มาตรฐานการทดสอบบรรจุภัณฑ์เพื่อการขนส่ง
มาตรฐานการทดสอบบรรจุภัณฑ์เพื่อการขนส่ง ก่อนการเลือกใช้บรรจุภัณฑ์เพื่อการขนส่งสินค้าในระบบโลจิสติกส์ เราจำเป็นต้องทราบรูปแบบของสภาวะอันตรายที่สินค้าอาจประสบระหว่างการขนส่ง เช่น ความชื้น สภาพอากาศ อุณหภูมิ รูปแบบการลำเลียง เป็นต้น นอกจากนั้น ความเสียหายจากเหตุการณ์ทางกลที่เกิดจากการตกกระแทก (shock and impact) การสั่นสะเทือน (vibration) และการกดทับ (compression) ต่างก็มีผลให้สินค้าเสียหายได้เช่นกัน ดังนั้น การทดสอบบรรจุภัณฑ์ก่อนการขนส่งจริงจึงใช้เป็นตัวชี้วัดประสิทธิภาพในเบื้องต้นได้ในระดับหนึ่ง อย่างไรก็ตามผลที่ได้จากห้องปฏิบัติการถือว่าเป็นการคาดคะเนเบื้องต้นเท่านั้น เนื่องจากสภาวะเเวดล้อมในกระบวนการขนส่งจริงมีความแปรปรวนได้ตลอดเวลา ดังนั้นเพื่อให้เกิดความเชื่อมั่นในการทดสอบ การเก็บข้อมูลของสภาวการณ์ที่เกี่ยวข้องจึงต้องนำมาใช้เป็นข้อมูลนำเข้าในการจำลองสภาวะการทดสอบในห้องปฏิบัติการให้เสมือนเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นจริงที่สุด ซึ่งผลจากการทดสอบนี้เองจะเป็นผลให้บรรจุภัณฑ์ขนส่งนั้นสามารถถูกนำไปใช้งานได้อย่างมีประสิทธิภาพและน่าเชื่อถือยิ่งขึ้น ข้อมูลเบื้องต้นสำหรับการทดสอบที่สามารถสะท้อนความเสียหายของสินค้าจากการตกกระแทกและการสั่นสะเทือน เช่น ความสูงของการวางเรียงซ้อน รูปแบบการเก็บรักษาสินค้า สภาวะบรรยากาศ ระยะเวลาประเภทยานพาหนะขนส่ง รูปแบบและจำนวนครั้งที่สินค้ามีโอกาสตกกระแทกได้ เป็นต้น ดังนั้น อุปกรณ์บันทึกข้อมูลและตรวจวัดความเร่งจึงเป็นเครื่องมือที่เก็บและบันทึกข้อมูลกิจกรรมภาคสนามที่เกิดขึ้น เช่นอุณหภูมิ ความชื้นสัมพัทธ์ และความดันบรรยากาศ เพื่อนำมาใช้จำลองรูปแบบของสภาวะการขนส่งในห้องปฏิบัติการให้ใกล้เคียงกับการขนส่งจริงที่สุด เพื่อให้เกิดความเชื่อมั่นต่อบรรจุภัณฑ์ขนส่งที่ออกเเบบมา การทดสอบบรรจุภัณฑ์ขนส่งนั้นสามารถแบ่งออกเป็น 2 ประเภท คือ การทดสอบก่อนการขนส่ง และระหว่างขนส่งจริง ซึ่งการทดสอบก่อนการขนส่งนั้นมักอ้างอิงมาตรฐาน ASTM D4169 “Standard Practice for Performance Testing of Shipping Containers and Systems” และระเบียบวิธี ISTA 1A และ 2A ประกอบด้วยลำดับการทดสอบการตกกระแทกการสั่นสะเทือน และการกดทับ เพื่อประเมินสมรรถนะของบรรจุภัณฑ์ที่สามารถทนต่ออันตรายที่เกิดขึ้นในสภาวะการขนส่งได้ โดยใช้บรรจุภัณฑ์ชุดเดียวกันต่อเนื่องตลอดการทดสอบ และจะเปิดบรรจุภัณฑ์เพื่อตรวจสอบและประเมินความเสียหายของสินค้าเมื่อการทดสอบเสร็จสิ้นการทดสอบประเภทนี้จะให้ผลเพียงผ่านหรือไม่ผ่านเท่านั้น จึงไม่ได้เป็นการรับประกันว่าสินค้าจะไม่เกิดความเสียหายภายใต้สภาวะแวดล้อมขนส่งจริงได้เนื่องจากสินค้าอาจเผอิญกับปัจจัยอื่น ๆ ที่ยากต่อการควบคุม การทดสอบสมรรถนะของบรรจุภัณฑ์ขนส่งสามารถกระทำระหว่างการขนส่งจริง ในกรณีนี้ผลการตรวจวัดและบันทึกข้อมูลที่เกี่ยวข้องต่อความเสียหายของสินค้าระหว่างทางจะถูกนำมาเปรียบเทียบกับผลทดสอบที่ได้จากห้องปฏิบัติการ แต่ไม่สามารถใช้ทดแทนการทดสอบก่อนการขนส่งในห้องปฏิบัติการได้ เนื่องจากสภาวะการทดสอบจะถูกควบคุมในห้องปฏิบัติการ ในขณะที่สภาวะบรรยากาศระหว่างการขนส่งจริงอาจมีการแปรปรวนของอุณหภูมิ ความชื้น ลักษณะเส้นทาง และพฤติกรรมของผู้บังคับพาหนะขนส่ง เป็นผลให้เกิดความรุนแรงมากกว่าผลที่ได้จากห้องปฏิบัติการ ระดับความเสียหายต่อสินค้าขึ้นกับความสามารถในการปกป้องของบรรจุภัณฑ์และระดับความทนต่อการเเตกหักเสียหายของตัวสินค้า (product fragility) เองด้วย วัสดุกันกระแทกจึงเป็นอุปกรณ์เสริมเพื่อช่วยลดความรุนแรงที่จะมีผลต่อตัวสินค้าได้โดยตรง อย่างไรก็ตาม การใช้วัสดุบรรจุเกินความจำเป็นจะสามารถปกป้องสินค้าจากความเสียหายได้จริงอยู่ แต่อาจส่งผลให้ต้นทุนและค่าใช้จ่ายที่สูงขึ้น ในทางตรงข้าม วัสดุบรรจุที่น้อยเกินไปอาจทำให้ต้นทุนลดลงจริง แต่อาจทำให้บรรจุภัณฑ์ไม่สามารถปกป้องสินค้าได้เลย ดังนั้น การออกแบบบรรจุภัณฑ์ขนส่งสินค้าจึงต้องอาศัยแนวคิดที่เป็นระบบเพื่อให้ได้บรรจุภัณฑ์ที่เหมาะสม โดยอาศัยความรู้เชิงเทคนิคและความเข้าใจในสถานการณ์ความเสียหายที่อาจเกิดขึ้นเพื่อให้สินค้าถึงจุดหมายได้อย่างปลอดภัย สำนักโลจิสติกส์ กรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ ได้เล็งเห็นถึงความสำคัญของปัญหาดังกล่าวข้างต้น จึงได้ดำเนินโครงการส่งเสริมการพัฒนาบรรจุภัณฑ์ (Packaging) ร่วมกับภาควิชาเทคโนโลยีการบรรจุและวัสดุ คณะอุตสาหกรรมเกษตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เพื่อเพิ่มศักยภาพทางการแข่งขันของสินค้าอุตสาหกรรมไทย ให้สามารถพัฒนาบรรจุภัณฑ์ที่เหมาะสมกับผลิตภัณฑ์ ช่วยลดความสูญเสียของผลิตภัณฑ์ รวมทั้งยกระดับมูลค่าของสินค้าและสร้างการยอมรับสินค้าสู่มาตรฐานสากล นอกจากนี้ยังช่วยในการขนย้าย การรวบรวม และจัดเรียงผลิตภัณฑ์ได้อย่างเหมาะสมโดยมีการใช้พื้นที่อย่างเต็มประสิทธิภาพ ซึ่งสามารถลดต้นทุนโลจิสติกส์ได้อีกด้วย ทั้งนี้ ผู้ประกอบการที่สนใจ สามารถสมัครเพื่อรับคัดเลือกเข้าร่วมโครงการ ผ่านระบบออนไลน์ได้ที่ www.sclenroll.org
15 มี.ค. 2562
ปรับตัวและรับมืออย่างไรในยุคอุตสาหกรรม 4.0
ปรับตัวและรับมืออย่างไรในยุคอุตสาหกรรม 4.0 ในฉบับที่ผ่านมาเรากล่าวถึงโลกของอุตสาหกรรม 4.0 (Industry 4.0) ที่เป็นการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญ ปัจจุบันทุกประเทศมีการเชื่อมต่อกันอย่างไร้พรมแดนในทุกมิติ ทั้งความร่วมมือทางการค้าการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน การเมือง เศรษฐกิจและสังคม หลายประเทศจำเป็นต้องปรับตัวสู่การพัฒนาในยุคอุตสาหกรรม 4.0 เพื่อเพิ่มศักยภาพในการแข่งขันของตนเองภายใต้การแข่งขันที่รุนแรงและเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา ประเทศไทยอาจต้องใช้ระยะเวลาในการเข้าสู่อุตสาหกรรม 4.0 เนื่องจากยังไม่สามารถผลิตเทคโนโลยีได้เอง แม้จะมีการวิจัยและพัฒนาจำนวนมากแต่ยังไม่สามารถนำมาปรับใช้ได้อย่างเต็มรูปแบบ และไม่สามารถนำไปสู่การสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์ที่เป็นเทคโนโลยีขั้นสูงได้ เราควรเปลี่ยนวิธีคิดใหม่โดยมองให้ออกว่า โลกในวันนี้มีเทคโนโลยีอะไรที่จะนำมาใช้กับการผลิตของเราได้บ้าง จำเป็นแค่ไหนในการนำเทคโนโลยีเข้ามาช่วยในการผลิต เราจะขับเคลื่อนศักยภาพของประเทศไปสู่การเป็นผู้ผลิตสินค้าระดับโลกได้แค่ไหน มองการผลิตสินค้าสำหรับการบริโภคของคนทั่วโลก โดยหาว่าตัวเองเก่งหรือเหมาะสมกับธุรกิจอะไร และจะสามารถนำเทคโนโลยีมาใช้เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดได้อย่างไร ภาครัฐและภาคธุรกิจควรต้องเตรียมพร้อมรับมือในการปฏิรูปอุตสาหกรรมครั้งนี้ร่วมกัน 1. ภาครัฐ ปัจจุบันเริ่มมีการสนับสนุนการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านดิจิทัลมากขึ้น ซึ่งเป็นการวางรากฐานการพัฒนาสู่ยุคอุตสาหกรรม 4.0 ทั้งสิ้น โดยส่วนของกระทรวงอุตสาหกรรมได้วางนโยบายการพัฒนาอุตสาหกรรมดังนี้ 1.1 การส่งเสริมต่อยอดอุตสาหกรรมใหม่โดยการจัดกลุ่มอุตสาหกรรมเป็น Cluster เพื่อพัฒนาตามกลุ่มเป้าหมาย รวมทั้งพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานในด้านเทคโนโลยี เช่น ห้องปฏิบัติการ ศูนย์ทดสอบ และสนามทดสอบกลาง พร้อมทั้งส่งเสริมงานวิจัยและพัฒนาให้มีเพิ่มมากขึ้น 1.2 การส่งเสริมเพื่อสร้างผู้ประกอบการในระดับ SMEs รวมทั้งอุตสาหกรรม OTOP โดยเพิ่มการยกระดับมาตรฐานการผลิตและผลิตภัณฑ์ สร้างผู้ประกอบการรายใหม่ให้กระจายไปในภูมิภาค พัฒนาศูนย์บ่มเพาะ SMEs/OTOP ให้มีมากขึ้น ส่งเสริมเทคโนโลยีการตลาดยุคดิจิทัล รวมถึงจัดหาแหล่งเงินทุนในการพัฒนาการผลิต 1.3 ปรับปรุงฐานการลงทุนการผลิตและการส่งออกของอุตสาหกรรม โดยแยกเป็น - การเพิ่มผลผลิต (Productivity) โดยการพัฒนาทักษะแรงงานและสนับสนุนให้มีการปรับเปลี่ยนเครื่องจักรให้ทันสมัย - การสร้างปัจจัยที่เอื้อต่อการผลิต (Enabling Factor) กำหนดกฎหมาย/กฎระเบียบ พัฒนาคน ส่งเสริมโครงสร้างพื้นฐานโลจิสติกส์ และบริหารจัดการข้อมูล Big Data - การเชื่อมโยงเครือข่าย (Connectivity) สร้างพันธมิตรและจับคู่ธุรกิจ (Business Matching) ประสานจัดกลุ่มอุตสาหกรรมเชื่อมโยงเป็น Cluster และเชื่อมโยงการผลิตการตลาดโดยใช้ Digital Technology - การส่งเสริมอุตสาหกรรมสีเขียว (Green Industry) โรงงานที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม (Green Factory) และเมืองนิเวศน์ (ECO-Town) 2. ภาคผู้ประกอบการ ควรต้องเริ่มที่จะมีการกำหนดวิสัยทัศน์ เป้าหมาย กลยุทธ์ที่ชัดเจนในเรื่องที่เกี่ยวข้องเช่น - การเพิ่มความร่วมมือในการผลิตร่วมกันตั้งแต่อุตสาหกรรมต้นน้ำ กลางน้ำ ปลายน้ำ มีการจัดกลุ่มการผลิต - การปรับปรุงโครงสร้างองค์กร พัฒนาระบบบริหารจัดการ จัดหาเครื่องมือจัดการองค์ความรู้เพื่อยกระดับศักยภาพการปฏิบัติงาน - การเพิ่มขีดความสามารถในการผลิต โดยพัฒนาความสามารถในงานด้านโลจิสติกส์และชัพพลายเชน ได้แก่ การวางแผน การจัดซื้อจัดหา การผลิต การจัดเก็บ และการกระจายสินค้า - พัฒนานำเอาระบบเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร มาใช้เพื่อการบริหารและการบริการที่มีประสิทธิภาพ - การพัฒนาอุตสาหกรรมต้องเป็นมาตรฐานสากล สามารถปรับเปลี่ยนเข้ากับเงื่อนไข กฎระเบียบ และกติกาที่เป็นสากลได้ - ส่งเสริมธรรมาภิบาลภายในองค์กร เพื่อสร้างความถูกต้องโปร่งใสและการมีส่วนร่วมในการทำงาน - พัฒนาศักยภาพของบุคลากรในองค์กรให้สามารถผลักดันการพัฒนาอุตสาหกรรมต่อไปในอนาคตได้อย่างยั่งยืน - อุตสาหกรรมต้องอยู่ร่วมกับสังคมได้ โดยเฉพาะการมีส่วนร่วมในสังคม และการรักษาสิ่งแวดล้อม ประเทศไทยยังคงจำเป็นที่จะต้องพึ่งพาอุตสาหกรรมการผลิตเพื่อการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ แม้ว่าอุตสาหกรรมไทยจะมีโอกาสแข่งขันในหลายอุตสาหกรรม แต่ก็ควรที่จะต้องเลือกเวทีและสินค้าให้ถูกต้อง อาจมองหาอุตสาหกรรมที่ถือเป็นจุดเด่นของประเทศไทย เช่น อุตสาหกรรมอาหาร หรืออุตสาหกรรมเกษตรแปรรูป เริ่มกำหนดเป้าหมายยุทธศาสตร์ และพึ่งพาเทคโนโลยีในการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต เพื่อลดปัญหาด้านต้นทุนแรงงานที่สูงขึ้น การดึงศักยภาพที่แท้ของของประเทศไทยมาพัฒนาโดยใช้เทคโนโลยีเป็นเครื่องมือจะทำให้เรามีจุดเด่นที่สามารถต่อยอดให้ถึงขีดสุด เน้นการผลักดันนำเอาระบบ IT เข้ามาช่วยในการพัฒนากระบวนการผลิตให้มากขึ้น ตั้งแต่กระบวนการผลิต การบรรจุหีบห่อ และการขนส่ง เป็นต้น หากทำได้จะสามารถลดต้นทุน ลดความสูญเสีย และนำไปสู่การแข่งขันที่ดีขึ้น อย่างไรก็ตามการปรับเปลี่ยนเอาเทคโนโลยีมาใช้งานนั้น ควรเลือกใช้ให้เหมาะสมกับอุตสาหกรรมในบ้านเรา และต้องคำนึงถึงผลกระทบต่อการดำเนินชีวิตของคนไทยด้วย
15 มี.ค. 2562
การส่งเสริมการใช้และเชื่อมโยงระบบ Backhauling เพื่อลดการขนส่งเที่ยวเปล่า
การส่งเสริมการใช้และเชื่อมโยงระบบ Backhauling เพื่อลดการขนส่งเที่ยวเปล่า บริษัทต่างๆ ในประเทศไทยที่ทำหน้าที่รับจ้างขนส่งสินค้า หรือบริษัทผู้ผลิตสินค้าและวัตถุดิบที่ต้องมีการเคลื่อนย้ายสินค้าล้วนถูกกดดันให้แข่งขันทั้งในด้านต้นทุนและความใส่ใจสิ่งแวดล้อมมากขึ้น ส่งผลให้การขนส่งเที่ยวกลับ (Backhauling) และโลจิสติกส์ย้อนกลับ (Reversed Logistic) เข้ามามีบทบาทต่อการออกแบบเครือข่ายการกระจายสินค้ามากขึ้น ปัญหาที่องค์กรส่วนใหญ่พบในการบริหารจัดการรถเที่ยวกลับคือไม่สามารถใช้ประโยชน์จากยวดยานพาหนะ (Load Utilization) และการใช้พลังงานเชื้อเพลิงให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุดได้ เนื่องด้วยเพราะขาดระบบและการประสานงานที่ดีในการจับคู่ผู้ที่มีความต้องการตรงกัน อีกทั้งการใช้คนในการดำเนินการโดยขาดระบบเทคโนโลยีสารสนเทศเข้ามาช่วยอาจก่อให้เกิดความผิดพลาดได้ง่าย และใช้เวลานานในการจัดตารางเที่ยวการขนส่ง ดังนั้น กรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ โดยสำนักโลจิสติกส์ ซึ่งรับผิดชอบดำเนินภารกิจหลักด้านการส่งเสริมการพัฒนาระบบโลจิสติกส์ภาคอุตสาหกรรมได้จัดทำโครงการส่งเสริมให้เกิดการจัดการการขนส่งเที่ยวเปล่า โดยผู้เข้าร่วมโครงการจะได้รับสิทธิประโยชน์ในการใช้งานระบบบริหารการจัดการด้านการขนส่ง (Transportation Management System:TMS) และระบบเครือข่ายการขนส่งเพื่อลดจำนวนรถเที่ยวเปล่า (Backhauling Management System: BMS) โดยมีรายละเอียดดังนี้ ระบบ TMS มีหน้าที่ช่วยในการบริหารจัดการการขนส่งภายในสถานประกอบการ โดยรองรับการทำงาน 3 ด้าน หลักคือ (1) การจัดการคำสั่งของลูกค้าที่เข้ามา (2) การบริหารจัดการการขนส่ง ทั้งในการออกใบงาน การบริหารจัดการกองยวดยานพาหนะ ประวัติพนักงานขับรถ การซ่อมบำรุง และ (3)การจัดการด้านการเงิน นอกจากนี้ระบบยังมีการเก็บข้อมูลตัวชี้วัดประสิทธิภาพ (Key Performance Indicator: KPI) ที่เกี่ยวข้องกับระบบการขนส่ง เช่น ต้นทุน ระยะเวลาเฉลี่ยในการจัดส่งสินค้า ความสามารถในการจัดส่งสินค้า เป็นต้น เพื่อให้ผู้บริหารได้มองเห็นถึงประสิทธิภาพในการทำงานได้อย่างรวดเร็ว อีกทั้งระบบที่สำนักโลจิสติกส์ได้พัฒนาขึ้นมายังรองรับกับมาตรฐาน Q-mark ของกรมการขนส่งทางบกอีกด้วย ระบบ BMS มีหน้าที่ช่วยจับคู่การขนส่งในเที่ยวกลับไม่ให้รถวิ่งเที่ยวเปล่า โดยระบบสามารถรับข้อมูลได้ทั้งจากการป้อนข้อมูลโดยตรงหรือจะรับข้อมูลจากระบบ TMS ก็ได้ ซึ่งช่วยลดเวลาในการทำงานและลดความผิดพลาดที่อาจจะเกิดขึ้นได้ โดยระบบทั้งสองถูกพัฒนาขึ้นมาภายใต้ระบบของ Odoo ซึ่งมีฟังก์ชั่นการทำงานของระบบบริหารจัดการทรัพยากรขององค์กร (Enterprise Resource Planning: ERP) ที่ครบถ้วน มีลักษณะเป็นระบบเปิด (Open source) ทำให้ผู้ประกอบการสามารถนำระบบเทคโนโลยีสารสนเทศภายในองค์กรมาเชื่อมต่อได้โดยง่าย เช่น เชื่อมกับระบบบัญชี หรือระบบบริหารจัดการงานขาย เป็นต้น และในอนาคตเพื่อให้การบริหารจัดการการขนส่งมีประสิทธิภาพสูงสุดระบบจะเชื่อมโยงกับ GPS และแผนที่อิเล็คทรอนิคส์เพื่อให้ออกเส้นทางการขนส่งได้โดยสะดวก ปัจจัยหลักแห่งความสำเร็จที่สำคัญของการทำ Backhauling คือ ผู้ประกอบการจะต้องรวมกลุ่มกันเพื่อแบ่งปันข้อมูลการขนส่งและสร้างความไว้เนื้อเชื่อใจระหว่างสมาชิกในกลุ่ม เนื่องจากการจะผลักดันให้เกิดการจับคู่ Backhauling ได้นั้น ทั้งผู้ว่าจ้างและผู้ถูกว่าจ้างและต้องมีความเชื่อใจซึ่งกันและกัน ผู้ถูกว่าจ้างต้องทำให้ผู้ว่าจ้างมั่นใจได้ว่าสินค้าที่ตนให้ทำการขนส่งจะไม่สูญหายหรือเกิดความเสียหาย ทางผู้ถูกว่าจ้างเองก็ต้องมั่นใจว่าเมื่อส่งสินค้าถึงปลายทางแล้วจะสามารถเรียกเก็บค่าขนส่งจากผู้ว่าจ้างได้ ความไว้ใจกันจึงเป็นปัจจัยหลักที่สมาชิกคำนึงถึง ดังนั้นเป้าหมายหนึ่งในการดำเนินโครงการของทางสำนักโลจิสติกส์คือการสร้างเครือข่ายของผู้ให้บริการขนส่งและโลจิสติกส์ (Logistics Service Provider Cluster) เพื่อการแลกเปลี่ยนและบูรณาการข้อมูลด้วยการใช้ระบบเทคโนโลยีสารสนเทศเป็นเครื่องมือหลัก และส่งผลให้มีการขนส่งสินค้าเที่ยวกลับเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยยะ โดยโครงการได้ดำเนินการมาอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2555 และมีสถานประกอบการเข้าร่วมในการใช้งานระบบมาแล้วไม่ต่ำกว่า 113 สถานประกอบการ เพื่อการสร้างเครือข่ายการขนส่งแบบไม่เสียเที่ยวเปล่าของผู้ประกอบการขนส่งและผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมการผลิตอย่างกว้างขวางในประเทศ นอกจากจะช่วยลดต้นทุนรวมด้านโลจิสติกส์ให้กับภาคอุตสาหกรรม และลดมลพิษทางอากาศจากการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์แล้วยังเป็นการยกระดับศักยภาพของภาคอุตสาหกรรมการผลิตและผู้ให้บริการขนส่งและโลจิสติกส์ด้วยเช่นกัน
15 มี.ค. 2562
โลจิสติกส์และชัพพลายเชนในยุคอุตสาหกรรม 4.0 (Industry 4.0)
เกียรติพงษ์ อุดมธนะธีระ สำนักโลจิสติกส์ โลจิสติกส์และชัพพลายเชนในยุคอุตสาหกรรม 4.0 (Industry 4.0) จากที่ผ่านมาได้กล่าวถึงข้อมูลขนาดใหญ่ Big data เทคโนโลยีการสื่อสารไร้สายและผลที่เกิดเป็นInternet of Thing ในฉบับนี้จะกล่าวถึงการพลิกโฉมหน้าวงการอุตสาหกรรมสู่ยุคใหม่หรือที่เรียกว่าอุตสาหกรรม 4.0 (Industry 4.0) ซึ่งกว่าจะมาเป็นอุตสาหกรรม 4.0 แต่ละยุคสมัยนั้นมีการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญดังนี้ ยุคที่ 1 เกิดขึ้นในปี ค.ศ. 1784 มีการประดิษฐ์เครื่องจักรกลไอน้ำขึ้นมาใช้งานเป็นครั้งแรก เป็นยุคการผลิตแบบโรงงานที่ใช้เครื่องจักรช่วยในการผลิต ซึ่งเป็นยุคเริ่มต้นของการปฏิวัติอุตสาหกรรม ยุคที่ 2 เกิดขึ้นในปี ค.ศ. 1870 มีการเปลี่ยนจากการใช้เครื่องจักรไอน้ำมาใช้พลังงานไฟฟ้า ต้นทุนการผลิตลดลง เป็นยุคของการผลิตสินค้าชนิดเดียวกันจำนวนมาก (Mass Production) ยุคที่ 3 เกิดขึ้นในปี ค.ศ. 1969 มีการใช้เครื่องจักรอัตโนมัติหรือหุ่นยนต์ในการผลิตแทนที่แรงงานคน เป็นยุคของการใช้อิเล็กทรอนิกส์และเทคโนโลยีสารสนเทศในการผลิต มีการปรับปรุงกระบวนการระบบบริหารจัดการด้านคุณภาพ และเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตให้สูงขึ้น ยุคที่ 4 เกิดขึ้นในปี ค.ศ. 2013 จากนโยบายอุตสาหกรรมแห่งชาติของเยอรมันเน้นการนำหุ่นยนต์ เครื่องจักร เทคโนโลยีดิจิทัล และอินเทอร์เน็ต มาใช้ช่วยในกระบวนการผลิตสินค้าแบบครบวงจร เป็นยุคของกระบวนการผลิตที่มีประสิทธิภาพด้วยเทคโนโลยีดิจิทัลแบบ “Smart Factory” การเปลี่ยนแปลงทางกายภาพของอุตสาหกรรม 4.0 มี 2 ส่วนหลักคือ ส่วนฮาร์ดแวร์ซึ่งหมายถึงเทคโนโลยี นวัตกรรมด้านเครื่องจักร ระบบอัตโนมัติ และระบบควบคุมการทำงาน และส่วนซอฟท์แวร์ ประกอบด้วย โปรแกรมควบคุมระบบการทำงาน และการเชื่อมต่อทางเครือข่ายในรูปแบบ Internet of Things (IoT) ทำให้เกิดข้อมูลในระบบการผลิตขึ้นอย่างมหาศาลซึ่งจำเป็นต้องได้รับการบริหารจัดการอย่างเป็นระบบ อุตสาหกรรม 4.0 มีแนวคิดที่สำคัญคือ การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต การบริการ หรือการขายสินค้า โดยการเชื่อมต่อกับเทคโนโลยีดิจิทัล เช่น การพัฒนาเทคโนโลยีสื่อสารกับเครื่องจักร และระบบเครื่องจักรสามารถสื่อสารกันได้เอง หรือการผลิตสินค้าแบบอัตโนมัติตามความต้องการของผู้บริโภค ซึ่งจะเน้นการตอบสนองโดยอัตโนมัติต่อการเปลี่ยนแปลงของสภาพแวดล้อมและตลาด ทำให้อาจสามารถจะตอบสนองถึงระดับรายบุคคลได้โดยยังรักษาคุณภาพการผลิตที่มีประสิทธิภาพสูง ทั้งนี้ ความคาดหวังหรือท้าทายในอุตสาหกรรม 4.0 ได้แก่ การผลิตสินค้าตามความต้องการเฉพาะของผู้บริโภคได้มากขึ้น มีวงจรในการเกิดนวัตกรรมสินค้าที่สั้นลง สินค้าที่ผลิตมีความซับซ้อนมากขึ้นระยะเวลาในการผลิตสั้นลง และรองรับความต้องการตลาดที่ผันผวนมากขึ้น สามารถแข่งขันในการผลิตเพิ่มมากขึ้น การเตรียมพร้อมของภาคอุตสาหกรรมเพื่อเข้าสู่ยุค Industry 4.0 จุดเด่นที่สำคัญในยุคนี้คือ ความสามารถในการเชื่อมต่อความต้องการของผู้บริโภคแต่ละรายเข้ากับกระบวนการผลิตสินค้าได้โดยตรง ทำให้สามารถผลิตสินค้าหลากหลายรูปแบบแตกต่างกันตามความต้องการเฉพาะของผู้บริโภคแต่ละราย การบริหารจัดการโลจิสติกส์และซัพพลายเชนนับตั้งแต่กระบวนการสั่งซื้อ การนำเข้าวัตถุดิบ กระบวนการผลิต การจัดเก็บ จนกระทั่งจัดส่งสินค้าถึงมือลูกค้า มีส่วนสำคัญที่จะช่วยยกระดับความสามารถขององค์กร รองรับการเข้าสู่ยุคอุตสาหกรรม 4.0 ได้ ทุกองค์กรควรเริ่มที่จะต้องเตรียมพร้อมเพื่อรับมือกับการเปลี่ยนแปลงในอนาคต โดยเริ่มดำเนินการดังนี้ กำหนดเป้าหมาย นโยบาย แนวทางในการพัฒนาองค์กร เพื่อมุ่งสู่ยุคอุตสาหกรรม 4.0 กำหนดแผนการปรับโครงสร้างองค์กร เพิ่มการสร้างความร่วมมือกับทุกฝ่ายทั้งในระดับองค์กรและซัพพลายเชน รองรับการทำงานที่จะเกิดในรูปแบบใหม่ ปรับปรุงกระบวนการทำงานให้สามารถเชื่อมโยงและติดตามตรวจสอบต่อเนื่องได้ทั้งระบบตั้งแต่วัตถุดิบจากผู้ขายที่ต้นน้ำ ไปจนถึงผลิตภัณฑ์ส่งมอบแก่ลูกค้าหรือผู้ใช้ที่ปลายน้ำ สร้างช่องทางการเข้าถึงติดต่อและทำความเข้าใจในลูกค้าให้มากขึ้น โดยใช้เทคโนโลยีดิจิทัล และนวัตกรรมมาช่วยในการทำงาน พัฒนานำข้อมูลที่เริ่มมีปริมาณมากมาย Big Data จากเทคโนโลยีดิจิทัลมาบริหารจัดการอย่างเป็นระบบเพื่อจัดทำเป็นสารสนเทศในการบริหารจัดการและตัดสินใจอย่างถูกต้องและทันต่อสถานการณ์ความต้องการอันผันผวนของผู้บริโภค พัฒนาบุคลากรให้เพิ่มทักษะการปฏิบัติงาน การใช้เทคโนโลยีดิจิทัล และความรู้ที่เกี่ยวข้อง ให้ความสำคัญกับการวิจัยและพัฒนา (R&D) เพื่อสร้างนวัตกรรมใหม่และสร้างความแตกต่างในการแข่งขัน การพัฒนาองค์กรให้มีความพร้อมเข้าสู่ยุคอุตสาหกรรม 4.0 ต้องมีจุดแข็งคือการนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาช่วยควบคุมการผลิต หากต้องการมีศักยภาพและความสามารถในการแข่งขันในอนาคต ต้องเริ่มกำหนดนโยบายและแผนการทำงานที่ชัดเจน เน้นการพัฒนางานด้านการปรับปรุงโลจิสติกส์และ ซัพพลายเชนให้เป็นมาตรฐาน กระตุ้นให้เกิดการวิจัยและพัฒนาอย่างต่อเนื่อง เพื่อสร้างความได้เปรียบทางการแข่งขันขององค์กรให้ทันต่อสถานการณ์ตลอดเวลา
15 มี.ค. 2562
ทำไมต้อง e-Business
ดร.วรัญญา ติโลกะวิชัย ที่ปรึกษาโครงการเพิ่มประสิทธิภาพโลจิสติกส์ภาคอุตสาหกรรม (Logistics Consult) กลุ่มอุตสาหกรรมอาหารและยา ทำไมต้อง e-Business ในการดำเนินธุรกิจปัจจุบันจำเป็นต้องรวดเร็วถูกต้อง และมีประสิทธิภาพเพื่อให้เกิดความสามารถทางการแข่งขัน องค์กรจำเป็นต้องมีความยืดหยุ่นในการบริหารจัดการให้สามารถตอบสนองความต้องการของตลาดที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วซึ่ง e-Business (Electronic Business) เป็นการดำเนินงานของธุรกิจด้วยการใช้เทคโนโลยีอินเตอร์เน็ต (Internet Technology) เพื่อปรับปรุงประสิทธิภาพการดำเนินงานภายในองค์กร (Intra-Organization) ลดต้นทุน เพิ่มคุณค่าให้กับสินค้าและ/หรือบริการ สร้างความสัมพันธ์ที่ดีผู้ขายและลูกค้า ทำให้เกิดประสิทธิภาพในการดำเนินงานทั้งโซ่คุณค่า (Value Chain) และโซ่อุปทาน (Supply Chain Performance) ดังแสดงในรูปที่ 1 รูปที่ 1 แสดงความสัมพันธ์ e-business ในโซ่คุณค่า (Value Chain) และSupply chain จากรูปที่ 1 แสดงถึงโซ่คุณค่าที่ประกอบด้วย กิจกรรมหลัก (Primary activities) และกิจกรรมสนับสนุน (Support Activities) ซึ่งกิจกรรมหลักเป็นกิจกรรมที่สร้างคุณค่าให้กับลูกค้าโดยตรง กิจกรรมหลักจะประกอบด้วยโลจิสติกส์ขาเข้า (Inbound Logistics) การดำเนินการ (Operations) ฝ่ายขายและตลาด (Sales and Marketing) การบริการ (Service) และโลจิสติกส์ขาออก (Outbound Logistics) โดยมีการนำเทคโนโลยีเข้ามาช่วยในแต่ละกิจกรรม ส่วนกิจกรรมสนับสนุนจะเป็นกิจกรรมที่สนับสนุนกิจกรรมหลักให้สามารถทำงานให้เกิดประสิทธิผลอย่างมีประสิทธิภาพ ประกอบด้วยโครงสร้างองค์กรในส่วนของการบริหารและการจัดการ (Administration and Management) ทรัพยากรมนุษย์ (Human Resources) เทคโนโลยี (Technology) และการจัดซื้อจัดหา (Procurement) ซึ่งได้มีการนำ e-business เข้ามาใช้ในแต่ละกิจกรรม ดังแสดงในรูปที่ 1 ในที่นี้ขออธิบายถึง e-business ที่สำคัญ ได้แก่ 1. ระบบการวางแผนทรัพยากร (Enterprise Resource Planning: ERP) เป็นระบบที่ใช้ในการบริหารจัดการทรัพยากรทั้งองค์กรด้วยการเชื่อมโยงระบบงานต่างๆ เข้าด้วยกัน ตั้งแต่ระบบงานขาย ทรัพยากรบุคคล จัดซื้อ การผลิต การจัดการคลังสินค้า การจัดการสินค้าคงคลัง การกระจายสินค้า และบัญชีและการเงิน ซึ่งองค์กรสามารถวางแผนและบริหารทรัพยากรได้อย่างมีประสิทธิภาพลดเวลาและขั้นตอนการทำงานขององค์กร 2. Business Intelligence (BI) ระบบที่ใช้ในการเก็บรวบรวมข้อมูล และนำเสนอสารสนเทศ ที่สามารถวิเคราะห์ได้หลายมุมมอง (Multidimensional Model) ช่วยให้ผู้ใช้งานสามารถวิเคราะห์และตัดสินใจได้รวดเร็วและถูกต้อง เช่น การวิเคราะห์สินค้าคงคลัง การวิเคราะห์ลูกค้า การวิเคราะห์ผู้ขาย การวิเคราะห์คู่แข่ง เป็นต้น 3. e-SupplyChain Management (e-SCM) เป็นการจัดการโซ่อุปทานด้วยการใช้เทคโนโลยีอินเตอร์เน็ต เพื่อปรับปรุงและเพิ่มประสิทธิภาพกิจกรรมในโซ่อุปทาน (Supply Chain Activities) ซึ่งกิจกรรมและโครงสร้าง (Activities and Infrastructure) ของ e-SCM เช่น ระบบการเติมเต็มสินค้าอัตโนมัติ (Collaborative Planning Forecasting and Replenishment : CPFR)เป็นระบบที่ช่วยวางแผนพยากรณ์ความต้องการสินค้าจากผู้ซื้อและการเติมเต็มสินค้าจากผู้ขาย การจัดซื้อจัดหาอิเล็กทรอนิกส์ (e-Procurement) การจัดการสินค้าคงคลังโดยใช้อุปกรณ์ไร้สาย เช่น เครื่องอ่านบาร์โค้ดแบบพกพา การใช้ RFID (Radio Frequency Identification) เป็นต้นรวมทั้งการพัฒนาผลิตภัณฑ์ร่วมกันกับผู้ขายและ/หรือลูกค้า จนถึงการส่งมอบ และการรับคืนสินค้า ซึ่งความสำเร็จของ e-SCM ขึ้นกับความสามารถในการร่วมมือกันในการทำงานระหว่างองค์กรในโซ่อุปทาน เป็นการบูรณาการทั้งโซ่อุปทานด้วยการใช้เทคโนโลยีอินเตอร์เน็ต เช่น การแบ่งปันข้อมูลระหว่างผู้ซื้อและผู้ขาย ผู้ซื้ออนุญาตให้ผู้ขายเข้าถึงข้อมูลการขายและคลังสินค้า ในสินค้าทุกรายการของผู้ขายด้วยระบบการบริหารคลังสินค้าโดยผู้ขาย(Vendor Management Inventory : VMI) ผ่าน Extranet ทำให้ผู้ขายได้ข้อมูลความต้องการของผู้ซื้ออย่างรวดเร็วถูกต้องและส่งผลให้ผู้ซื้อมีปริมาณสินค้าคงคลังที่เหมาะสม เป็นต้น 4. e-Commerce เป็นการดำเนินธุรกิจผ่านเทคโนโลยีอินเตอร์เน็ตประกอบด้วย Upstream supply chain เป็นการดำเนินธุรกิจระหว่างองค์กรทางด้านซื้อ (Buy-Side e-Commerce) และ Downstream supply chainเป็นการดำเนินธุรกิจระหว่างองค์กรทางด้านขาย (Sell-Side e-Commerce) ซึ่ง e-Commerce เป็นส่วนหนึ่งของe-Business ดังแสดงดังรูปที่ 2 รูปที่ 2 แสดงความสัมพันธ์ระหว่าง e-Commerce และ e-Business ตารางที่ 1 แสดงการเปรียบเทียบระหว่างการการดำเนินธุรกิจแบบดั้งเดิม (Traditional) กับ e-Commerce จากตารางที่ 1 แสดงให้เห็นว่าแต่ละกิจกรรมที่เกิดขึ้นในการดำเนินธุรกิจแบบดั้งเดิม (Traditional) กับ e-Commerce มีการดำเนินงานที่แตกต่างไปจากเดิม ด้วยการใช้เทคโนโลยีอินเตอร์เน็ตเข้ามาช่วยในการทำงาน การนำ e-Business มาใช้ในองค์กรรวมทั้งห่วงโซ่อุปทานขององค์กรทำให้องค์กรสามารถทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพรวดเร็ว ถูกต้องเพิ่มคุณค่าให้กับสินค้าและ/หรือบริการ สร้างความสัมพันธ์ที่ดีทั้งกับผู้ขายและลูกค้า ทำให้องค์กรเกิดความได้เปรียบทางการแข่งขัน อีกทั้งช่วยลดต้นทุนการดำเนินงาน นั่นหมายถึงกำไรที่เพิ่มขึ้นขององค์กร ซึ่งเป็นเหตุผลว่าทำไมต้อง e-Business
15 มี.ค. 2562
RFID เทคโนโลยีที่อยู่ใกล้ตัว
ณัฏฐพิชา จันทร์กระจ่าง นักวิชาการอุตสาหกรรมปฏิบัติการ RFID เทคโนโลยีที่อยู่ใกล้ตัว ในอนาคตอันใกล้นี้การใช้ชีวิตประจำวันของเราอาจเปลี่ยนไปอย่างมาก หากอุปกรณ์สิ่งของหลายๆ สิ่งบนโลกนี้ สามารถบอกเราได้ว่าตัวเองเป็นอะไร เคยผ่านกระบวนการผลิตมาอย่างไร และตอนนี้จัดเก็บอยู่ ณ ตำแหน่งใด ซึ่งแนวคิดนี้เป็นหลักการของเทคโนโลยี RFID (Radio Frequency Identification) ที่กำลังได้รับความสนใจและมีแนวโน้มการใช้งานมากขึ้นในการดำเนินธุรกิจ เพื่อควบคุมหรืออำนวยความสะดวกให้รวดเร็วและถูกต้อง เช่น เหรียญโดยสารรถไฟฟ้าใต้ดิน หรือบัตรผ่านทางด่วน Easy pass เป็นต้น เทคโนโลยี RFID ปรากฏครั้งแรกในทางการทหารของอังกฤษ ซึ่งถูกนำมาใช้ในช่วงปลายของสงครามโลกครั้งที่ 2 ในการระบุสถานะเพื่อแยกแยะเครื่องบินที่เป็นของประเทศอังกฤษหรือว่าเป็นเครื่องบินของศัตรู หลังจากนั้นถูกนำมาใช้ทางการปศุสัตว์เพื่อติดตามตัวสัตว์ การใช้เป็นบัตรผ่านเข้า-ออกอาคารสถานที่เพื่อรักษาความปลอดภัย จนมาถึงการประยุกต์ใช้ในอุตสาหกรรม ในระบบโลจิสติกส์และโซ่อุปทาน มารู้จักกับหลักการทำงานของเทคโนโลยี RFID RFID ย่อมาจาก Radio Frequency Identification เป็นเทคโนโลยีการระบุตัวตนหรือตำแหน่งของวัตถุ เช่น คน สัตว์ หรือสิ่งของ โดยใช้คลื่นความถี่วิทยุเป็นตัวเหนี่ยวนำแทนการสัมผัส มีลักษณะเป็นป้ายอิเล็กทรอนิกส์ที่สามารถอ่านค่าได้ในระยะห่าง โดยไม่ต้องเห็นแท็กหรือแท็กซ่อนอยู่ภายในวัตถุก็สามารถอ่านค่าได้ เพียงแค่อยู่ในบริเวณที่สามารถรับคลื่นวิทยุได้ และการอ่านแท็กยังสามารถอ่านได้หลายๆแท็กในเวลาเดียวกัน มีองค์ประกอบหลัก คือ แท็ก (Tag) หรือ Transponders เครื่องอ่าน (Reader) และ ซอฟต์แวร์ สามารถนำแท็กไปฝังหรือติดกับวัตถุต่างๆ โดยมีการบันทึกและติดตามข้อมูลว่า คืออะไร ผลิตมาจากที่ไหน ใครเป็นผู้ผลิต วันเดือนปีที่ผลิต ประกอบด้วยชิ้นส่วนอะไรบ้าง แต่ละชิ้นมาจากที่ไหน ซึ่งรวมถึงตำแหน่งที่ตั้งของวัตถุนั้นๆ ด้วย ตัวอย่างการนำ RFID มาประยุกต์ใช้ มีดังนี้ อุตสาหกรรมการผลิต RFID ถูกนำมาช่วยตรวจสอบเรื่องคุณภาพ เวลาการผลิต และการคิดค่าแรงพนักงาน เช่น ในธุรกิจการตัดเย็บเสื้อผ้านำ RFID มาใช้ตรวจสอบเวลาในการผลิตของแต่ละจุดการตัดเย็บ เมื่อเปลี่ยนขั้นตอนการทำงานจะนำแท็ก RFID ไปอ่านในทุกๆ จุดที่เกิดการเปลี่ยนสถานะงาน ทำให้ทราบว่าในแต่ละขั้นตอนมีเวลาการผลิตเท่าไร สามารถควบคุมเวลาการผลิตในขณะนั้นได้ ทั้งยังนำผลมาปรับสมดุลสายการผลิต (Line Balancing) ให้ทันต่อเป้าหมายในแต่ละชั่วโมงได้แบบ Real Time และผลที่ได้ตามมาอีกสิ่งหนึ่งก็คือ สามารถคำนวณค่าจ้างแรงงานพนักงานตามรายชิ้นงานหรือรายชั่วโมงได้ คลังสินค้า การใช้ RFID ภายในกระบวนการรับ-ส่งสินค้า กระบวนการรับ-เบิกวัตถุดิบ ซึ่งช่วยลดระยะเวลาการตรวจเช็คสินค้า มีความถูกต้องแม่นยำสูงขึ้น จากการรู้ตำแหน่งการวางสินค้าอัตโนมัติจะมีเสียงเตือนเมื่อมีการวางสินค้าผิดตำแหน่ง ตัวอย่างเช่น คลังสินค้าแห่งหนึ่งได้ติดเครื่องอ่าน RFID พร้อมจอแสดงผลที่รถโฟล์คลิฟต์และติดแท็กไว้ที่พาเลท ซึ่งจะมีการลงทะเบียนข้อมูลไว้ตั้งแต่การรับสินค้าเข้าคลัง เมื่อมีการเคลื่อนย้ายพาเลทจะทราบตำแหน่งการจัดเก็บสินค้าแสดงข้อมูลบนจอภาพทันที จึงช่วยลดระยะเวลาการตรวจสอบและลดต้นทุนด้านแรงงานลงได้อย่างมาก อย่างไรก็ตาม ในการประยุกต์ใช้ RFID ควรมีการศึกษา และทำความเข้าใจระบบการทำงานของเทคโนโลยีนี้ก่อน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในงานด้านโลจิสติกส์ที่มีความเกี่ยวข้องกับทุกฝ่ายตั้งแต่ต้นน้ำจนถึงปลายน้ำ นอกจากนี้ยังควรคำนึงถึงความสามารถด้านการลงทุนในอุปกรณ์ฮาร์ดแวร์ ระบบซอฟต์แวร์ ระบบเครือข่าย และการประมวลผลต่างๆ ให้เหมาะสมกับธุรกิจหรือผลิตภัณฑ์ในปัจจุบัน โดยมีการกำหนดขอบเขตของการใช้งานเพื่อลดปัญหาที่อาจเกิดขึ้นได้ สุดท้ายในการเลือกใช้เทคโนโลยีใดๆ ก็ตาม ไม่จำเป็นต้องลงทุนสูงหรือใหม่ล่าสุดเสมอไป แต่ให้พิจารณาที่ความเหมาะสมกับงานและความพร้อมในธุรกิจ เพื่อให้เกิดความคุ้มค่าสูงสุดต่อองค์กร สำนักโลจิสติกส์ กรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ ได้เล็งเห็นถึงความสำคัญและประโยชน์ของเทคโนโลยี RFID จึงได้ดำเนินโครงการส่งเสริมการปรับกระบวนการโลจิสติกส์ด้วยเทคโนโลยี Application ระบบ RFID เพื่อเตรียมความพร้อมให้กับผู้ประกอบการไทยได้มีความรู้ความเข้าใจและสามารถประยุกต์ใช้ระบบ RFID ในการปรับกระบวนการต่างๆ ด้านโลจิสติกส์ได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยร่วมกับที่ปรึกษาผู้มีความเชี่ยวชาญเฉพาะด้าน RFID เข้าให้คำปรึกษาเชิงลึก ณ สถานประกอบการ วิเคราะห์และออกแบบระบบ พร้อมให้คำปรึกษาในการติดตั้งระบบ RFID จนแล้วเสร็จทั้งกระบวนการ ส่งผลให้สถานประกอบการสามารถลดต้นทุน เวลา และสร้างความน่าเชื่อถือให้กับองค์กร
15 มี.ค. 2562
Industrial Logistics Performance Index..Key Success Factor ตัวชี้วัดประสิทธิภาพด้านโลจิสติกส์..ปัจจัยสู่ความสำเร็จ
Industrial Logistics Performance Index..Key Success Factor ตัวชี้วัดประสิทธิภาพด้านโลจิสติกส์..ปัจจัยสู่ความสำเร็จ การกำหนดตัวชี้วัดความสามารถด้านโลจิสติกส์ถูกจัดทำขึ้นทั้งในระดับสากล ระดับชาติ และระดับองค์กร เช่น ตัวชี้วัดประสิทธิภาพด้านโลจิสติกส์ (Logistic Performance Index: LPI) โดยธนาคารโลก (World Bank) ตัวชี้วัดสมรรถนะของโซ่อุปทานด้วยแบบจำลอง SCOR (Supply Chain Operating Reference Model: SCOR Model) โดยองค์กร Supply Chain Council และตัวชี้วัดประสิทธิภาพด้านโลจิสติกส์ของสถานประกอบการภาคอุตสาหกรรม(Industrial Logistics Performance Index: ILPI) โดยสำนักโลจิสติกส์ กรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ เป็นต้น สิ่งสำคัญของตัวชี้วัดในทุกระดับ คือ ความมีระบบ หรือความมีมาตรฐานอันเป็นจุดเริ่มต้นของการพัฒนาการด้านโลจิสติกส์ ทำให้เกิดการลดต้นทุน ลดเวลา และสร้างความน่าเชื่อถือซึ่งผู้ประกอบการสามารถนำมาประยุกต์ใช้ในการประเมินมิติต่างๆ ของการจัดการโลจิสติกส์และโซ่อุปทานได้ การทำความเข้าใจเกี่ยวกับตัวชี้วัดความสามารถด้านโลจิสติกส์จึงเป็นสิ่งที่สำคัญ นอกจากจะทำให้ทราบถึงจุดแข็งและจุดอ่อนขององค์กรด้านโลจิสติกส์แล้ว ยังทำให้ทราบถึงศักยภาพหรือขีดความสามารถที่แท้จริงของตนเองว่าอยู่ในระดับใดเพื่อการปรับปรุงการดำเนินงานด้านโลจิสติกส์และโซ่อุปทานให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น นำไปสู่การเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันที่ยั่งยืนต่อไป บทความนี้ได้นำเสนอ ตัวชี้วัดประสิทธิภาพด้านโลจิสติกส์ของสถานประกอบการภาคอุตสาหกรรม(Industrial Logistics Performance Index: ILPI) เพื่อให้สถานประกอบการเห็นถึงความสำคัญของการประเมินประสิทธิภาพโลจิสติกส์ของตนเอง และพัฒนาองค์กรสู่เกณฑ์มาตรฐาน ILPI ได้รับการพัฒนาขึ้นโดยสำนักโลจิสติกส์ กรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ เพื่อใช้เป็นเกณฑ์เทียบวัด (Benchmark) ผลการดำเนินงานด้านโลจิสติกส์ของผู้ประกอบในกลุ่มอุตสาหกรรมเดียวกันรวมถึงกลุ่มอุตสาหกรรมอื่น จำนวน 24 กลุ่มอุตสาหกรรม 88 หมวดอุตสาหกรรมย่อย ซึ่งเริ่มดำเนินงานตั้งแต่ปี 2553 เป็นต้นมา เพื่อส่งเสริมให้เกิดการปรับปรุงและพัฒนาองค์กรสู่มาตรฐานด้านโลจิสติกส์ สามารถตอบสนองความต้องการของลูกค้า (Customer Service) ได้ทันเวลาและลดต้นทุนรวมด้านโลจิสติกส์ (Total Logistics Cost) โดยสามารถวัดประสิทธิภาพการดำเนินงานครอบคลุมกิจกรรมด้านโลจิสติกส์ทั้ง 9 กิจกรรม ดังรูปที่ 1 รูปที่ 1 กิจกรรมโลจิสติกส์ การประเมินองค์กรด้วย ILPI ในกิจกรรมโลจิสติกส์ทั้ง 9 กิจกรรม ถูกพิจารณาใน 3 มิติ มีตัวชี้วัดทั้งสิ้น 27 ตัวชี้วัด ตามโครงสร้างดังรูปที่ 2 ซึ่งแต่ละมิติมีแนวทางการประเมินคือ 1. มิติด้านต้นทุน (Cost Dimension) แสดงถึงสัดส่วนต้นทุนของกิจกรรมโลจิสติกส์เปรียบเทียบกับยอดขายประจำปีของกิจการสามารถใช้เป็นแนวทางในการปรับปรุงหรือควบคุมต้นทุนส่วนเกินที่ไม่จำเป็นได้โดยไม่ส่งผลเสียต่อคุณภาพสินค้าหรือการบริการ 2. มิติด้านเวลา (Time Dimension) ประกอบด้วยตัวชี้วัดที่ใช้ข้อมูลระยะเวลาของการเคลื่อนย้ายสินค้าที่อยู่นอกเหนือจากช่วงของกระบวนการผลิต และระยะเวลาการเคลื่อนย้ายของข้อมูลที่เริ่มตั้งแต่การรับข้อมูลและสิ้นสุดที่การส่งมอบข้อมูลให้แก่ลูกค้าหรือผู้ใช้สินค้าหรือบริการลำดับถัดไป 3. มิติด้านความน่าเชื่อถือ (Reliability Dimension) ประกอบด้วยตัวชี้วัดที่ใช้วัดความน่าเชื่อถือเกี่ยวกับการส่งมอบสินค้าและข้อมูล โดยสามารถแบ่งออกเป็น 2 ลักษณะ คือ ตัวชี้วัดด้านการส่งมอบตรงเวลา (On-time) และตัวชี้วัดด้านการส่งมอบครบจำนวน (In-full) จะเห็นได้ว่า ILPI เป็นเสมือนเครื่องมือที่ใช้ในการวัดและเปรียบเทียบ (Benchmarking Tools) ผลการดำเนินงานในมิติของการจัดการโลจิสติกส์และโซ่อุปทานเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีของการเรียนรู้เพื่อพัฒนาองค์กรอย่างต่อเนื่องทำให้เกิดการดำเนินกิจกรรมโลจิสติกส์อย่างมีประสิทธิภาพ รวดเร็ว เชื่อถือได้ และมีต้นทุนที่เหมาะสม รูปที่ 2โครงสร้างตัวชี้วัดประเมินประสิทธิภาพด้านโลจิสติกส์ ค่า ILPI จะมีความแม่นยำจนสามารถใช้เป็นตัวแทนและเป็นมาตรฐานในการเปรียบเทียบทุกระดับได้เมื่อมีการเก็บข้อมูลผลการประเมินในแต่ละตัวชี้วัดในจำนวนมากพอทำให้การกระจายของค่าตัวอย่างดังกล่าวมีแนวโน้มใกล้เคียงกับการแจกแจงแบบปกติ (Normal Distribution) ตามทฤษฎีแนวโน้มเข้าสู่ศูนย์กลาง (Central Limit Theorem) ผู้ประกอบการที่เข้าร่วมโครงการประเมิน ILPI จะก่อให้เกิดประโยชน์ต่อทุกภาคส่วน คือ ทำให้ทราบผลดำเนินงานด้านโลจิสติกส์ขององค์กร และทำให้ค่า ILPI ของกลุ่มอุตสาหกรรมและของประเทศมีความแม่นยำและมีมาตรฐานสามารถเทียบเคียงในระดับสากลได้หากผู้ประกอบการมี “มาตรฐานโลจิสติกส์” เป็นแนวทางในการปฏิบัติงานแล้ว ย่อมนำไปสู่หนทางแห่งความเป็นผู้นำทางด้านโลจิสติกส์และในโซ่อุปทานระดับโลก
15 มี.ค. 2562
การทำเหมืองข้อมูล (Data Mining)
การทำเหมืองข้อมูล (Data Mining) จากบทความใน Forum ฉบับที่แล้ว ได้พูดถึงโลกของข้อมูลและทิศทางการเติบโตของโลกจากการใช้ข้อมูล “Big Data” โดยแสดงให้เห็นว่าบริษัทที่ดำเนินกิจการเกี่ยวกับข้อมูลสารสนเทศ ไม่ว่าจะเป็นส่วน Hardware, Software, Network, Information หรือ Data Managements ล้วนประสบความสำเร็จติดอันดับต้นๆ แต่อย่างไรก็ดีการก้าวเข้าไปสู่ยุค “Big Data” หากจะให้เกิดประโยชน์ได้จริงผู้ใช้จะต้องมีความรู้ความเข้าใจและมีความสามารถทำการวิเคราะห์ข้อมูลที่มีอยู่มากมายนั้น ให้มาเป็นข้อมูลสารสนเทศที่ดีมีประโยชน์ เทคนิคที่ได้รับความนิยมในปัจจุบันคือการทำเหมืองข้อมูล (Data Mining) ซึ่งจะเน้นการจัดการข้อมูลที่ถูกต้อง จัดกลุ่มค้นหาความสัมพันธ์ของกลุ่มข้อมูล และนำมาสร้างแบบจำลองเพื่อทำนายสิ่งที่จะเกิดขึ้นในอนาคต การทำเหมืองข้อมูล (Data Mining) คือ การค้นหาข้อมูลที่มีประโยชน์จากแหล่งข้อมูลที่มีเป็นจำนวนมากมายมหาศาล เพื่อดึงข้อมูลที่มีประโยชน์มาทำการวิเคราะห์ค้นหารูปแบบหรือความสัมพันธ์ที่เกิดในฐานข้อมูล และจัดทำเป็นสารสนเทศเพื่อใช้ในการวางแผนบริหารจัดการธุรกิจ โดยการแยกข้อมูลที่มีประโยชน์ออกมาใช้งานเปรียบเทียบคล้ายกับการทำเหมืองแร่ ที่จะต้องทำการแยกเศษหินดินทรายที่ไม่มีค่าและมีปริมาณมากออกจากแร่ที่มีมูลค่ามากและมักจะมีปริมาณน้อย ขั้นตอนการทำเหมืองข้อมูลที่นิยมใช้ในปัจจุบันมีหลายแบบ แต่ที่จะนำมากล่าวคือวิธี Cross-Industry Standard Process for Data Mining (CRISP-DM) ที่มีการพัฒนาเป็น Workflow มาตรฐานสำหรับการทำเหมืองข้อมูล ประกอบด้วย 6 ขั้นตอนคือ 1. Business Understanding เน้นไปที่การทำความเข้าใจในงาน ระบุโอกาส และหาปัญหาที่จะเกิดขึ้นกับธุรกิจ กำหนดขอบเขตของข้อมูลที่จะนำวิเคราะห์หาความได้เปรียบทางการตลาดและแก้ไขปัญหาองค์กร ซึ่งต้องสามารถระบุผลลัพธ์ที่มีได้ 2. Data Understanding ทำความเข้าใจข้อมูลโดยการรวบรวมข้อมูลที่เกี่ยวข้อง คัดเลือกให้เหลือเพียงข้อมูลที่มีความถูกต้องและสำคัญต่องานมาทำการวิเคราะห์ 3. Data Preparation ทำการแปลงข้อมูล (Raw Data) ให้กลายเป็นข้อมูลที่สามารถนำมาช่วยในการวิเคราะห์ต่อไปได้ ขั้นตอนนี้จะใช้เวลามากที่สุดในทุกขั้นตอน เพราะคุณภาพของงานที่ได้จะดีเพียงใดขึ้นอยู่กับคุณภาพข้อมูลที่จัดเตรียมในขั้นนี้ การเตรียมข้อมูลประกอบด้วย การคัดเลือกข้อมูล การกลั่นกรองข้อมูล และแปลงรูปแบบของข้อมูล 4. Modeling การสร้างแบบจำลองเพื่อวิเคราะห์ข้อมูลที่ได้จากขั้นตอนที่ 3 พร้อมทดสอบผลลัพธ์แบบจำลองเพื่อให้ได้คำตอบที่ดีที่สุด บางครั้งอาจมีการย้อนกลับไปปรับการเตรียมข้อมูลเพื่อให้ได้แบบจำลองที่เหมาะสมที่สุด 5. Evaluation การประเมินผลลัพธ์ที่ได้ก่อนที่จะนำไปใช้จริง ว่าตรงกับวัตถุประสงค์หรือเป้าหมายที่ได้ตั้งไว้หรือมีความน่าเชื่อถือมากน้อยเพียงใด หากไม่ได้ผลลัพธ์ตามวัตถุประสงค์ต้องย้อนกลับไปปรับปรุงแก้ไขการดำเนินงานในขั้นตอนก่อนหน้า 6. Deployment การนำเอาข้อมูลที่เป็นผลลัพธ์จากทั้งหมด มาลองปฏิบัติจริงกับธุรกิจในองค์กร โดยแปลงแนวคิดที่มีให้เกิดเป็นสารสนเทศเพื่อให้ผู้บริหารหรือนักการตลาดเข้าใจสามารถนำไปใช้ประโยชน์ในทางธุรกิจได้จริง และติดตามประเมินผลที่ได้เพื่อนำกลับไปปรับปรุง Data Mining ต่อเนื่องต่อไป ซึ่งการประเมินผลสามารถทำได้หลายทางเช่น วัดจากส่วนแบ่งของตลาด วัดจากปริมาณลูกค้า หรือ วัดจากกำไรสุทธิ เป็นต้น จากขั้นตอนที่กล่าวมาคือการทำเหมืองข้อมูลในงานระบบทางธุรกิจ เป็นกระบวนการทางสถิติที่เน้นการจัดการข้อมูลที่มีจำนวนมากในหลากหลายรูปแบบ คัดเลือกเฉพาะข้อมูลที่สำคัญและจำเป็นต้องนำมาใช้งาน ทำการกำหนดรูปแบบจัดแบ่งกลุ่มลำดับความสำคัญ จากนั้นจึงจะเริ่มค้นหารูปแบบแนวทางและความสัมพันธ์ที่ซ่อนอยู่ในชุดข้อมูลนั้นโดยแต่ละขั้นตอนจะอาศัยผลลัพธ์จากอีกขั้นตอนหนึ่งกลายเป็นข้อมูลให้ขั้นตอนต่อไป การทำเหมืองข้อมูลจะช่วยเปลี่ยนข้อมูลดิบให้เป็นสารสนเทศที่มีประโยชน์ การระบุแหล่งข้อมูลที่ถูกต้องจึงเป็นสิ่งที่สำคัญต่อผลลัพธ์ที่ได้จากการวิเคราะห์ การทำเหมืองข้อมูลจำเป็นต้องอาศัยบุคลากรจากหลายฝ่ายและต้องอาศัยความรู้จำนวนมากถึงจะได้รับประโยชน์อย่างแท้จริง เพราะสิ่งที่ได้เป็นเพียงตัวเลขและข้อมูล ที่อาจจะนำไปใช้ประโยชน์ได้หรือใช้ประโยชน์อะไรไม่ได้เลยก็เป็นได้ ผู้ที่ศึกษาการทำเหมืองข้อมูลจึงควรมีความรู้รอบด้านและต้องติดต่อกับทุก ๆ ฝ่าย เพื่อให้เข้าใจถึงขอบเขตของปัญหาโดยแท้จริงก่อน เพื่อให้การทำเหมืองข้อมูลเกิดประโยชน์อย่างแท้จริง
15 มี.ค. 2562
“โลจิสติกส์” นิยามและความหมาย
“โลจิสติกส์” นิยามและความหมาย คำว่า " โลจิสติกส์ " ในปัจจุบันค่อนข้างเป็นที่คุ้นเคยของทุกท่านเป็นอย่างดี เนื่องจาก ไม่ว่าจะมองไปทางไหน ก็จะพบคำว่าโลจิสติกส์ ท่านทราบหรือไม่ว่า "โลจิสติกส์" คืออะไร แล้วมีความสำคัญอย่างไรกับธุรกิจของท่าน ความหมายตามศัพท์บัญญัติของสำนักงานราชบัณฑิตยสภา หมวดศัพท์เศรษฐศาสตร์ (พิมพ์ครั้งที่ 3 พ.ศ. 2558) บัญญัติศัพท์ “โลจิสติกส์” หมายถึง การจัดระบบการดำเนินงาน APICS The Association for Operations Management ได้ให้ความหมายของ Logistics ว่า “In an industrial context, the art and science of obtaining, producing, and distributing material and product in the proper place and in proper quantities” ในบริบทอุตสาหกรรม หมายถึงศิลปะและวิทยาศาสตร์ในการรับ ผลิต และกระจาย วัสดุและผลิตภัณฑ์ ไปยังสถานที่ที่เหมาะสมและในปริมาณที่เหมาะสม Council of Supply Chain Management Professionals (CSCMP) ได้ให้ความหมายของคำว่า Logistics management ดังนี้ “Logistics management is that part of supply chain management that plans, implements, and controls the efficient, effective forward and reverses flow and storage of goods, services and related information between the point of origin and the point of consumption in order to meet customers' requirements” การจัดการโลจิสติกส์เป็นส่วนหนึ่งของการจัดการโซ่อุปทาน ตั้งแต่การวางแผน ดำเนินการและควบคุม การจัดเก็บ การขนส่งสินค้าทั้งไปและกลับ ที่มีประสิทธิภาพและมีประสิทธิผล รวมถึงการบริการและข้อมูลที่เกี่ยวข้องตั้งแต่ต้นน้ำจนถึงจุดบริโภค เพื่อตอบสนองความต้องการของลูกค้า การดำเนินกิจกรรมต่างๆ นี้ มีเป้าหมายเพื่อตอบสนองความพึงพอใจของลูกค้าด้วยต้นทุนที่เหมาะสม อ้างอิงตามรายงานผลการศึกษา Fundamental of Logistics Management โดย Grant et. al., 2006 สรุปเป็นกิจกรรมหลักด้านโลจิสติกส์ 9 กิจกรรม ดังนี้ การให้บริการแก่ลูกค้าและกิจกรรมสนับสนุน (Customer Service and Support) การวางแผนหรือการคาดการณ์ความต้องการของลูกค้า (Demand Forecasting and Planning) การจัดซื้อจัดหา (Purchasing and Procurement) การบริหารสินค้าคงคลัง (Inventory Management) การสื่อสารด้านโลจิสติกส์และกระบวนการสั่งซื้อ (Logistics Communication and Order Processing) การจัดการวัสดุ และบรรจุภัณฑ์ (Materials Handling and Packaging) การขนส่ง (Transportation) การเลือกสถานที่ตั้งของโรงงานและการจัดการคลังสินค้า (Facilities Site Selection, Warehousing, and Storage) โลจิสติกส์ย้อนกลับ (Reverse Logistics) " โลจิสติกส์ " ซึ่งได้รับการนิยามโดยกองโลจิสติกส์ กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม หมายถึง กระบวนการวางแผน ดำเนินการ และควบคุม การเคลื่อนไหลทั้งไปและกลับและการจัดเก็บ วัสดุ สินค้าสำเร็จรูป ตลอดจนสารสนเทศที่เกี่ยวข้องให้มีประสิทธิภาพและประสิทธิผล จากจุดผลิตไปจนถึงจุดที่มีการใช้งาน เพื่อตอบสนองความต้องการของลูกค้า ด้วยความถูกต้องและเหมาะสมตามจังหวะเวลา คุณภาพ ปริมาณ ต้นทุน และสถานที่ที่กำหนด นิยามของ " โลจิสติกส์ " นี้ กำหนดขึ้นโดยพิจารณาจากบทบาทความรับผิดชอบและพันธกิจที่เกี่ยวเนื่องและสอดคล้องกับภารกิจในส่วนของอุตสาหกรรมภาคการผลิต ที่ครอบคลุมการพัฒนาส่งเสริมกระบวนการบริหารจัดการกิจกรรมด้านโลจิสติกส์ ตั้งแต่ต้นน้ำ จนถึงปลายน้ำ การวางแผน การคาดการณ์ การจัดซื้อจัดหา การผลิต การเคลื่อนย้าย การจัดเก็บ การรวบรวม การขนส่ง และการกระจาย ทั้งขาเข้าและขาออก ทั้งภายในและภายนอกสถานประกอบการอุตสาหกรรมให้ได้มาตรฐานสากล ลดต้นทุน เพิ่มขีดความสามารถของธุรกิจในการตอบสนองความต้องการของลูกค้า และเพิ่มความปลอดภัย และความเชื่อถือได้ในกระบวนการนำส่งสินค้าและบริการ และทั้งหมดนี้ Sense of Logistics มีความมุ่งหมายที่ตรงกัน นั่นคือ ยกระดับศักยภาพกระบวนการผลิต และการกระจายสินค้า/บริการ ให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด ทั้งด้านเวลา ต้นทุน และคุณภาพ อ้างอิง Blackstone. APICS Dictionary Thirteenth Edition , 2010 : 82 https://cscmp.org/ Grant et. al. Fundamental of Logistics Management Berkshire : McGraw, 2006: 17-19
12 ก.พ. 2562
Benchmarking : เครื่องมือสู่ความเป็นเลิศทางธุรกิจ
อรพิน อุดมธนะธีระ นักวิชาการอุตสาหกรรมชำนาญการพิเศษ จากคำพูดที่ว่า “You can’t manage what you don’t measure” ซึ่งเป็นแนวคิดด้านการบริหารในอดีตที่ยังคงสามารถใช้ได้จนถึงปัจจุบัน แสดงให้เห็นว่าการที่เราจะบริหารสิ่งใด เราจำเป็นที่จะต้องสามารถวัดผลจากการบริหารนั้นได้ด้วย การวัดผลองค์กรของตนเอง และเปรียบเทียบกับองค์กรอื่นที่ทำได้ดีกว่า เพื่อการพัฒนาตนเอง เรียกว่า “Benchmarking” ความหมายของ Benchmarking Benchmarking หมายถึง วิธีการในการวัดและเปรียบเทียบ ผลิตภัณฑ์ บริการและวิธีการปฏิบัติกับองค์กรที่สามารถทำได้ดีกว่า หรือองค์กรชั้นนำในกลุ่ม (Best-in-Class) เพื่อนำผลของการเปรียบเทียบมาใช้ในการปรับปรุงองค์กรของตนเองเพื่อมุ่งสู่ความเป็นเลิศทางธุรกิจ โดยนำวิธีการปฏิบัติที่ดี (Best Practice) ขององค์กรชั้นนำในกลุ่มซึ่งประสบความสำเร็จมากกว่า ไปประยุกต์ใช้เพื่อพัฒนาตนเองให้เท่าเทียมหรือเหนือกว่าคู่แข่ง กระบวนการทำ Benchmarking การทำ Benchmarking เป็นการพัฒนาตนเองอย่างเป็นระบบต่อเนื่องและเป็นรูปธรรม ที่สามารถวัดและตรวจสอบได้ มีขั้นตอนในการทำ 4 ขั้นตอน ดังนี้ 1. เราอยู่ที่ไหน กำหนดเป้าหมายในการเปลี่ยนแปลงและพัฒนาขององค์กร ระบุถึงตัวชี้วัด (KPIs) และวิธีการเทียบประเมินในมติต่างๆ 2. ใครเก่งที่สุด ดำเนินการวัดตนเองตามตัวชี้วัดที่กำหนด และเปรียบเทียบผลกับองค์กรชั้นนำในกลุ่ม โดยข้อมูลต้องมีความน่าเชื่อถือ 3. เขาทำอย่างไร วิเคราะห์ช่วงห่าง (Gap) ของสมรรถนะต่างๆ หาสาเหตุที่เกิดขึ้น และศึกษาวิธีการปฏิบัติที่ดี (Best Practice) ขององค์กรชั้นนำ เพื่อปรับปรุงการปฏิบัติงานให้ดีขึ้น 4. เราจะทำอย่างไรให้ดีกว่า จากผลการศึกษาวิเคราะห์นำมาประยุกต์ใช้กับองค์กร เพื่อสร้างคุณภาพ ประสิทธิภาพ และประสิทธิผล ยกระดับความสามารถในการแข่งขันขององค์กรให้ยั่งยืนต่อไป การ Benchmarking ประสิทธิภาพโลจิสติกส์ภาคอุตสาหกรรม การบริหารจัดโลจิสติกส์และโซ่อุปทานอย่างมีประสิทธิภาพของภาคอุตสาหกรรม ส่งผลโดยตรงต่อการลดต้นทุน และเพิ่มความพึ่งพอใจของลูกค้า การทำ Benchmarking เพื่อประเมินประสิทธิภาพด้านโลจิสติกส์และโซ่อุปทาน เป็นเรื่องสำคัญและมีความจำเป็นสำหรับผู้ประกอบการ กองโลจิสติกส์ จึงได้กำหนดตัวชี้วัดประสิทธิภาพด้านโลจิสติกส์ ที่เป็นรูปธรรม จำนวน 27 ตัวชี้วัด ครอบคลุ่ม 9 กิจกรรมด้านโลจิสติกส์ ใน 3 มิติ ด้านต้นทุน เวลา และความน่าเชื่อถือ ซึ่งสามารถนำไปเป็นเครื่องมือที่ใช้ได้จริงในการดำเนินงานของสถานประกอบการ โดยอาจจะนำไปปรับเป็น KPIs สำหรับแต่ละแผนกในองค์กรเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืนต่อไป สำหรับท่านที่ประสงค์จะประเมินประสิทธิภาพโลจิสติกส์ขององค์กร สามารถ Download คู่มือการประเมินฯ เพื่อศึกษารายละเอียดตัวชี้วัด และทำการกรอกข้อมูลในฟอร์ม Ms Excel ที่ได้ผูกสูตรไว้แล้ว ซึ่งจะทราบผลการประเมินทันที หรือประเมินเปรียบเทียบกับหน่วยงานอื่นผ่านระบบ Online ภายใต้ชื่อเว็บไซต์ https://thailogisticsbenchmark.com/ ของ กองโลจิสติกส์ กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม Download Click >>> คู่มือการประเมิน ตัวชี้วัดประสิทธิภาพโลจิสติกส์ภาคอุตสาหกรรม Download Click >>> Ms Excel ประเมินประสิทธิภาพโลจิสติกส์ภาคอุตสาหกรรม
12 ก.พ. 2562