ตรวจสุขภาพธุรกิจของคุณแล้วหรือยัง?
สรศักดิ์ สมเจษ นักวิชาการอุตสาหกรรมชำนาญการพิเศษ ผู้ประกอบการยุคใหม่ จำเป็นต้องคิดไกลมากกว่าการทำธุรกิจภายในประเทศ เนื่องจากการพัฒนาเทคโนโลยีด้านการสื่อสารทำให้โลกแคบลง และติดต่อทำการค้าระหว่างกันง่ายขึ้น โลกของธุรกิจยุคใหม่ ลูกค้าจะไม่ได้มีแค่คนไทยเท่านั้น แต่ยังเป็นลูกค้าต่างประเทศ ดังนั้นการบริหารจัดการโลจิสติกส์และซัพพลายเชน หรือระบบการจัดการการส่งสินค้า ข้อมูล และทรัพยากรจากจุดต้นทางไปยังจุดบริโภคตามความต้องการของลูกค้า จึงต้องมีความเป็นมืออาชีพและมีมาตรฐานระดับนานาชาติ เพื่อสร้างความมั่นใจ และรักษาการเติบโตได้อย่างยั่งยืน และเพื่อเป็นเครื่องมือให้ผู้ประกอบการไทยได้ตรวจเช็คศักยภาพของตนเองในการจัดการโลจิสติกส์และซัพพลายเชน กองโลจิสติกส์ กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม ได้จัดทำและพัฒนาฐานข้อมูลเกณฑ์เทียบวัด (Benchmark) โดยการสำรวจจัดเก็บข้อมูลตัวชี้วัดประสิทธิภาพโลจิสติกส์ภาคอุตสาหกรรม (Industrial Logistics Performance Index: ILPI) และข้อมูลเกณฑ์ประเมินศักยภาพการจัดการโลจิสติกส์ (Logistics Scorecard: LSC) แยกตามกลุ่มอุตสาหกรรม (International Standard Industrial Classification: ISIC) จากสถานประกอบการชั้นนำในกลุ่ม (Best in Class) โดยดำเนินการจัดเก็บตัวชี้วัด พร้อมทั้งวิเคราะห์ข้อมูลจากการสำรวจจัดเก็บและพัฒนาฐานข้อมูลสู่การจัดทำเกณฑ์เทียบวัดประสิทธิภาพโลจิสติกส์ จากผู้นำกลุ่มให้มีมาตรฐาน เพื่อให้สถานประกอบการสามารถนำเกณฑ์เทียบวัดไปใช้เป็นเกณฑ์การประเมินสมรรถนะความสามารถในการดำเนินงานด้านโลจิสติกส์ในสถานประกอบการของตนเอง และนำผลของการเปรียบเทียบมาใช้ในการปรับปรุงองค์กรของตนเองเพื่อมุ่งสู่ความเป็นเลิศ ผู้ประกอบการที่สนใจตรวจเช็คสุขภาพธุรกิจ ด้านการจัดการโลจิสติกส์และซัพพลายเชน สามารถทำได้ด้วยตนเอง ด้วยการเข้าไปที่เว็บไซต์ http://thailogisticsbenchmark.com สุขภาพร่างกายของคนเราหากสมบูรณ์ย่อมส่งผลให้การทำกิจกรรมในชีวิตประจำวันเป็นไปอย่างราบรื่นและมีประสิทธิภาพ การดำเนินธุรกิจยุค 4.0 ก็เฉกเช่นเดียวกัน นอกเหนือจากการปรับปรุงสินค้าและบริการ โดยใช้นวัตกรรมและความคิดสร้างสรรค์ ในการพัฒนาต่อยอดแล้ว สิ่งที่มีความสำคัญที่สุด คือ การปรับองค์กรให้รองรับกับการเปลี่ยนแปลงของสภาพแวดล้อมทางธุรกิจ ดังนั้น ปัจจัยที่จะทำให้ธุรกิจประสบความสำเร็จอย่างยั่งยืน ต้องปรับตัวและพัฒนาตัวเองอย่างต่อเนื่อง มาเช็คสุขภาพธุรกิจของคุณเพื่อความพร้อมที่จะก้าวไปข้างหน้าอย่าง มั่นคง มั่งคั่ง และยังยืน ต่อไป
31 พ.ค. 2562
การพัฒนาโซ่อุปทานสำหรับ SMEs ผ่านวิธีคิดแบบ SCOR Model
มงคล พัชรดำรงกุล ที่ปรึกษาโครงการสร้างความร่วมมือและการเชื่อมโยงกลุ่มอุตสาหกรรม SMEs E-Mail :naitakeab@gmail.com, http://naitakeab.blogspot.com ด้วย SMEs ไทย คือ เครื่องจักรและฟันเฟืองสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจให้เจริญก้าวหน้า SMEs จึงจำเป็นต้องเรียนรู้ ปรับตัว เพื่อให้เจริญเติบโตอย่างยั่งยืน ภายใต้สภาพทางการแข่งขัน และความต้องการของลูกค้าที่มีความผันแปรตลอดเวลา ควบคู่ไปกับเทคโนโลยีเครื่องมือในการดำเนินงานด้านต่างๆ ของโลกได้รับการพัฒนาอย่างต่อเนื่องเข้าสู่ยุค Digital อย่างเต็มรูปแบบ หลาย SMEs ไทยเริ่มซึมซับถึงความจำเป็นที่ต้องบริหาร และควบคุมกระบวนการต่างๆ ที่เกี่ยวข้องและเชื่อมโยงกันตลอดโซ่อุปทาน หรือ Supply Chain ทั้งผู้ส่งมอบ ผู้ผลิต และลูกค้า โดยมีเป้าหมายสูงสุดคือการสร้างประสิทธิภาพและความสมดุลร่วมกัน (Optimization) ตลอดโซ่อุปทาน ภาพที่ 1 ขั้นตอนการจัดการโซ่อุปทานตามแบบ SCOR Model ตัวแบบสำคัญที่ใช้ในการพัฒนาการจัดการโซ่อุปทานที่สากลนิยมนำมาประยุกต์ใช้ และ SMEs ไทยจำเป็นต้องเรียนรู้ก็คือ SCOR Model ซึ่งให้ความสำคัญกับกระบวนสร้างความเป็นเลิศอย่างเป็นระบบทั้ง 6 กระบวนหลักภายในโซ่อุปทาน คือ Plan Source Make Deliver Return และ Enable โดยมีเป้าหมายให้เกิดประสิทธิผล 5 ด้าน คือ Reliability, Responsiveness, Agility, Cost และ Asset Management Efficiency ดังภาพที่ 2 ภาพที่ 2 เป้าหมาย 5 ด้าน กระบวนการ 6 อย่าง ในการจัดการโซ่อุปทาน ส่วนแนวทางการพัฒนาปรับปรุงการจัดการโซ่อุปทานอย่างไรให้เหมาะสมและสอดคล้องกับ SMEs นั้น ภายใต้โครงการ “สร้างความร่วมมือและการเชื่อมโยงกลุ่มอุตสาหกรรม SMEs” โดยการสนับสนุนงบประมาณจากกองโลจิสติกส์ กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม ได้กำหนดกรอบแนวคิดและวิธีการโดยใช้วิธีคิดตามแบบ SCOR Model มาเป็นแนวทางไว้ดังภาพที่ 2 โดยสามารถแบ่งขั้นตอนออกเป็น 4 ส่วนหลักๆ คือ การวิเคราะห์และจัดทำกลยุทธ์คือ การดำเนินการวิเคราะห์และกำหนดว่ากลยุทธ์ใดสำคัญ โดยจะพิจารณาจากเป้าหมาย 5 ด้านหลัก โดยกลยุทธ์ 3 ด้านแรกมุ่งเน้นให้ความสำคัญต่อลูกค้า คือ Reliability, Responsiveness และ Agility ส่วนกลยุทธ์ที่ 4 และ 5 เป็นกลยุทธ์ที่มุ่งเน้นด้านประสิทธิภาพการดำเนินการขององค์กร การคัดเลือกผลิตภัณฑ์และศึกษาทำความเข้าใจโครงสร้างโซ่อุปทานคือ การศึกษาและทำความเข้าใจเพื่อเชื่อมโยงให้เห็นถึงกระบวนการ ผู้ที่เกี่ยวข้องเกี่ยวกับโซ่อุปทานของสินค้า ที่ได้รับการคัดเลือกมาพัฒนาโซ่อุปทาน โดยจะมีกิจกรรมสำคัญๆ 4 อย่างคือ 1) การคัดเลือกผลิตภัณฑ์ 2) การจัดทำโครงสร้าง Chain 3) การจัดทำแผนภาพทางภูมิศาสตร์4) การจัดทำรูปแบบความเชื่อมโยงของแต่ละกระบวนการภายใต้ผลิตภัณฑ์ที่ได้คัดเสือก การวิเคราะห์และประเมินผลกระบวนการ/ขั้นตอนการทำงานคือ การประยุกต์แนวคิดตัวแบบ SCOR ผ่านกลไกการบริหารจัดการ 4P (Performance Process Practice People) โดยการวิเคราะห์ประสิทธิผลจะนำเป้าหมาย 5 ด้าน (Reliability, Responsiveness, Agility, Cost และ Asset Management Efficiency) และกระบวนการ 6 อย่าง (Plan Source Make Deliver Return และ Enable) มาทำการวิเคราะห์ปัญหาและโอกาสพัฒนาปรับปรุงภายใต้โซ่อุปทานของ Product นั้นๆ การดำเนินการพัฒนาปรับปรุงคือ การนำประเด็นการพัฒนาปรับปรุงที่ได้วิเคราะห์ มากำหนดมาตรการ โดยใช้หลักการปฏิบัติ (Practice) มาใช้เป็นแนวทางในการดำเนินการ รวมทั้งส่งเสริมการพัฒนาบุคลากร (People) เพื่อให้มีศักยภาพในการใช้หลักปฏิบัติ และพัฒนาวิธีการดำเนินงานที่มีประสิทธิภาพเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยรูปแบบของการปรับปรุงสามารถดำเนินการได้ 4 ลักษณะ คือ การปรับปรุงเฉพาะตัวองค์กร (Company) การปรับปรุงร่วมกันกับผู้ส่งมอบ (Supplier) การปรับปรุงร่วมกันกับลูกค้า (Customer) การปรับปรุงร่วมกันกันทั้งโซ่อุปทาน (Supply Chain) สรุปได้ว่า การพัฒนาโซ่อุปทานสำหรับ SMEs โดยใช้ SCOR Model จะเป็นการสร้างและพัฒนาเครือข่ายในระบบโซ่อุปทานให้เป็นไปอย่างยั่งยืน
31 พ.ค. 2562
ความมั่นคงปลอดภัยของระบบสารสนเทศใน Supply Chain ต่อทางรอดทางธุรกิจ
นางสาวนันท์ บุญยฉัตร วิศวกรโลหการชำนาญการ กองโลจิสติกส์ จากสถานการณ์การระบาดของมัลแวร์คอมพิวเตอร์เรียกค่าไถ่ Wanna Cry ตั้งแต่วันที่ 12 พฤษภาคม 2560 โดยเครื่องคอมพิวเตอร์ที่ติดมัลแวร์ดังกล่าวจะไม่สามารถเปิดใช้งานข้อมูลใดๆได้เลย เว้นแต่ยอมจ่ายเงินสกุลดิจิทัลเสมือนจริง “บิตคอยน์” (Bit coin) เพื่อให้ได้รับรหัสมาปลดล็อก จนปั่นป่วนไปทั่วโลก ทำให้ประเทศไทยตื่นตัว ทั้งหน่วยราชการและเอกชน เพื่อรับมือกับภัยคุกคามทางด้านไอที โดยเฉพาะปัจจุบันที่อุตสาหกรรมไทยมุ่งเข้าสู่อุตสาหกรรม 4.0 ตามนโยบายของรัฐบาล และเพื่อเป็นการเพิ่มประสิทธิภาพการดำเนินงานขององค์กร จึงทำให้ผู้ประกอบการนำระบบเทคโนโลยีสารสนเทศมาใช้ในการดำเนินการทางธุรกิจเพื่อเชื่อมโยง กระบวนการผลิต และการทำธุรกรรมต่างๆ ใน Supply Chain มากขึ้น เช่น การใช้ระบบ ERP ในกระบวนการทำงานขององค์กร และการจัดเก็บข้อมูลในรูปแบบอิเล็คทรอนิกส์ เป็นต้น ดังนั้น ผู้ประกอบการไทยจึงมีความจำเป็นอย่างยิ่งในการเตรียมความพร้อมรับมือภัยคุกคามทางด้าน IT ซึ่งเครื่องมือหนึ่งในการลดความเสี่ยง คือ การนำระบบการจัดการมาตรฐาน ISO 22301 และมาตรฐาน ISO 27001 มาประยุกต์ใช้ในองค์กร มาตรฐาน ISO 22301 (มาตรฐานการบริหารความต่อเนื่องทางธุรกิจ) เป็นมาตรฐานสากลที่ให้ความสำคัญในการเตรียมความพร้อมรับมือกับภัยคุกคามต่างๆ ที่มีต่อธุรกิจ โดยองค์กรจะมีการวิเคราะห์และการจัดการความเสี่ยงขององค์กรอย่างเป็นระบบ และมีการจัดทำแผนฉุกเฉินทางธุรกิจกรณีที่เกิดภัยคุกคาม หรือแผนบริหารความต่อเนื่องทางธุรกิจ (Business Continuity Plan : BCP) ซึ่ง BCP คือ ขั้นตอนการดำเนินการที่จะให้กิจการสามารถให้บริการหรือผลิต และส่งสินค้าให้ลูกค้าได้แม้จะอยู่ในสถานการณ์ที่เกิดภัยคุมคามที่ไม่สามารถคาดหมายได้ก่อนล่วงหน้าหรือไม่เคยเกิดขึ้นกับกิจการมาก่อน เช่น ภัยธรรมชาติ (เช่น แผ่นดินไหว สึนามิ) การโจมตีของผู้ก่อนการร้าย หรือเกิดการแพร่กระจายของไวรัสคอมพิวเตอร์ เป็นต้น ส่วนมาตรฐาน ISO 27001 (มาตรฐานระบบการจัดการความมั่นคงปลอดภัยด้านสารสนเทศ) เป็นมาตรฐานที่สำคัญที่ช่วยให้องค์กรมีความสามารถในการบริหารจัดการสารสนเทศขององค์กรให้มีความมั่นคงปลอดภัยอย่างเป็นระบบ พร้อมในการใช้งาน โดยการประยุกต์ใช้กระบวนการบริหารความเสี่ยงทาง IT และมีการจัดทำแผนการกอบกู้ระบบ (Disaster Recovery Plan : DRP) เพื่อลดความเสี่ยงจากภัยคุกคามต่างๆ ซึ่งแผน DRP เป็นขั้นตอนการดำเนินการในการกู้ระบบเทคโนโลยีสารสนเทศ ในกรณีที่ระบบล่ม (System Down) ที่มาจากภัยคุมคาม โดยในรายละเอียดของแผนจะกล่าวถึงแผนโต้ตอบภาวะฉุกเฉิน (Emergency Response Procedure) กระบวนการสำรองข้อมูล (Extended Backup Operation) และการกู้คืนอุปกรณ์ที่สำคัญของระบบคอมพิวเตอร์ (Restoring Computing Facilities) จะเห็นได้ว่าแผน DRP เป็นส่วนหนึ่งของแผน BCP โดยแผน DRP จะเน้นด้าน IT เป็นหลัก ในขณะที่แผนBCP จะกล่าวถึงภาพรวมการดำเนินงานขององค์กรทั้งหมดจากความสัมพันธ์ที่เกี่ยวข้องกันนี้องค์กรจึงควรจัดทำแผน BCP และ DRP ร่วมกันเสมอเพราะเทคโนโลยีสารสนเทศมีความสำคัญต่อธุรกิจในปัจจุบันเป็นอย่างมากโดยเฉพาะในยุคดิจิตอล ถ้าเกิดการหยุดชะงักก็จะส่งผลกระทบต่อกระบวนการต่างๆ และส่งผลให้เกิดการหยุดชะงักของธุรกิจได้ ซึ่งการจัดทำแผนอาจแตกต่างกันในแต่ละประเภทและขนาดของกิจการ แต่ในบางธุรกิจระบบเทคโนโลยีสารสนเทศเป็นส่วนสำคัญในการนำข้อมูลในฐานข้อมูลกลับมาทำการเชื่อมโยงเพื่อให้เกิดการใช้งานในธุรกิจได้ ดังนั้น ต้องเน้นการประสานและเชื่อมโยงกันของแผน BCP กับแผน DRP เพื่อกอบกู้ระบบงานหลักของธุรกิจให้กลับมาอยู่ในสภาพพร้อมที่จะใช้งานตามปกติ ตัวอย่างกลยุทธ์ในการจัดทำแผน DRP คือ การจัดเตรียม DR-Site หรือ Disaster Recovery Site เป็น แนวทางในการกู้คืนระบบที่มีความสำคัญ ซึ่งเกิดจากภัยพิบัติต่างๆ อันเป็นเหตุให้ระบบ Data Center หลักหยุดให้บริการ จึงจำเป็นต้องใช้ Site สำรองในการทำงานแทนโดยมีทางเลือกในการดำเนินการสำหรับ DR-Site ดังนี้ Hot Sites คือ การสร้างระบบสำรองที่เหมือนกับระบบหลัก โดยจะพร้อมทำงานแทนระบบหลักได้ทันที Warm Sites คือ คล้ายกับ Hot site แต่มีการใช้งานเพียงบางแอปพลิเคชั่นเท่านั้น หรือเป็นระบบสำรองที่สามารถทำงานได้เมื่อมีการอัพเดทข้อมูลที่ได้จากการทำสำรองข้อมูล Cold Sites คือ พื้นที่สำรองที่มีเพียงบริการพื้นฐานที่พร้อมใช้งานสำหรับการดำเนินการ โดยมีทรัพยากรที่จำกัด ดังนั้น เมื่อองค์กรได้เลือกกลยุทธ์แล้ว ก็มากำหนดหน้าที่ความรับผิดชอบและขั้นตอนการดำเนินการตามกลยุทธ์ที่ได้เลือกเพื่อรองรับภัยคุกคามที่จะเกิดขึ้นต่อไป
31 พ.ค. 2562
UN/LOCODE รหัสสถานที่เพื่อการเชื่อมโยงการค้าและการขนส่งสินค้าไทย ก้าวไกลสู่ตลาดโลก
ดร.จุฑารัตน์ อาชวรัตน์ถาวร นักวิทยาศาสตร์ชำนาญการ UN/LOCODE รหัสสถานที่เพื่อการเชื่อมโยงการค้าและการขนส่งสินค้าไทย ก้าวไกลสู่ตลาดโลก กองโลจิสติกส์ ตระหนักถึงความจำเป็นเร่งด่วนในการปฏิบัติตามหลักเกณฑ์และข้อกำหนดต่างๆ ซึ่งเป็นไปตามความตกลงว่าด้วยการอำนวยความสะดวกทางการค้าตามกรอบองค์การการค้าโลก (WTOTrade Facilitation Agreement)ซึ่งได้รับฉันทามติจากประเทศสมาชิกแล้ว 112 ประเทศ ซึ่งมากกว่า 2 ใน 3 ของจำนวน 164 ประเทศสมาชิก โดยมีผลบังคับใช้แล้ว ตั้งแต่วันที่ 22 กุมภาพันธ์ 2560 ประเทศคู่ค้าหลักของไทยหลายประเทศ ทั้งประเทศในกลุ่มสหภาพยุโรป อาเซียน สหรัฐอเมริกา จีน และญี่ปุ่น ได้ยอมรับความตกลงฯ ดังกล่าวแล้ว ดังนั้น สำนัก โลจิสติกส์ จึงได้ดำเนินโครงการต่างๆ เพื่อส่งเสริมการยกระดับมาตรฐานการดำเนินการของผู้ประกอบการไทยให้ได้มาตรฐานระดับสากลเพื่อให้เกิดการเชื่อมโยงและแลกเปลี่ยนข้อมูลทางการค้าระหว่างประเทศอย่างเป็นระบบ เชื่อถือได้ และปลอดภัย หนึ่งในมาตรฐานที่ประเทศไทยควรเร่งดำเนินการ คือ UN/LOCODE: Code for Trade and Transport Locationsเป็นมาตรฐานของศูนย์สหประชาชาติเพื่อการอำนวยความสะดวกด้านการค้าและธุรกรรมอิเล็กทรอนิกส์ (United Nations Centre for Trade Facilitation and Electronic Business, UN/CEFACT) เพื่อแสดงรหัสสำหรับชื่อเรียกสถานที่ที่มีการรับส่งและขนย้ายสินค้า เช่น ท่าเรือ ท่าอากาศยาน สถานีบรรจุและแยกสินค้ากล่อง สถานีขนส่ง และตำแหน่งที่ตั้งอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับการขนย้ายสินค้าเพื่อประโยชน์ในการแลกเปลี่ยนข้อมูลทางอิเล็กทรอนิกส์ตามหลักมาตรฐานสากล นอกจากนี้ ยังช่วยเพิ่มความถูกต้องแม่นยำในการส่งมอบสินค้า สร้างการยอมรับและความเชื่อมั่นในสินค้าและบริการจากคู่ค้าทั่วโลก และนำไปสู่การเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขันในการดำเนินธุรกิจในระบบเศรษฐกิจยุคใหม่ของโลก ฐานข้อมูลUN/LOCODEมีองค์ประกอบต่างๆ ที่สำคัญดังนี้ 1. Ch (Change Indicator) แสดงสัญลักษณ์การเปลี่ยนแปลงข้อมูลของรหัสสถานที่เช่น การเพิ่มข้อมูลใหม่ หรือการแก้ไขข้อมูลเดิม เป็นต้น 2. LOCODE แสดงรหัสสถานที่ ประกอบด้วยตัวอักษรเลข (Alphanumeric) 5 ตัว ได้แก่ - รหัสประเทศที่เป็นตัวอักษร 2 ตัว ตามมาตรฐาน ISO 3166 alpha-2 Country Code(รหัสประเทศไทย คือ TH) - รหัสสถานที่ ที่เป็นตัวอักษรเลข 3 ตัว ได้แก่ A – Z และ 2 – 9 3. Name แสดงชื่อของสถานที่ เป็นภาษาอังกฤษ โดยอาจมีเครื่องหมายแสดงการออกเสียง (Diacritic signs) ตามความเหมาะสม 4. NameWoDiacritics แสดงชื่อของสถานที่เป็นภาษาอังกฤษโดยไม่มีเครื่องหมายแสดงการออกเสียง 5. SubDiv (Subdivision) แสดงรหัสสำหรับพื้นที่การปกครองของประเทศตามที่กำหนดในมาตรฐาน ISO 3166-2/1998 6. Functionแสดงรหัสลักษณะการใช้งานของสถานที่ โดยมีรายละเอียดดังนี้ 7. Status แสดงสถานะของการขอการขึ้นทะเบียนรหัสสถานที่ 8. Date แสดงวันที่ล่าสุดที่มีการเพิ่มหรือปรับปรุงข้อมูลสถานที่ 9. IATA แสดงรหัสท่าอากาศยาน ซึ่งกำหนดโดย International Air Transport Association(IATA) 10. Coordinates แสดงพิกัดภูมิศาสตร์ (Geographical coordinates) ของสถานที่นั้น โดยกำหนดรูปแบบมาตรฐานของการแสดงพิกัดภูมิศาสตร์ดังนี้ 11. Remarks แสดงข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับการเพิ่ม การแก้ไข หรืออาจใช้ระบุข้อสังเกตเกี่ยวกับรหัสสถานที่
15 มี.ค. 2562
ทำน้อย แต่ได้มาก (Do less, Get more) ด้วย Logistics
นายภาสันต์ วิชิตอมรพันธ์ นักวิทยาศาสตร์ชำนาญการ ทำน้อย แต่ได้มาก (Do less, Get more) ด้วย Logistics การแก้ไขปัญหาจากการดำเนินธุรกิจนั้น ถ้าเราแก้ไขปัญหาเดิมๆ ด้วยวิธีเดิมๆ ผลที่ออกมาก็จะยังคงเหมือนเดิม ดังนั้น เมื่อผู้ประกอบการเปลี่ยนความคิดและจัดการด้วยแนวคิดใหม่ผลลัพธ์ที่ออกมาก็จะเปลี่ยนไปเช่นกัน แนวคิดการจัดการโลจิสติกส์และโซ่อุปทาน สำหรับผู้ประกอบการ SMEs สามารถแบ่งตามกิจกรรมโลจิสติกส์ 9 หัวข้อ ดังนี้ 1. เข้าใจความต้องการของลูกค้าและส่งมอบได้ตามที่ต้องการ ผู้ประกอบการต้องสามารถคาดการณ์ความต้องการของลูกค้า (Sales Forecast) ไว้ล่วงหน้า มีกระบวนการศึกษาข้อมูลความต้องการของตลาด เพื่อวางแผนจัดเตรียมวัตถุดิบ แผนการผลิต และแผนการจัดเตรียมสินค้าสำเร็จรูปให้พร้อมและตรงกับความต้องการของลูกค้า พร้อมที่จะจัดส่งสินค้าให้ตรงเวลาและจำนวนครบถ้วนตามความต้องการของผู้ซื้อ เพราะหากไม่มีสินค้าตามที่ผู้ซื้อต้องการหรือไม่สามารถจัดส่งได้ตามกำหนดเวลา ผู้ประกอบการก็ไม่อาจแปลงกิจกรรมการดำเนินธุรกิจให้เป็นยอดขายได้ 2. วางแผนให้สอดคล้องกันตลอดทั้งโซ่อุปทาน ผู้ประกอบการ SMEs จะต้องมีการเชื่อมโยงระบบการทำงานทั่วทั้งองค์กรให้มีความสอดคล้องกัน เพื่อตอบสนองความต้องการของลูกค้าให้ตรงตามต้องการ มีการทำงานร่วมกันหลายฝ่าย เช่น ฝ่ายขายและการตลาด ฝ่ายจัดส่ง ฝ่ายผลิต ฝ่ายคลังสินค้าและคลังวัตถุดิบ ฝ่ายจัดซื้อ ฝ่ายการเงิน และมีการวางแผนการผลิตและส่งมอบวัตถุดิบร่วมกันกับซัพพลายเออร์ ทำให้สองบริษัทได้รับประโยชน์ในการจัดการระดับสินค้าคงคลังให้เพียงพอและเหมาะสม เป็นต้น 3. การสื่อสารข้อมูลกับผู้เกี่ยวข้องให้เข้าใจตรงกันทั้งหมด สถานประกอบการต้องมีการบันทึกข้อมูล ที่ถูกต้อง ใช้ข้อมูลชุดเดียวกันและตรงกัน เพื่อให้ทุกหน่วยงานสื่อสารและเกิดความเข้าใจเหมือนกัน ทำให้ การทำงานง่ายและตัดสินใจได้ดี 4. จัดการให้ได้วัตถุดิบมาอย่างมีประสิทธิภาพและต้นทุนที่เหมาะสม สถานประกอบการจะต้องเข้าใจตลาดของวัตถุดิบว่ามีลักษณะเป็นฤดูกาลหรือไม่จะต้องจัดซื้อให้ถูกจังหวะ และควรมีแหล่งซื้อวัตถุดิบ หลายแหล่ง เพื่อไม่ให้ธุรกิจเกิดการหยุดชะงักเนื่องมาจากขาดวัตถุดิบ ซึ่งบริษัทที่ดีจะมีการวางแผนการผลิตและ ส่งมอบวัตถุดิบร่วมกับซัพพลายเออร์ เพื่อสามารถลดต้นทุน ลดเวลา และความผิดพลาดของการส่งมอบได้ 5. เครื่องมือเครื่องใช้ในกระบวนการโลจิสติกส์ที่ทันสมัย ปัจจุบันการนำเทคโนโลยีสารสนเทศมาใช้ (Internet of Things) ร่วมกับเครื่องมืออุปกรณ์ในงานโลจิสติกส์ ทำให้ผู้ประกอบการสามารถลดเวลา ลดขั้นตอน การทำงานและมีความแม่นยำในกระบวนการจัดการโลจิสติกส์ภายในองค์กรได้ดียิ่งขึ้น เช่น การนำระบบ Barcode และ RFID มาใช้ในการจัดการสินค้าภายในคลังสินค้า เป็นต้น 6. การจัดการคลังสินค้าให้มีประสิทธิภาพ ต้องจัดการพื้นที่จัดเก็บสินค้าในคลังให้เพียงพอต่อ ความต้องการด้านการผลิตและการขาย ต้องวางแผนจัดการโลจิสติกส์ให้สอดคล้องกับแผนการผลิตและแผนการจัดเก็บสินค้า มีขั้นตอนการปฏิบัติงานสำหรับการจัดการคลังสินค้า และมีการควบคุมการปฏิบัติงานให้เป็นไปตามมาตรฐานเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการปฏิบัติงานด้านโลจิสติกส์ และการเลือกสถานที่ตั้งคลังสินค้าที่เหมาะสมจะเป็นการสร้างความได้เปรียบด้านประสิทธิภาพการส่งมอบสินค้า และการจัดการต้นทุนโลจิสติกส์ในระยะยาว 7. การบริหารสินค้าคงคลัง ปัญหาที่พบมากของภาคธุรกิจก็คือ หน่วยของสินค้าคงคลังในแต่ละแผนกจัดเก็บข้อมูลไม่เหมือนกัน เช่น ฝ่ายบัญชีมองสินค้าคงคลังเป็นเงิน (บาท) ฝ่ายคลังสินค้ามองสินค้าคงคลังเป็น หน่วย (ชิ้น กล่อง พาเลท น้ำหนัก หรือตารางเมตร) ซึ่งการจัดการสินค้าคงคลังเมื่อมองในระดับโซ่อุปทาน ผู้ประกอบการควรจัดการสินค้าคงคลังอยู่ในรูปของ จำนวนวัน หรือ Day of Sales (DOS) หรือ Month of Sales (MOS) เพื่อให้ทุกฝ่ายมาประชุมร่วมกัน และกำหนดระดับสินค้าคงคลังขององค์กรที่เหมาะสมต่อไป 8. การขนส่ง ต้องขนส่งสินค้าให้ถูกต้องครบถ้วนทันเวลาและดำเนินการด้านเอกสารตามที่ระบุในข้อกำหนดการขนส่งให้มีประสิทธิภาพ ควรมีการจัดการใช้รถขนส่งที่เหมาะสมกับสินค้าและปริมาณที่จะบรรทุก มีการวางแผนเส้นทางการขนส่งให้มีประสิทธิภาพ นอกจากนี้ หากมีการขนส่งเที่ยวกลับ (Backhauling) จะช่วยลดต้นทุนการขนส่ง และเพิ่มประสิทธิภาพในการใช้พลังงานเชื้อเพลิงอีกด้วย 9. โลจิสติกส์ย้อนกลับ เมื่อวัตถุดิบที่ถูกส่งมาจากซัพพลายเออร์ไม่ตรงตามคุณภาพที่กำหนด ผู้ประกอบการจะต้องมีกระบวนการจัดการที่เป็นมาตรฐาน กำหนดบทบาทหน้าที่ของแต่ละหน่วยงานให้ชัดเจน และมีการดำเนินการแก้ปัญหาร่วมกันในการรับเข้าวัตถุดิบจากซัพพลายเออร์ หากจำเป็นต้องส่งคืนวัตถุดิบให้ดำเนินงานตามขั้นตอนที่เป็นมาตรฐานที่ตกลงร่วมกับซัพพลายเออร์ ในกรณีพบสินค้าที่ส่งมอบให้ลูกค้ามีปัญหาและอาจเกิดความเสียหายต้องรีบดำเนินการเรียกคืนสินค้าตามมาตรฐานที่กำหนด
15 มี.ค. 2562
วงจรการพัฒนาระบบ (System Development Life Cycle : SDLC)
เกียรติพงษ์ อุดมธนะธีระ นักวิชาการคอมพิวเตอร์ชำนาญการพิเศษ สำนักโลจิสติกส์ วงจรการพัฒนาระบบ (System Development Life Cycle : SDLC) ในฉบับที่ผ่านมาเรากล่าวถึง การจัดทำแผนที่นําทางเทคโนโลยี (Technology Road Mapping: TRM) ซึ่งเป็นแนวคิดที่นำเทคโนโลยีมาเป็นปัจจัยร่วมในการกำหนดทิศทางการขับเคลื่อนองค์กร ฉบับนี้จะพูดถึงขั้นตอนการนำระบบ (เทคโนโลยีสารสนเทศ) มาใช้ในองค์กร อาจเรียกว่า การพัฒนาระบบ เนื่องจากปัจจุบันหลายองค์กรล้มเหลวในการนำระบบมาใช้ในงาน เพราะขาดความรู้ความเข้าใจหรือไม่ได้มีการจัดขั้นตอนการพัฒนาระบบที่ถูกต้อง ดังนั้น ทุกองค์กรจึงควรมีการวางแผนการดำเนินงานตามขั้นตอนการพัฒนาระบบที่ดีในองค์กรเพื่อประสิทธิภาพที่สูงสุด วงจรการพัฒนาระบบ (System Development Life Cycle : SDLC) คือ การแบ่งขั้นตอนกระบวนการพัฒนาระบบงาน หรือระบบเทคโนโลยีสารสนเทศด้วย เพื่อช่วยแก้ปัญหาทางธุรกิจหรือตอบสนองความต้องการขององค์กรโดยระบบที่จะพัฒนานั้นอาจเป็นการพัฒนาระบบใหม่หรือการปรับปรุงระบบเดิมให้ดีขึ้นก็ได้ การพัฒนาระบบแบ่งออกเป็น 7 ขั้นตอน ดังนี้ 1. การค้นหาปัญหาขององค์กร (Problem Recognition) เป็นกิจกรรมแรกที่สำคัญในการกำหนดเป้าหมายที่ชัดเจนในการปรับปรุงโดยใช้ระบบเข้ามาช่วยนำข้อมูลปัญหาที่ได้มาจำแนกจัดกลุ่มและจัดลำดับความสำคัญ เพื่อใช้คัดเลือกโครงการที่เหมาะสมที่สุดมาพัฒนา โดยโครงการที่จะทำการพัฒนาต้องสามารถแก้ปัญหาที่มีในองค์กรและให้ประโยชน์กับองค์กรมากที่สุด 2. การศึกษาความเหมาะสม (Feasibility Study) ว่าเหมาะสมหรือไม่ที่จะปรับเปลี่ยนระบบ โดยให้เสียค่าใช้จ่าย (Cost) และเวลา (Time) น้อยที่สุดแต่ให้ได้ผลลัพธ์ที่น่าพอใจ และหาความต้องการของผู้เกี่ยวข้องใน 3 เรื่อง คือ เทคนิคเครื่องมือหรืออุปกรณ์ที่ใช้ บุคลากรและความพร้อม และความคุ้มค่า เพื่อใช้นำเสนอต่อผู้บริหารพิจารณาอนุมัติดำเนินการต่อไป 3. การวิเคราะห์ (Analysis) เป็นการรวบรวมข้อมูลปัญหาความต้องการที่มีเพื่อนำไปออกแบบระบบ ขั้นตอนนี้จะศึกษาจากผู้ใช้ โดยวิเคราะห์การทำงานของระบบเดิม (As Is) และความต้องการที่มีจากระบบใหม่ (To Be) จากนั้นนำผลการศึกษาและวิเคราะห์มาเขียนเป็นแผนภาพผังงานระบบ (System Flowchart) และทิศทางการไหลของข้อมูล (Data Flow Diagram) 4. การออกแบบ (Design) นำผลการวิเคราะห์มาออกแบบเป็นแนวคิด (Logical Design) เพื่อแก้ไขปัญหา โดยในส่วนนี้จะยังไม่ได้มีการระบุถึงรายละเอียดและคุณลักษณะอุปกรณ์มากนัก เน้นการออกแบบโครงร่างบนกระดาษ แล้วส่งให้ผู้ออกแบบระบบนำไปออกแบบ (System Design) ซึ่งขั้นตอนนี้จะเริ่มมีการระบุลักษณะการทำงานของระบบทางเทคนิค รายละเอียดคุณลักษณะอุปกรณ์ที่ใช้ เทคโนโลยีที่ใช้ ชนิดฐานข้อมูลการออกแบบ เครือข่ายที่เหมาะสม ลักษณะของการนำข้อมูลเข้า ลักษณะรูปแบบรายงานที่เกิด และผลลัพธ์ที่ได้ 5. การพัฒนาและทดสอบ (Development & Test) เป็นขั้นตอนการการเขียนโปรแกรม (Coding) เพื่อพัฒนาระบบจากแบบบนกระดาษให้เป็นระบบตามคุณลักษณะที่กำหนดไว้ จากนั้นทำการทดสอบหาข้อผิดพลาด (Testing) เพื่อตรวจสอบความถูกต้อง จนมั่นใจว่าถูกต้องและตรงตามความต้องการ หากพบว่ามีข้อผิดพลาดเกิดขึ้นจากการทำงานของระบบต้องปรับแก้ไขให้เรียบร้อยพร้อมใช้งานก่อนนำไปติดตั้งใช้จริง 6. การติดตั้ง (Implementation) เป็นขั้นตอนการนำระบบที่พัฒนาจนสมบูรณ์มาติดตั้ง (Installation) และเริ่มใช้งานจริง ในส่วนนี้นอกจากติดตั้งระบบใช้งานแล้ว ยังต้องมีการจัดเตรียมขั้นตอนการสนับสนุนส่งเสริมการใช้งานให้สามารถใช้งานได้อย่างสมบูรณ์ โดยจัดทำหลักสูตรฝึกอบรมผู้ใช้งาน (Training) เอกสารประกอบระบบ (Documentation) และแผนการบริการให้ความช่วยเหลือ (Support) เพื่อให้ระบบสามารถใช้งานได้อย่างต่อเนื่อง 7. การซ่อมบำรุงระบบ (System Maintenance) เป็นขั้นตอนการบำรุงรักษาระบบต่อเนื่องหลังจากเริ่มดำเนินการ ผู้ใช้ระบบอาจจะพบกับปัญหาที่เกิดขึ้นภายหลัง เช่น ปัญหาเนื่องจากความไม่คุ้นเคยกับระบบใหม่ จึงควรกำหนดแผนค้นหาปัญหาอย่างต่อเนื่อง ติดตามประเมินผล เก็บรวบรวมคำร้องขอให้ปรับปรุงระบบ วิเคราะห์ข้อมูลร้องขอให้ปรับปรุงระบบ จากนั้นออกแบบการทำงานที่ต้องการปรับปรุงแก้ไขและติดตั้ง ซึ่งต้องมีการฝึกอบรมการใช้งานระบบให้แก่ผู้ใช้งาน เพื่อที่จะทราบความพึงพอใจของผู้ใช้ การที่องค์กรมีการดำเนินการตามแนวทางวงจรการพัฒนาระบบจะช่วยให้สามารถดำเนินการได้อย่างมีประสิทธิภาพ มีแนวทางและขั้นตอนในการดำเนินงานที่ชัดเจน สามารถควบคุมเวลาและงบประมาณได้ง่าย โดยจะเลือกดำเนินการตามแนวทางทั้งหมดหรือเพียงบางส่วน ซึ่งอาจมีความแตกต่างกันไปตามวิธีการหรือขั้นตอนที่จะนำมาใช้ ซึ่งสามารถปรับเปลี่ยนเพื่อให้เหมาะสมกับความพร้อมของแต่ละองค์กรได้ และควรมีการทำซ้ำในขั้นตอนการติดตามประเมินผล และหาวิธีการปรับปรุงอย่างต่อเนื่อง เพื่อการพัฒนาที่ดียิ่งๆ ขึ้นไป
15 มี.ค. 2562
การจัดการซัพพลายเชนอย่างยั่งยืนในยุคประเทศไทย 4.0
ดร.วัชรพจน์ ทรัพย์สงวนบุญ บัณฑิตวิทยาลัยการจัดการและนวัตกรรม มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี การจัดการซัพพลายเชนอย่างยั่งยืนในยุคประเทศไทย 4.0 ภายใต้ยุทธศาสตร์ประเทศไทย 4.0 ที่จะพัฒนาประเทศสู่ความ มั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืน ในรูปแบบ “ทำน้อย ได้มาก” โจทย์ที่สำคัญของภาคอุตสาหกรรม คือ จะทำอย่างไรให้ธุรกิจประสบความสำเร็จอย่างยั่งยืน ปัจจุบันหน่วยธุรกิจต่างๆ ในซัพพลายเชนตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ เริ่มมีการนำกลยุทธ์ใหม่ที่เรียกว่า Sustainable Supply Chain Management หรือ การจัดการซัพพลายเชนอย่างยั่งยืน มาประยุกต์ใช้เพื่อสร้างความสามารถในการแข่งขันตลอดซัพพลายเชน สามารถตอบสนองพฤติกรรมผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงไป โดยปัจจุบันพบปัจจัยที่ส่งผลกระทบต่อการซื้อสินค้า คือ ผู้บริโภคไม่ได้ให้ความสำคัญกับราคาถูกแต่เพียงอย่างเดียว แต่ลูกค้าเริ่มมีจิตสำนึกต่อความรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อมมากขึ้น ผู้ประกอบการจึงจำเป็นต้องปรับตัวเพื่อตอบสนองความต้องการของลูกค้า จากการเปลี่ยนแปลงของพฤติกรรมผู้บริโภคที่กล่าวมาข้างต้น การจัดการซัพพลายเชนอย่างยั่งยืน คือ การบริหารกิจกรรมต่างๆ ตั้งแต่แหล่งวัตถุดิบไปจนถึงแหล่งบริโภคเพื่อตอบสนองความต้องการของลูกค้า โดยคำนึงถึงผลกระทบต่อความต้องการของคนรุ่นต่อไปในอนาคต ดังนั้น ธุรกิจจำเป็นที่ต้องให้ความสำคัญกับการดำเนินกิจกรรมต่างๆ ในซัพพลายเชน อาทิ การพัฒนาผลิตภัณฑ์ การจัดหาวัตถุดิบ การผลิต รวมทั้งกิจกรรมโลจิสติกส์อื่นๆ ไม่เพียงแต่มีประสิทธิผลและประสิทธิภาพที่สามารถส่งมอบคุณค่าให้กับลูกค้าและสร้างกำไรให้กับธุรกิจแต่เพียงอย่างเดียวอีกต่อไป แต่ธุรกิจจำเป็นที่จะต้องคำนึงถึงผลกระทบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อมจากการดำเนินกิจกรรมต่างๆ ที่กล่าวมาข้างต้น เพื่อเป็นการต่อยอดความคิดจากการจัดการซัพพลายเชนในอดีต โดยมุ่งหวังให้เกิดประโยชน์กับองค์กรทั้งในเรื่องการเพิ่มกำไร การใช้สินทรัพย์อย่างคุ้มค่า มุ่งหวังในการลดความเสี่ยงที่อาจจะเกิดขึ้น ปรับตัวให้เข้ากับนวัตกรรมที่กำลังเปลี่ยนแปลง โดยต้องพัฒนาและปรับปรุงองค์กรอย่างต่อเนื่อง อีกทั้งการมีชื่อเสียงของธุรกิจให้เป็นที่ยอมรับของลูกค้า หากธุรกิจต้องการที่จะประยุกต์หลักการการจัดการอย่างยั่งยืน จำเป็นที่ต้องพิจารณา 3 มุมมอง ได้แก่ เศรษฐกิจ (Economic) สิ่งแวดล้อม (Environment) และสังคม (Social) เริ่มจากการกำหนดวัตถุประสงค์ให้ชัดเจนตามแนวคิดของ Cetinkayaet al. (2011) ในเชิงสังคม หน่วยธุรกิจต่างๆ ในซัพพลายเชนต้องให้ความสำคัญกับแนวทางในการดูแลสุขภาพและความปลอดภัย รวมทั้งสวัสดิภาพของพนักงาน คู่ค้า รวมไปถึงลูกค้า โดยให้เกิดผลกระทบเชิงลบต่อสังคมให้น้อยที่สุด ในเชิงเศรษฐกิจ ธุรกิจอาจจะกำหนดเป้าหมายในเรื่องรายได้ ต้นทุน กำไร รวมไปถึงคุณภาพของสินค้าและบริการ ประสิทธิภาพ และความสามารถในการตอบสนองความต้องการของลูกค้า ในเชิงของสิ่งแวดล้อม ธุรกิจจำเป็นต้องคำนึงการลดผลกระทบที่จะเกิดจากกิจกรรมต่างๆ ในซัพพลายเชน เช่น การลดปริมาณมลพิษที่จะปล่อยออกสู่สิ่งแวดล้อม การใช้ทรัพยากรธรรมชาติให้เกิดความคุ้มค่าสูงสุด อีกทั้งการลดของเสีย และส่งเสริมการนำกลับมาใช้ใหม่ (recycle) เมื่อธุรกิจสามารถกำหนดเป้าหมายเพื่อตอบโจทย์การจัดการซัพพลายเชนอย่างยั่งยืนแล้ว ธุรกิจจะต้องปรับแนวทางการทำงาน เช่น ในอดีตเคยจัดซื้อด้วยวิธีการเจรจาต่อรองเพื่อให้มีต้นทุนการซื้อต่ำสุด ซึ่งการจัดซื้อดังกล่าวอาจจะเป็นการซื้อจากผู้ขายที่อาจสร้างผลกระทบเชิงลบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม เนื่องจากผู้ขายต้องหาวิธีการที่ทำให้ต้นทุนของสินค้าต่ำสุด เพื่อให้ขายสินค้าในราคาถูกให้กับลูกค้าได้ ลูกค้าโดยเฉพาะผู้บริโภคจึงมีส่วนสำคัญในการผลักดันให้เกิดการจัดการซัพพลายเชนอย่างยั่งยืน หากผู้บริโภคมีความรับผิดชอบต่อสังคมก็จะเลือกซื้อสินค้าที่สร้างผลกระทบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อมน้อยที่สุด ทำให้หน่วยธุรกิจต่างๆ ในซัพพลายเชนตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำจำเป็นต้องปรับตัวให้สามารถสนองตอบความต้องการของลูกค้า ส่งผลให้ซัพพลายเชนมีความยั่งยืนในที่สุด สำนักโลจิติกส์ กรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ ให้ความสำคัญของการพัฒนาอุตสาหกรรมอย่างยั่งยืน จึงได้มอบหมายให้บัณฑิตวิทยาลัยการจัดการและนวัตกรรม มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี จัดการอบรมในหลักสูตร “การจัดการซัพพลายเชนอย่างยั่งยืน” ตามโครงการสร้างนักโลจิสติกส์อุตสาหกรรมมืออาชีพ โดยผู้ที่ได้รับคัดเลือกให้เข้ารับการอบรมจะได้รับสนับสนุนทุนการอบรมจากสำนักโลจิสติกส์มากกว่าร้อยละ 60 ผู้สนใจสามารถดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ www.logistics.kmutt.ac.th เอกสารอ้างอิง: Cetinkaya, B., Cuthbertson, R., Ewer, G., Klaas-Wissing, T., Piorowicz, W. and Tyssen, C. The need for sustainable supply chain management. In Cuthbertson, R. (Ed.) Sustainable Supply Chain Management.Springer. London, 2011.
15 มี.ค. 2562
การกำหนดแผนที่นําทางเทคโนโลยี (Technology Road Mapping: TRM)
เกียรติพงษ์ อุดมธนะธีระ นักวิชาการคอมพิวเตอร์ชำนาญการพิเศษ สำนักโลจิสติกส์ การกำหนดแผนที่นําทางเทคโนโลยี (Technology Road Mapping: TRM) ในฉบับที่ผ่านมาเรากล่าวถึงการเตรียมตัวขององค์กรเพื่อเพิ่มศักยภาพในการแข่งขันของตนเองในยุคอุตสาหกรรม 4.0 ที่ควรจะมีหน่วยงานวิจัยพัฒนา (R&D) และหน่วยงานนวัตกรรม (Innovation) แต่เนื่องจากการเพิ่มมูลค่าผลิตภัณฑ์ โดยการใช้ความรู้และนวัตกรรมจากการวิจัยและพัฒนา อาจยังไม่เพียงพอ เพราะแนวคิดเหล่านั้นอาจไม่ได้นำเอาทิศทางของเทคโนโลยีมาร่วมในการกำหนดแผนงาน ผลงานที่ได้จึงไม่ทันกับการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีที่รวดเร็ว จึงควรนำเอาเทคโนโลยีมาประกอบในการทำแผนหรือที่เรียกว่า แผนที่นําทางเทคโนโลยี (Technology Road Mapping: TRM) ซึ่งเป็นแนวคิดที่นำเอาเทคโนโลยีมาเป็นปัจจัยร่วมในการกำหนดทิศทางการขับเคลื่อนองค์กร ที่ได้รับการยอมรับในระดับสากลว่าสามารถใช้เป็นเครื่องมือทำแผนในเชิงนโยบายด้านต่างๆ ได้อย่างเป็นระบบและมีประสิทธิภาพ แผนที่นําทางเทคโนโลยี เป็นวิธีการเชิงกลยุทธ์ที่เชื่อมกลยุทธ์ทางธุรกิจเข้ากับการพัฒนาเทคโนโลยี วิเคราะห์ความสัมพันธ์ของปัจจัยในทางธุรกิจ ทั้งปัจจัยภายนอกและปัจจัยภายในองค์กร เช่น ทิศทางเทคโนโลยีและทรัพยากรที่มี ช่วยในการตัดสินใจในแผนการลงทุนและพัฒนาด้านเทคโนโลยีขององค์กรให้มีประสิทธิภาพ หรือเป็นการวางแผนใช้เทคโนโลยีขององค์กรในอนาคต โดยการคาดการณ์ทิศทางของเทคโนโลยีที่จะมีการพัฒนาในอนาคต และมองภาพเส้นทางการพัฒนาผลิตภัณฑ์ทั้งด้านมิติการตลาดและเทคโนโลยีที่เกี่ยวข้อง ขั้นตอนการจัดทําแผนที่นําทางเทคโนโลยี จะเกี่ยวกับการวางแผนเชิงกลยุทธ์ การจัดสรรงบประมาณ และการกำหนดแนวทางนำเทคโนโลยีมาใช้ แบ่งเป็น 5 ขั้นตอน คือ - การระดมความคิดเห็นเพื่อกําหนดวิสัยทัศน์ - การกำหนดทิศทางพัฒนาเพื่อมุ่งสู่เป้าหมายตามวิสัยทัศน์ - การกำหนดกลยุทธ์ของการพัฒนาผลิตภัณฑ์และบริการ - การศึกษาส่วนประกอบงานให้ใช้ร่วมกับเทคโนโลยีที่เกี่ยวข้อง - จัดทำเป็นแผนที่นําทางเทคโนโลยี การเขียนแผนที่นําทางเทคโนโลยี มีหลายรูปแบบ แต่รูปแบบที่ใช้กันอย่างแพร่หลาย และมีความยืดหยุ่นสามารถปรับใช้ได้ดี คือ แผนที่นําทางเทคโนโลยีแบบหลายระดับชั้น โดย EIRMA (1997) ซึ่งรูปแบบแผนผังกระบวนการประกอบด้วย - แกนแนวนอน: เวลา เป็นตัวหลักอยู่ในแกนนอน ควรปรับให้เหมาะสมกับ ระยะเวลาแผนงาน สถานการณ์ - แกนแนวตั้ง: ปัจจัยประกอบสำคัญที่สนใจ กำหนดให้อยู่ในแนวแกนตั้ง เรียงลำดับชั้นตามความสนใจ เช่น ธุรกิจและ การตลาด ผลิตภัณฑ์และการบริการ เทคโนโลยีหรือปัจจัยมุมมองด้านที่สนใจ ตามความเหมาะสม ลำดับปัจจัยประกอบ ควรจัดกลุ่มตามปัจจัยภายในจากด้านล่างไปสู่ปัจจัยภายนอกที่อยู่ด้านบน - ข้อมูลด้านอื่น: สามารถใส่ข้อมูลด้านอื่นไว้ในแผนที่ได้ด้วย โดยใช้รูปของเครื่องมือหรือกราฟิก เช่น รูปสัญลักษณ์ รหัสสี จุดตัดสินใจที่สำคัญ ช่องว่าง เส้นทาง โอกาสและอุปสรรค เป็นต้น - กระบวนการหรือขั้นตอน: มีขั้นตอนทำงานตามลำดับเมื่อทำเสร็จจึงจะไปขั้นต่อไป แต่ละแห่งมีขั้นตอนที่แตกต่างกันตามความเหมาะสม เช่น ประเด็นที่นำมาพิจารณา วัตถุประสงค์ ขอบเขต ทรัพยากรที่มีบุคลากร ระยะเวลา งบประมาณ ลักษณะของเรื่องที่ทำ แสดงรูปตัวอย่างแผนที่นําทางเทคโนโลยี (TRM) แบบหลายระดับชั้น โดย EIRMA (1997) ประโยชน์ของแผนที่นําทางเทคโนโลยี - ช่วยให้ผู้บริหารมองเห็นภาพรวมขององค์กรได้อย่างชัดเจน เพิ่มประสิทธิภาพการสื่อสารภายในองค์กรให้เข้าใจตรงกัน เป็นประโยชน์ต่อการดำเนินงาน และตัดสินใจกำหนดทิศทางขององค์กรในอนาคต - การเชื่อมโยงกลยุทธ์ทางธุรกิจ (Business strategy) และกลยุทธ์ด้านอื่นเข้าด้วยกัน ช่วยให้การพัฒนาองค์กรดำเนินไปในทิศทางเดียวกันในทุกส่วน - ช่วยให้องค์กรพิจารณาจุดอ่อนจุดแข็งทางด้านเทคโนโลยีที่เป็นประโยชน์ต่อการดําเนินงาน ช่วยลดความซํ้าซ้อนของงาน สามารถวางแผนการพัฒนาให้เหนือกว่าคู่แข่งได้ - การทำแผนที่นำทาง (Road Map) ระบุถึงศักยภาพในการนำทรัพยากรที่มีอยู่เดิมกลับมาใช้ใหม่ (Reuse) ช่วยให้องค์กรสามารถควบคุมต้นทุนได้ดีขึ้น หรือช่วยให้องค์กรสามารถจัดสรรทรัพยากรที่มีอยู่อย่างจำกัดได้อย่างมีประสิทธิภาพ - ส่งเสริมการมีส่วนร่วม (Participation) และความรู้สึกเป็นเจ้าของ (Ownership) ของพนักงานในโครงการต่างๆ ทุกองค์กรควรเริ่มมีการจัดทำแผนที่นําทางเทคโนโลยี และนำมาใช้กำหนดการทำงานในอนาคต โดยเน้นให้มีการนำเอาเทคโนโลยีสารสนเทศมาช่วยในการปฏิบัติที่เหมาะสมเป็นระบบมากขึ้น และหลังจากที่ได้พัฒนาแผนแล้ว ควรคำนึงถึงเสมอว่าแผนที่ดีต้องมีการปรับปรุงเปลี่ยนแปลงอย่างสม่ำเสมอเมื่อมีเหตุที่ต้องปรับปรุง เช่น แนวโน้มการตลาดใหม่ นโยบายหรือเหตุการณ์เกิดการเปลี่ยนแปลง และควรมีการศึกษาวิเคราะห์ข้อมูลการตลาดและเทคโนโลยีใหม่อยู่ตลอดเวลา เพื่อประโยชน์สูงสุดของการพัฒนาองค์กร
15 มี.ค. 2562
การพัฒนาอุตสาหกรรมสนับสนุนการเป็นศูนย์กลางโลจิสติกส์
ผศ.ดร.ประมวล สุธีจารุวัฒน จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และคณะที่ปรึกษาโครงการฯ การพัฒนาอุตสาหกรรมสนับสนุนการเป็นศูนย์กลางโลจิสติกส์ รัฐบาลได้กำหนดตำแหน่งยุทธศาสตร์ของประเทศให้มีบทบาทเป็นศูนย์กลางธุรกรรมการค้าและบริการของกลุ่มประเทศลุ่มแม่น้ำโขง และเป็นประตูการค้าสู่ตลาดเอเชีย (Trade and Service Hub of GMS, and Gateway to Asia) รวมถึงการเป็นศูนย์กลางด้านโลจิสติกส์ (Logistics Hub) ในแผนยุทธศาสตร์การพัฒนาระบบโลจิสติกส์ของประเทศไทย ฉบับที่ 2 (พ.ศ. 2556-2560) เพื่อสร้างความเข้มแข็งให้กับผู้ประกอบการไทยในกลุ่มอุตสาหกรรมสนับสนุนภาคการขนส่งและโครงสร้างพื้นฐานอย่างยั่งยืนเป็นรูปธรรม สำนักโลจิสติกส์ ให้ความสำคัญกับการส่งเสริมอุตสาหกรรมสนับสนุนการเป็นศูนย์กลางโลจิสติกส์ของประเทศไทย จึงจัดทำ “โครงการเสริมสร้างขีดความสามารถของอุตสาหกรรมสนับสนุนการเป็นศูนย์กลางโลจิสติกส์ (Logistics Hub) เพื่อการบริการที่ยั่งยืน” โดยสำรวจ ศึกษา และวิเคราะห์ในกลุ่มอุตสาหกรรมสนับสนุนการขนส่งและโครงการพื้นฐาน 3 กลุ่ม คือ กลุ่มอุตสาหกรรมสนับสนุนการขนส่งสินค้าด้วยรถบรรทุก กลุ่มอุตสาหกรรมรถไฟ และกลุ่มอุตสาหกรรมต่อเรือและซ่อมเรือ เพื่อกำหนดแผนงานและแนวทาง (Roadmap) การพัฒนาที่เหมาะสม ดังนี้ กลุ่มอุตสาหกรรมสนับสนุนการขนส่งสินค้าด้วยรถบรรทุก กลุ่มผู้ประกอบการผลิตรถบรรทุกและผู้ผลิตชิ้นส่วนรถบรรทุก ให้ความสำคัญกับอุตสาหกรรมซ่อมบำรุงรถบรรทุกและเห็นว่าควรได้รับการส่งเสริมมากที่สุด เนื่องจากต้นทุนเกิดจากกิจกรรมการซ่อมบำรุงเป็นส่วนใหญ่และควบคุมได้ยาก อีกทั้งการเข้ารับบริการซ่อมบำรุงจากศูนย์มีค่าใช้จ่ายสูง ดังนั้น ผู้ประกอบการขนส่งที่มีรถบรรทุกเป็นจำนวนมากจึงนิยมเปิดศูนย์ซ่อมของตัวเอง บางรายอาจเลือกใช้บริการจากผู้รับเหมาช่วงการซ่อมบำรุง หรือร้านซ่อมรถรายย่อยอื่นๆ ซึ่งประสบปัญหาการซ่อมรถที่ไม่มีมาตรฐาน อันเนื่องมาจากขาดแคลนช่างฝีมือ ช่างฝีมือเปลี่ยนงานบ่อยเนื่องจากเงินเดือนน้อย ขาดมาตรฐานอู่ซ่อมบำรุง ขาดแคลนอะไหล่ ท้ายที่สุดกลายเป็นสาเหตุของอุบัติเหตุบนท้องถนน ดังนั้น แนวทางในการส่งเสริมอุตสาหกรรมสนับสนุนการขนส่งด้วยรถบรรทุก จึงต้องมุ่งไปในทิศทางที่ทำให้เกิดมาตรฐานอู่ซ่อมบำรุง มาตรฐานช่างฝีมือ เพิ่มจำนวนช่างที่มีคุณภาพให้มีมากขึ้น สร้างเส้นทางอาชีพช่างฝีมือที่ชัดเจน และให้มีรายได้ที่สมเหตุสมผล ตลอดจนการจัดการอะไหล่ให้มีเพียงพอ กลุ่มอุตสาหกรรมรถไฟ ปริมาณความต้องการใช้รถไฟในประเทศไทยแบ่งได้เป็น 3 กลุ่ม คือ (1) รถไฟในกลุ่มระบบขนส่งระหว่างเมืองของการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) ประกอบด้วยรถจักรดีเซลไฟฟ้า รถโดยสาร รถดีเซลราง และรถสินค้า (2) รถไฟฟ้าขนส่งมวลชนภายในเมือง ประกอบด้วย รถไฟฟ้าที่ให้บริการอยู่ในบริเวณกรุงเทพมหานครและปริมณฑล (3) รถไฟฟ้าโครงการเชื่อมต่อสนามบินสุวรรณภูมิ หรือแอร์พอร์ตลิงค์ ที่มีปริมาณความต้องการใช้เป็นจำนวนมาก ซึ่งที่ผ่านมามีการจัดหาแบบแยกการประมูลเป็นรายสาย รายโครงการ ตามกระบวนการจัดซื้อที่ดำเนินการโดยกระทรวงคมนาคม ทำให้ถูกแบ่งออกเป็นส่วนย่อยๆ จนทำให้ไม่เกิดความคุ้มค่าในการส่งเสริมให้มีการผลิตชิ้นส่วนหรือแม้แต่การประกอบตู้และขบวนรถไฟฟ้าภายในประเทศไทย ดังนั้น การส่งเสริมจึงควรมุ่งเน้นไปที่การกำหนดวิธีการจัดซื้อ (ซึ่งเป็นการจัดซื้อโดยรัฐบาล) ให้เอื้อต่อการพัฒนาอุตสาหกรรมการผลิตภายในประเทศ กลุ่มอุตสาหกรรมต่อเรือและซ่อมเรือ ขีดความสามารถของอุตสาหกรรมต่อเรือและซ่อมเรือในประเทศไทยนับตั้งแต่ พ.ศ.2550 เป็นต้นมา พบว่า อุตสาหกรรมต่อเรือและซ่อมเรือของไทยมิได้ด้อยไปกว่าต่างประเทศ หากแต่มีข้อด้อยที่สำคัญเชิงการบริหารจัดการ 3 ประการ คือ (1) ปัญหาการบริหารความต้องการที่แตกต่างกันจากผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย กล่าวคือ กลุ่มเจ้าของเรือให้ความสำคัญกับเรื่อง ราคา (ถูก) ระยะเวลาส่งมอบตรงต่อเวลา (เร็ว) และคุณภาพ (ดี) แต่มักประสบปัญหาเมื่อต้องสั่งซื้อเรือจากผู้ผลิตในประเทศไทย ทำให้กลุ่มเจ้าของเรือนิยมสั่งซื้อเรือจากต่างประเทศ (2) ปัญหารูปแบบการดำเนินธุรกิจ ตลอดจนความร่วมมือระหว่างผู้ประกอบการด้วยกันในลักษณะการบริหารห่วงโซ่อุปทาน (3) ปัญหาการส่งเสริมขีดความสามารถในการผลิตของอุตสาหกรรมในประเทศผ่านกลไกสนับสนุนของรัฐ ดังนั้น แนวทางในการส่งเสริมอุตสาหกรรมต่อเรือต้องนำปริมาณความต้องการใช้ภายในประเทศมาเป็นเครื่องมือในการพัฒนาอุตสาหกรรม ส่งเสริมให้มีการทดแทนเรือที่มีอายุสูงด้วยการผลิตเรือใหม่ในประเทศไทย ด้วยต้นทุนและคุณภาพที่กลุ่มเจ้าของเรือยอมรับได้ ก็จะก่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดในระยะยาว ผลการศึกษาวิเคราะห์อุตสาหกรรมเป้าหมายข้างต้น จะถูกนำเสนอเป็นข้อมูลในการกำหนดยุทธศาสตร์ของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยยุทธศาสตร์จะครอบคลุมทั้งการปรับเปลี่ยนปัจจัยภายนอกให้เกื้อกูลผู้ประกอบการไทย และยกระดับปัจจัยภายใน ซึ่งหมายถึงศักยภาพผู้ประกอบการไทย โดยคำนึงถึงบทบาทภาครัฐ สมาคมวิชาชีพของภาคเอกชน และตัวผู้ประกอบการเอง เพื่อให้สามารถขับเคลื่อนการพัฒนาอุตสาหกรรมสนับสนุนได้อย่างยั่งยืนและเป็นรูปธรรม
15 มี.ค. 2562
เทคโนโลยี RFID ใน Industry 4.0
ธนาพล โชคสุนทสุทธิ์ ที่ปรึกษาโครงการส่งเสริมการปรับกระบวนการจัดการโลจิสติกส์ ด้วยการใช้เทคโนโลยี Application ระบบ RFID และ Barcode เทคโนโลยี RFID ใน Industry 4.0 เทคโนโลยีบ่งชี้ตัวตนด้วยคลื่นความถี่วิทยุ หรือที่บางท่านรู้จักในชื่อของ RFID หรือ Radio Frequency Identification เป็นเทคโนโลยีที่เข้ามามีบทบาทอย่างมากในโลกอุตสาหกรรมปัจจุบัน เนื่องจากการแข่งขันของภาคอุตสาหกรรมต่างๆ ที่มีการขยายตัว ทำให้ข้อมูลที่ใช้ในการตัดสินใจเป็นเรื่องสำคัญสำหรับผู้บริหารในปัจจุบัน ซึ่งการที่สถานประกอบการจะมีข้อมูลที่ถูกต้องแม่นยำ และรวดเร็วได้นั้นจำเป็นต้องพึ่งเทคโนโลยีต่างๆ เช่น RFID, Sensor, Embedded สำหรับสร้างนวัตกรรมใหม่ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพด้านโลจิสติกส์ให้เกิดประโยชน์ได้ตรงตามความต้องการของผู้ใช้งาน สำนักโลจิสติกส์ กรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ สังกัดกระทรวงอุตสาหกรรม ผู้สนับสนุนและส่งเสริมการพัฒนาระบบโลจิสติกส์ภาคอุตสาหกรรมของประเทศไทยได้เห็นถึงความจำเป็นในการนำ RFID มาประยุกต์ใช้งานในภาคอุตสาหกรรม จึงได้คิดเริ่มโครงการ “ส่งเสริมการปรับปรุงกระบวนการ โลจิสติกส์ด้วยเทคโนโลยี Application ระบบ RFID และ Barcode” ขึ้นในปี 2558 ซึ่งได้รับผลตอบรับจากสถานประกอบการในอุตสาหกรรมต่างๆเป็นอย่างดี ทำให้สำนักฯ ดำเนินโครงการต่อเนื่องในปี 2559 เพื่อให้สถานประกอบการได้เรียนรู้วิธีการนำเทคโนโลยี RFID ไปใช้อย่างถูกวิธีและเกิดประโยชน์ พร้อมกับรองรับกระแส Industry 4.0 ที่กำลังจะเกิดขึ้นในอนาคต ในการดำเนินโครงการนี้ ทีมงานที่ปรึกษาได้ร่วมกับตัวแทนจากสถานประกอบการที่เข้าร่วมโครงการ จำนวน 10 ราย ในการออกแบบระบบและนวัตกรรมใหม่โดยใช้ RFID ซึ่งสามารถสร้างระบบการระบุตัวตนของวัตถุในกระบวนการโลจิสติกส์ต่างๆได้ อาทิ ระบบบริหารจัดการคลังสินค้าด้วย RFID ซึ่งสถานประกอบการที่นำ RFID ไปสร้างนวัตกรรม เช่น บริษัทผู้ผลิตและส่งออกกระเบื้องเซรามิค บริษัทผู้ผลิตมอเตอร์แอร์ส่งออก ฯลฯ ซึ่งผลการนำเทคโนโลยีดังกล่าวไปใช้สามารถลดต้นทุนหรือเพิ่มผลิตภาพของบริษัทฯ คิดเป็นมูลค่ามากกว่า 10 ล้านบาท รวมถึงแก้ไขปัญหาด้านการบริหารจัดการขององค์กรได้อย่างมีประสิทธิภาพ เช่น การลดปัญหาเรื่องของการหยิบสินค้าผิดพลาด ลดระยะเวลาในการค้นหาสินค้า พนักงานทำงานอย่างเป็นระบบ และสามารถควบคุมพฤติกรรมได้ ในส่วนของบริษัทผู้ผลิตและส่งออกกระเบื้อง ก่อนการปรับปรุง บริษัทฯ พบปัญหาในการบริหารจัดการคลังสินค้ามากมาย เช่น ข้อมูลของคลังสินค้าที่จัดเก็บไม่ถูกต้อง ตำแหน่งจัดเก็บไม่ถูกต้อง การตรวจนับสต็อกสินค้าใช้คนในการตรวจทำให้ใช้ระยะเวลา และเกิดข้อผิดพลาดสูง ซึ่งหลังจากบริษัทฯ นำ RFID เข้ามาประยุกต์ใช้งานในการบริหารจัดการคลังสินค้าทำให้สามารถลดจำนวนพนักงานสำหรับปฏิบัติงานกว่า 30% ลดจำนวนรถโฟล์คลิฟต์ที่ใช้งานในคลังสินค้าไปได้ 6 คัน และสามารถลดค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานได้มากกว่า 500,000 บาทต่อเดือน จากผลของการปรับปรุงดังกล่าว ทำให้บริษัทฯ เห็นถึงประโยชน์ของการนำเทคโนโลยี RFID มาประยุกต์ใช้งาน จึงมีนโยบายที่จะขยายการปรับปรุงกระบวนการเพิ่มขึ้น โดยวางแผนจะทำให้คลังสินค้าของบริษัทฯ เป็น Smart Warehouse และพัฒนาส่วนอื่นเพิ่มเติมเพื่อให้เป็นระบบอัตโนมัติสำหรับรองรับ IOT ที่กำลังจะเกิดขึ้นต่อไป สำหรับบริษัทผู้ผลิตมอเตอร์แอร์ส่งออก ก่อนการปรับปรุง บริษัทฯได้พยายามนำเทคโนโลยี Barcode เข้ามาประยุกต์ใช้กับรถโฟล์คลิฟต์ เพื่อสร้างระบบการทำงานอัตโนมัติให้พนักงานสามารถทำงานได้อย่างสะดวกและถูกต้องแม่นยำ แต่บริษัทฯ ต้องพบปัญหาในเรื่องของการนำเทคโนโลยีที่ไม่เหมาะสมไปใช้งาน ทำให้ไม่เกิดประโยชน์เท่าที่ควร ทีมงานที่ปรึกษาจึงเข้าไปแนะนำการนำเทคโนโลยี RFID เข้ามาใช้งานแทน Barcodeโดยหลังจากการประยุกต์ใช้งานแล้วบริษัทฯ สามารถลดต้นทุนในกระบวนการต่างๆที่นำเทคโนโลยีไปประยุกต์ใช้ได้มากกว่า 1 ล้านบาทต่อเดือน นอกจากนี้ยังมีแผนการที่จะพัฒนาระบบของบริษัทฯ ให้เป็นรูปแบบ IOT ให้ได้ภายในปี 2020 ในอนาคตเทคโนโลยี RFID จะเข้ามามีส่วนในการสร้างระบบอัตโนมัติภายในองค์กรเป็นอย่างมาก ประกอบการกับภาวะการแข่งขันในตลาดที่เพิ่มสูงขึ้นทุกวัน ดังนั้นทุกองค์กรไม่ควรนิ่งเฉยต่อการพัฒนาระบบ และเทคโนโลยีต่างๆ ของตนเอง เพื่อให้สามารถแข่งขันในตลาดได้อย่างมีประสิทธิภาพ และตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้าได้ตรงความต้องการ
15 มี.ค. 2562