ทำไมต้อง e-Business


15 มี.ค. 2562    รัตนทัต    18

ดร.วรัญญา ติโลกะวิชัย

ที่ปรึกษาโครงการเพิ่มประสิทธิภาพโลจิสติกส์ภาคอุตสาหกรรม (Logistics Consult)
กลุ่มอุตสาหกรรมอาหารและยา

ทำไมต้อง e-Business

          ในการดำเนินธุรกิจปัจจุบันจำเป็นต้องรวดเร็วถูกต้อง และมีประสิทธิภาพเพื่อให้เกิดความสามารถทางการแข่งขัน  องค์กรจำเป็นต้องมีความยืดหยุ่นในการบริหารจัดการให้สามารถตอบสนองความต้องการของตลาดที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วซึ่ง e-Business (Electronic Business) เป็นการดำเนินงานของธุรกิจด้วยการใช้เทคโนโลยีอินเตอร์เน็ต (Internet Technology) เพื่อปรับปรุงประสิทธิภาพการดำเนินงานภายในองค์กร (Intra-Organization) ลดต้นทุน เพิ่มคุณค่าให้กับสินค้าและ/หรือบริการ สร้างความสัมพันธ์ที่ดีผู้ขายและลูกค้า ทำให้เกิดประสิทธิภาพในการดำเนินงานทั้งโซ่คุณค่า (Value Chain) และโซ่อุปทาน (Supply Chain Performance) ดังแสดงในรูปที่ 1

รูปที่  1 แสดงความสัมพันธ์ e-business ในโซ่คุณค่า (Value Chain) และSupply chain

          จากรูปที่ 1 แสดงถึงโซ่คุณค่าที่ประกอบด้วย กิจกรรมหลัก (Primary activities) และกิจกรรมสนับสนุน (Support Activities) ซึ่งกิจกรรมหลักเป็นกิจกรรมที่สร้างคุณค่าให้กับลูกค้าโดยตรง กิจกรรมหลักจะประกอบด้วยโลจิสติกส์ขาเข้า (Inbound Logistics) การดำเนินการ (Operations) ฝ่ายขายและตลาด (Sales and Marketing) การบริการ (Service) และโลจิสติกส์ขาออก (Outbound Logistics) โดยมีการนำเทคโนโลยีเข้ามาช่วยในแต่ละกิจกรรม

          ส่วนกิจกรรมสนับสนุนจะเป็นกิจกรรมที่สนับสนุนกิจกรรมหลักให้สามารถทำงานให้เกิดประสิทธิผลอย่างมีประสิทธิภาพ ประกอบด้วยโครงสร้างองค์กรในส่วนของการบริหารและการจัดการ (Administration and Management) ทรัพยากรมนุษย์ (Human Resources) เทคโนโลยี (Technology) และการจัดซื้อจัดหา (Procurement) ซึ่งได้มีการนำ e-business เข้ามาใช้ในแต่ละกิจกรรม ดังแสดงในรูปที่ 1

ในที่นี้ขออธิบายถึง e-business ที่สำคัญ ได้แก่

          1. ระบบการวางแผนทรัพยากร (Enterprise Resource Planning: ERP) เป็นระบบที่ใช้ในการบริหารจัดการทรัพยากรทั้งองค์กรด้วยการเชื่อมโยงระบบงานต่างๆ เข้าด้วยกัน ตั้งแต่ระบบงานขาย ทรัพยากรบุคคล จัดซื้อ การผลิต การจัดการคลังสินค้า การจัดการสินค้าคงคลัง การกระจายสินค้า และบัญชีและการเงิน ซึ่งองค์กรสามารถวางแผนและบริหารทรัพยากรได้อย่างมีประสิทธิภาพลดเวลาและขั้นตอนการทำงานขององค์กร

          2. Business Intelligence (BI) ระบบที่ใช้ในการเก็บรวบรวมข้อมูล และนำเสนอสารสนเทศ ที่สามารถวิเคราะห์ได้หลายมุมมอง (Multidimensional Model) ช่วยให้ผู้ใช้งานสามารถวิเคราะห์และตัดสินใจได้รวดเร็วและถูกต้อง เช่น การวิเคราะห์สินค้าคงคลัง การวิเคราะห์ลูกค้า การวิเคราะห์ผู้ขาย การวิเคราะห์คู่แข่ง เป็นต้น

          3. e-SupplyChain Management (e-SCM) เป็นการจัดการโซ่อุปทานด้วยการใช้เทคโนโลยีอินเตอร์เน็ต เพื่อปรับปรุงและเพิ่มประสิทธิภาพกิจกรรมในโซ่อุปทาน (Supply Chain Activities)  ซึ่งกิจกรรมและโครงสร้าง (Activities and Infrastructure) ของ e-SCM เช่น ระบบการเติมเต็มสินค้าอัตโนมัติ (Collaborative Planning Forecasting and Replenishment : CPFR)เป็นระบบที่ช่วยวางแผนพยากรณ์ความต้องการสินค้าจากผู้ซื้อและการเติมเต็มสินค้าจากผู้ขาย การจัดซื้อจัดหาอิเล็กทรอนิกส์ (e-Procurement) การจัดการสินค้าคงคลังโดยใช้อุปกรณ์ไร้สาย เช่น เครื่องอ่านบาร์โค้ดแบบพกพา การใช้ RFID (Radio Frequency Identification) เป็นต้นรวมทั้งการพัฒนาผลิตภัณฑ์ร่วมกันกับผู้ขายและ/หรือลูกค้า จนถึงการส่งมอบ และการรับคืนสินค้า ซึ่งความสำเร็จของ e-SCM ขึ้นกับความสามารถในการร่วมมือกันในการทำงานระหว่างองค์กรในโซ่อุปทาน เป็นการบูรณาการทั้งโซ่อุปทานด้วยการใช้เทคโนโลยีอินเตอร์เน็ต เช่น การแบ่งปันข้อมูลระหว่างผู้ซื้อและผู้ขาย ผู้ซื้ออนุญาตให้ผู้ขายเข้าถึงข้อมูลการขายและคลังสินค้า ในสินค้าทุกรายการของผู้ขายด้วยระบบการบริหารคลังสินค้าโดยผู้ขาย(Vendor Management Inventory : VMI) ผ่าน Extranet ทำให้ผู้ขายได้ข้อมูลความต้องการของผู้ซื้ออย่างรวดเร็วถูกต้องและส่งผลให้ผู้ซื้อมีปริมาณสินค้าคงคลังที่เหมาะสม เป็นต้น

          4. e-Commerce เป็นการดำเนินธุรกิจผ่านเทคโนโลยีอินเตอร์เน็ตประกอบด้วย Upstream supply chain เป็นการดำเนินธุรกิจระหว่างองค์กรทางด้านซื้อ (Buy-Side e-Commerce) และ Downstream supply chainเป็นการดำเนินธุรกิจระหว่างองค์กรทางด้านขาย (Sell-Side e-Commerce) ซึ่ง e-Commerce  เป็นส่วนหนึ่งของe-Business ดังแสดงดังรูปที่ 2

 

รูปที่ 2 แสดงความสัมพันธ์ระหว่าง e-Commerce และ e-Business

ตารางที่ 1 แสดงการเปรียบเทียบระหว่างการการดำเนินธุรกิจแบบดั้งเดิม (Traditional) กับ e-Commerce

          จากตารางที่ 1 แสดงให้เห็นว่าแต่ละกิจกรรมที่เกิดขึ้นในการดำเนินธุรกิจแบบดั้งเดิม (Traditional) กับ e-Commerce มีการดำเนินงานที่แตกต่างไปจากเดิม ด้วยการใช้เทคโนโลยีอินเตอร์เน็ตเข้ามาช่วยในการทำงาน

          การนำ e-Business มาใช้ในองค์กรรวมทั้งห่วงโซ่อุปทานขององค์กรทำให้องค์กรสามารถทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพรวดเร็ว ถูกต้องเพิ่มคุณค่าให้กับสินค้าและ/หรือบริการ สร้างความสัมพันธ์ที่ดีทั้งกับผู้ขายและลูกค้า ทำให้องค์กรเกิดความได้เปรียบทางการแข่งขัน อีกทั้งช่วยลดต้นทุนการดำเนินงาน นั่นหมายถึงกำไรที่เพิ่มขึ้นขององค์กร ซึ่งเป็นเหตุผลว่าทำไมต้อง e-Business