Benchmarking : เครื่องมือสู่ความเป็นเลิศทางธุรกิจ
อรพิน อุดมธนะธีระ
นักวิชาการอุตสาหกรรมชำนาญการพิเศษ
จากคำพูดที่ว่า “You can’t manage what you don’t measure” ซึ่งเป็นแนวคิดด้านการบริหารในอดีตที่ยังคงสามารถใช้ได้จนถึงปัจจุบัน แสดงให้เห็นว่าการที่เราจะบริหารสิ่งใด เราจำเป็นที่จะต้องสามารถวัดผลจากการบริหารนั้นได้ด้วย การวัดผลองค์กรของตนเอง และเปรียบเทียบกับองค์กรอื่นที่ทำได้ดีกว่า เพื่อการพัฒนาตนเอง เรียกว่า “Benchmarking”
ความหมายของ Benchmarking
Benchmarking หมายถึง วิธีการในการวัดและเปรียบเทียบ ผลิตภัณฑ์ บริการและวิธีการปฏิบัติกับองค์กรที่สามารถทำได้ดีกว่า หรือองค์กรชั้นนำในกลุ่ม (Best-in-Class) เพื่อนำผลของการเปรียบเทียบมาใช้ในการปรับปรุงองค์กรของตนเองเพื่อมุ่งสู่ความเป็นเลิศทางธุรกิจ โดยนำวิธีการปฏิบัติที่ดี (Best Practice) ขององค์กรชั้นนำในกลุ่มซึ่งประสบความสำเร็จมากกว่า ไปประยุกต์ใช้เพื่อพัฒนาตนเองให้เท่าเทียมหรือเหนือกว่าคู่แข่ง

กระบวนการทำ Benchmarking
การทำ Benchmarking เป็นการพัฒนาตนเองอย่างเป็นระบบต่อเนื่องและเป็นรูปธรรม ที่สามารถวัดและตรวจสอบได้ มีขั้นตอนในการทำ 4 ขั้นตอน ดังนี้
1. เราอยู่ที่ไหน กำหนดเป้าหมายในการเปลี่ยนแปลงและพัฒนาขององค์กร ระบุถึงตัวชี้วัด (KPIs) และวิธีการเทียบประเมินในมติต่างๆ
2. ใครเก่งที่สุด ดำเนินการวัดตนเองตามตัวชี้วัดที่กำหนด และเปรียบเทียบผลกับองค์กรชั้นนำในกลุ่ม โดยข้อมูลต้องมีความน่าเชื่อถือ
3. เขาทำอย่างไร วิเคราะห์ช่วงห่าง (Gap) ของสมรรถนะต่างๆ หาสาเหตุที่เกิดขึ้น และศึกษาวิธีการปฏิบัติที่ดี (Best Practice) ขององค์กรชั้นนำ เพื่อปรับปรุงการปฏิบัติงานให้ดีขึ้น
4. เราจะทำอย่างไรให้ดีกว่า จากผลการศึกษาวิเคราะห์นำมาประยุกต์ใช้กับองค์กร เพื่อสร้างคุณภาพ ประสิทธิภาพ และประสิทธิผล ยกระดับความสามารถในการแข่งขันขององค์กรให้ยั่งยืนต่อไป
การ Benchmarking ประสิทธิภาพโลจิสติกส์ภาคอุตสาหกรรม
การบริหารจัดโลจิสติกส์และโซ่อุปทานอย่างมีประสิทธิภาพของภาคอุตสาหกรรม ส่งผลโดยตรงต่อการลดต้นทุน และเพิ่มความพึ่งพอใจของลูกค้า การทำ Benchmarking เพื่อประเมินประสิทธิภาพด้านโลจิสติกส์และโซ่อุปทาน เป็นเรื่องสำคัญและมีความจำเป็นสำหรับผู้ประกอบการ กองโลจิสติกส์ จึงได้กำหนดตัวชี้วัดประสิทธิภาพด้านโลจิสติกส์ ที่เป็นรูปธรรม จำนวน 27 ตัวชี้วัด ครอบคลุ่ม 9 กิจกรรมด้านโลจิสติกส์ ใน 3 มิติ ด้านต้นทุน เวลา และความน่าเชื่อถือ ซึ่งสามารถนำไปเป็นเครื่องมือที่ใช้ได้จริงในการดำเนินงานของสถานประกอบการ โดยอาจจะนำไปปรับเป็น KPIs สำหรับแต่ละแผนกในองค์กรเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืนต่อไป
สำหรับท่านที่ประสงค์จะประเมินประสิทธิภาพโลจิสติกส์ขององค์กร สามารถ Download คู่มือการประเมินฯ เพื่อศึกษารายละเอียดตัวชี้วัด และทำการกรอกข้อมูลในฟอร์ม Ms Excel ที่ได้ผูกสูตรไว้แล้ว ซึ่งจะทราบผลการประเมินทันที หรือประเมินเปรียบเทียบกับหน่วยงานอื่นผ่านระบบ Online ภายใต้ชื่อเว็บไซต์ https://thailogisticsbenchmark.com/ ของ กองโลจิสติกส์ กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม