้อม การใช้ทรัพยากรธรรมชาติให้เกิดความคุ้มค่าสูงสุด อีกทั้งการลดของเสีย และส่งเสริมการนำกลับมาใช้ใหม่ (recycle)

          เมื่อธุรกิจสามารถกำหนดเป้าหมายเพื่อตอบโจทย์การจัดการซัพพลายเชนอย่างยั่งยืนแล้ว ธุรกิจจะต้องปรับแนวทางการทำงาน เช่น ในอดีตเคยจัดซื้อด้วยวิธีการเจรจาต่อรองเพื่อให้มีต้นทุนการซื้อต่ำสุด ซึ่งการจัดซื้อดังกล่าวอาจจะเป็นการซื้อจากผู้ขายที่อาจสร้างผลกระทบเชิงลบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม เนื่องจากผู้ขายต้องหาวิธีการที่ทำให้ต้นทุนของสินค้าต่ำสุด เพื่อให้ขายสินค้าในราคาถูกให้กับลูกค้าได้ ลูกค้าโดยเฉพาะผู้บริโภคจึงมีส่วนสำคัญในการผลักดันให้เกิดการจัดการซัพพลายเชนอย่างยั่งยืน หากผู้บริโภคมีความรับผิดชอบต่อสังคมก็จะเลือกซื้อสินค้าที่สร้างผลกระทบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อมน้อยที่สุด ทำให้หน่วยธุรกิจต่างๆ ในซัพพลายเชนตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำจำเป็นต้องปรับตัวให้สามารถสนองตอบความต้องการของลูกค้า ส่งผลให้ซัพพลายเชนมีความยั่งยืนในที่สุด

          สำนักโลจิติกส์ กรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ ให้ความสำคัญของการพัฒนาอุตสาหกรรมอย่างยั่งยืน จึงได้มอบหมายให้บัณฑิตวิทยาลัยการจัดการและนวัตกรรม มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี จัดการอบรมในหลักสูตร “การจัดการซัพพลายเชนอย่างยั่งยืน” ตามโครงการสร้างนักโลจิสติกส์อุตสาหกรรมมืออาชีพ โดยผู้ที่ได้รับคัดเลือกให้เข้ารับการอบรมจะได้รับสนับสนุนทุนการอบรมจากสำนักโลจิสติกส์มากกว่าร้อยละ 60 ผู้สนใจสามารถดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ www.logistics.kmutt.ac.th

เอกสารอ้างอิง:

Cetinkaya, B., Cuthbertson, R., Ewer, G., Klaas-Wissing, T., Piorowicz, W. and Tyssen, C. The need for sustainable supply chain management. In Cuthbertson, R. (Ed.) Sustainable Supply Chain Management.Springer. London, 2011.