ผศ.ดร.ประมวล สุธีจารุวัฒน จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
และคณะที่ปรึกษาโครงการฯ
การพัฒนาอุตสาหกรรมสนับสนุนการเป็นศูนย์กลางโลจิสติกส์
รัฐบาลได้กำหนดตำแหน่งยุทธศาสตร์ของประเทศให้มีบทบาทเป็นศูนย์กลางธุรกรรมการค้าและบริการของกลุ่มประเทศลุ่มแม่น้ำโขง และเป็นประตูการค้าสู่ตลาดเอเชีย (Trade and Service Hub of GMS, and Gateway to Asia) รวมถึงการเป็นศูนย์กลางด้านโลจิสติกส์ (Logistics Hub) ในแผนยุทธศาสตร์การพัฒนาระบบโลจิสติกส์ของประเทศไทย ฉบับที่ 2 (พ.ศ. 2556-2560) เพื่อสร้างความเข้มแข็งให้กับผู้ประกอบการไทยในกลุ่มอุตสาหกรรมสนับสนุนภาคการขนส่งและโครงสร้างพื้นฐานอย่างยั่งยืนเป็นรูปธรรม
สำนักโลจิสติกส์ ให้ความสำคัญกับการส่งเสริมอุตสาหกรรมสนับสนุนการเป็นศูนย์กลางโลจิสติกส์ของประเทศไทย จึงจัดทำ “โครงการเสริมสร้างขีดความสามารถของอุตสาหกรรมสนับสนุนการเป็นศูนย์กลางโลจิสติกส์ (Logistics Hub) เพื่อการบริการที่ยั่งยืน” โดยสำรวจ ศึกษา และวิเคราะห์ในกลุ่มอุตสาหกรรมสนับสนุนการขนส่งและโครงการพื้นฐาน 3 กลุ่ม คือ กลุ่มอุตสาหกรรมสนับสนุนการขนส่งสินค้าด้วยรถบรรทุก กลุ่มอุตสาหกรรมรถไฟ และกลุ่มอุตสาหกรรมต่อเรือและซ่อมเรือ เพื่อกำหนดแผนงานและแนวทาง (Roadmap) การพัฒนาที่เหมาะสม ดังนี้
กลุ่มอุตสาหกรรมสนับสนุนการขนส่งสินค้าด้วยรถบรรทุก
กลุ่มผู้ประกอบการผลิตรถบรรทุกและผู้ผลิตชิ้นส่วนรถบรรทุก ให้ความสำคัญกับอุตสาหกรรมซ่อมบำรุงรถบรรทุกและเห็นว่าควรได้รับการส่งเสริมมากที่สุด เนื่องจากต้นทุนเกิดจากกิจกรรมการซ่อมบำรุงเป็นส่วนใหญ่และควบคุมได้ยาก อีกทั้งการเข้ารับบริการซ่อมบำรุงจากศูนย์มีค่าใช้จ่ายสูง ดังนั้น ผู้ประกอบการขนส่งที่มีรถบรรทุกเป็นจำนวนมากจึงนิยมเปิดศูนย์ซ่อมของตัวเอง บางรายอาจเลือกใช้บริการจากผู้รับเหมาช่วงการซ่อมบำรุง หรือร้านซ่อมรถรายย่อยอื่นๆ ซึ่งประสบปัญหาการซ่อมรถที่ไม่มีมาตรฐาน อันเนื่องมาจากขาดแคลนช่างฝีมือ ช่างฝีมือเปลี่ยนงานบ่อยเนื่องจากเงินเดือนน้อย ขาดมาตรฐานอู่ซ่อมบำรุง ขาดแคลนอะไหล่ ท้ายที่สุดกลายเป็นสาเหตุของอุบัติเหตุบนท้องถนน ดังนั้น แนวทางในการส่งเสริมอุตสาหกรรมสนับสนุนการขนส่งด้วยรถบรรทุก จึงต้องมุ่งไปในทิศทางที่ทำให้เกิดมาตรฐานอู่ซ่อมบำรุง มาตรฐานช่างฝีมือ เพิ่มจำนวนช่างที่มีคุณภาพให้มีมากขึ้น สร้างเส้นทางอาชีพช่างฝีมือที่ชัดเจน และให้มีรายได้ที่สมเหตุสมผล ตลอดจนการจัดการอะไหล่ให้มีเพียงพอ
กลุ่มอุตสาหกรรมรถไฟ
ปริมาณความต้องการใช้รถไฟในประเทศไทยแบ่งได้เป็น 3 กลุ่ม คือ (1) รถไฟในกลุ่มระบบขนส่งระหว่างเมืองของการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) ประกอบด้วยรถจักรดีเซลไฟฟ้า รถโดยสาร รถดีเซลราง และรถสินค้า (2) รถไฟฟ้าขนส่งมวลชนภายในเมือง ประกอบด้วย รถไฟฟ้าที่ให้บริการอยู่ในบริเวณกรุงเทพมหานครและปริมณฑล (3) รถไฟฟ้าโครงการเชื่อมต่อสนามบินสุวรรณภูมิ หรือแอร์พอร์ตลิงค์ ที่มีปริมาณความต้องการใช้เป็นจำนวนมาก ซึ่งที่ผ่านมามีการจัดหาแบบแยกการประมูลเป็นรายสาย รายโครงการ ตามกระบวนการจัดซื้อที่ดำเนินการโดยกระทรวงคมนาคม ทำให้ถูกแบ่งออกเป็นส่วนย่อยๆ จนทำให้ไม่เกิดความคุ้มค่าในการส่งเสริมให้มีการผลิตชิ้นส่วนหรือแม้แต่การประกอบตู้และขบวนรถไฟฟ้าภายในประเทศไทย ดังนั้น การส่งเสริมจึงควรมุ่งเน้นไปที่การกำหนดวิธีการจัดซื้อ (ซึ่งเป็นการจัดซื้อโดยรัฐบาล) ให้เอื้อต่อการพัฒนาอุตสาหกรรมการผลิตภายในประเทศ
กลุ่มอุตสาหกรรมต่อเรือและซ่อมเรือ
ขีดความสามารถของอุตสาหกรรมต่อเรือและซ่อมเรือในประเทศไทยนับตั้งแต่ พ.ศ.2550 เป็นต้นมา พบว่า อุตสาหกรรมต่อเรือและซ่อมเรือของไทยมิได้ด้อยไปกว่าต่างประเทศ หากแต่มีข้อด้อยที่สำคัญเชิงการบริหารจัดการ 3 ประการ คือ (1) ปัญหาการบริหารความต้องการที่แตกต่างกันจากผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย กล่าวคือ กลุ่มเจ้าของเรือให้ความสำคัญกับเรื่อง ราคา (ถูก) ระยะเวลาส่งมอบตรงต่อเวลา (เร็ว) และคุณภาพ (ดี) แต่มักประสบปัญหาเมื่อต้องสั่งซื้อเรือจากผู้ผลิตในประเทศไทย ทำให้กลุ่มเจ้าของเรือนิยมสั่งซื้อเรือจากต่างประเทศ (2) ปัญหารูปแบบการดำเนินธุรกิจ ตลอดจนความร่วมมือระหว่างผู้ประกอบการด้วยกันในลักษณะการบริหารห่วงโซ่อุปทาน (3) ปัญหาการส่งเสริมขีดความสามารถในการผลิตของอุตสาหกรรมในประเทศผ่านกลไกสนับสนุนของรัฐ ดังนั้น แนวทางในการส่งเสริมอุตสาหกรรมต่อเรือต้องนำปริมาณความต้องการใช้ภายในประเทศมาเป็นเครื่องมือในการพัฒนาอุตสาหกรรม ส่งเสริมให้มีการทดแทนเรือที่มีอายุสูงด้วยการผลิตเรือใหม่ในประเทศไทย ด้วยต้นทุนและคุณภาพที่กลุ่มเจ้าของเรือยอมรับได้ ก็จะก่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดในระยะยาว
ผลการศึกษาวิเคราะห์อุตสาหกรรมเป้าหมายข้างต้น จะถูกนำเสนอเป็นข้อมูลในการกำหนดยุทธศาสตร์ของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยยุทธศาสตร์จะครอบคลุมทั้งการปรับเปลี่ยนปัจจัยภายนอกให้เกื้อกูลผู้ประกอบการไทย และยกระดับปัจจัยภายใน ซึ่งหมายถึงศักยภาพผู้ประกอบการไทย โดยคำนึงถึงบทบาทภาครัฐ สมาคมวิชาชีพของภาคเอกชน และตัวผู้ประกอบการเอง เพื่อให้สามารถขับเคลื่อนการพัฒนาอุตสาหกรรมสนับสนุนได้อย่างยั่งยืนและเป็นรูปธรรม