โลจิสติกส์แบบลีน เรื่องง่ายใกล้ๆ ตัว
โดย วศ.สิริพงศ์ จึงถาวรรณ, ACPE, CSCP, EPPM
ทำไมภาคธุรกิจจึงเริ่มให้ความสนใจ “ลีน (Lean)” เนื่องจากโตโยต้าในช่วงปี ค.ศ. 2005 ซึ่งมียอดขายอันดับ 4 ของโลก แต่มีกำไรมากกว่า ผู้ผลิตรถยนต์ 3 ยักษ์ใหญ่จากค่ายอเมริกัน นั้นคือ GM, Ford, และ Chrysler ที่กำไรเพียง 1.9% 2.4% และ 0.3% ตามลำดับ กำไรรวมกันแค่ 4.6% แต่โตโยต้าเพียงบริษัทเดียวกำไรสูงถึง 6.7% หรือมากกว่าทั้ง 3 บริษัทถึง 2.1% และปัจจุบันได้ก้าวขึ้นเป็นโรงงานผลิตรถยนต์อันดับ 1 ของโลกแล้ว
ทางอเมริกาจึงส่งคณะวิจัยจากสถาบันเทคโนโลยีแมสซาชูเซตส์ (Massachusetts Institute of Technology: MIT) นั้นคือ James P. Womack และ Daniel T. Jones ทีมนักวิจัยด้านรัฐศาสตร์จากศูนย์วิจัยยานยนต์นานาชาติ (the International Motor Vehicle Program: IMVP) เข้าไปทำการศึกษาวิจัยด้านขีดความสามารถในการแข่งขันในอุตสาหกรรมยานยนต์ และสุดท้ายได้แต่งหนังสือ แนวคิดแบบลีน : กำไรมากขึ้น... ด้วยทรัพยากรน้อยลง (Lean Thinking: Banish Waste and Create Wealth in Your Corporation) ซึ่งมีแปลเป็นภาษาไทยด้วย
โดยสรุป ลีน จึงหมายถึง “การเน้นไปที่การสร้างคุณค่า (Value) และขจัดความสูญเปล่า (Wastes) โดยมุ่งมั่นพัฒนาอย่างต่อเนื่อง (Continuous Improvement: CI)” หลายๆ ภาคธุรกิจจึงนำหลักการนี้ไปใช้ในธุรกิจของตนเอง ตั้งแต่ คู่แข่งในอุตสาหกรรมยานยนต์ เครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ สิ่งทอและเสื้อผ้า รวมไปถึงภาคการบริการ เช่น โรงพยาบาล โรงแรม หน่วยงานภาครัฐ ในธุรกิจเริ่มต้นใหม่ (Startup) ก็นำไปใช้ในการสร้างไอเดีย และกลายเป็นธุรกิจที่ถูกต้องตั้งแต่แรก ไม่เว้นธุรกิจโลจิสติกิส์ ก็เช่นกัน
ลองมาดูกันว่า โลจิสติกส์แบบลีน คืออะไร แม้ว่าโลจิสติกส์ไม่ได้ให้คุณค่าเชิงการผลิตหรือแปรสภาพสินค้า แต่มีคุณค่าในเชิงการไหล (Flow) เวลา (Time) สถานที่ (Place) และวิธีการส่งมอบ (Delivery) “การส่งมอบในเวลาที่ต้องการ ปริมาณที่ต้องการ ส่งให้ใช้ได้อย่างสะดวก และมุ่งกำจัดความสูญเปล่าในกระบวนการโลจิสติกส์ออกไป เพื่อปรับเปลี่ยนวิธีการโลจิสติกส์ต่างๆ ให้เข้ากับลูกค้า (อุปสงค์) มากที่สุด”
ความสูญเปล่าในโลจิสติกส์ สามารถแบ่งกลุ่มได้ ดังนี้ (ดัดแปลงจาก Thomas Goldsby and Robert Martichenko, 2005)
- สินค้าคงคลัง (Inventory) ทุกประเภท อาทิ วัตถุดิบ ชิ้นส่วน งานระหว่างกระบวนการ สินค้าสำเร็จ สินค้าต่างๆ ที่เกิดจากการเก็บเผื่อไว้มากเกินไป ปริมาณสินค้าไม่เพียงพอต่อการขายทำให้เกิดของขาดหรือล้นเกินไป การนำส่งสินค้าผิด รุ่น ชนิด จำนวน เป็นต้น
- การขนส่ง (Transportation) ตั้งแต่
- การเปลี่ยนโหมดการขนส่งไม่เหมาะสม เช่น เครื่องบินต่อรถ เรือต่อรถ รถต่อเรือ
- ขนาดยานพาหนะที่ใช้ ขนาดเครื่องยนต์แรงม้าที่มากกว่าน้ำหนักหรือปริมาณสินค้าที่บรรทุก รวมไปถึงการยกเพลาขึ้นเมื่อไม่มีภาระขนส่งสินค้า เพื่อลดแรงเสียดทานและภาระของเครื่องยนต์
- วิธีการขับขี่อย่างไรให้ประหยัดน้ำมัน (Eco-driving) การออกรถด้วยเกียร์ 2 การจอดรถแล้วติดเครื่องทิ้งเอาไว้ การเร่งเครื่องยนต์ขึ้นบ่อยๆ การเบรกรถยนต์กระชั้นชิด
- ชนิดของล้อยาง ควรใช้ล้อยางประเภทประหยัดพลังงาน สามารถหล่อดอกยางได้หลายๆ ครั้ง ทำให้วิ่งได้ระยะทางกิโลเมตรที่มากที่สุด ส่วนความดันลมยาง ถ้ายางลมอ่อนทำให้กินน้ำมัน ต้องเติมลมยางตามปริมาณความดันสูงสุดที่ระบุไว้ข้างแก้มยาง เพื่อไม่ให้โครงสร้างยางเสียหาย การตั้งศูนย์เพื่อให้ล้อวิ่งไปทิศทางเดียวกันไม่ต้านกันเอง
- ชนิดน้ำมันเครื่อง ใช้น้ำมันเครื่องเกรดต่ำทำให้ต้องเข้าศูนย์บริการบ่อยๆ เช่น น้ำมันเครื่องที่วิ่งได้ระยะทาง 10,000 กิโลเมตร เทียบกับน้ำมันเครื่องสังเคราะห์ที่วิ่งได้ 50,000 กิโลเมตร ทำให้เสียเวลาในการนำรถไปบริการลูกค้า เสียโอกาสในการวิ่งงานให้กับลูกค้าไปทันทีอีก 4 ครั้ง
- การบรรทุกสินค้าไม่เต็มปริมาณลูกบาศก์ ทำให้สูญเสียต้นทุนมากกว่าปกติ เพราะขนอากาศไปด้วย จะพบได้เสมอในโรงงานฉีดขวดพลาสติก สามารถแก้ไขได้ด้วยการย้ายเครื่องฉีดขวดพลาสติกไปใกล้ๆ แหล่งบรรจุน้ำดื่ม
- การวิ่งเที่ยวเปล่าขากลับ (Backhauling) ต้องเริ่มทำการขนส่งแบบ Milk Run วิ่งรับ-ส่งสินค้าหลายๆ ที่หลายๆ Drop แทนที่จะวิ่งรถขนสินค้าตรงไปเจ้าเดียว และวิ่งรถเที่ยวเปล่ากลับ
- การออกแบบระบบทั้งแบบ Hub and Spoke และการออกแบบ Nodes and Links เพื่อให้เกิดความเหมาะสมมากที่สุด
- ระบบ (Systems) งานขั้นตอนต่างๆ ที่ทำให้เกิดการรอคอย รอระบบประมวลผล ระบบทำผิดพลาด กรอกข้อมูลผิด กรอกข้อมูลซ้ำๆ ทำให้เสียเวลา
- งานธุรการ (Administration) งานธุรการที่ต้องทำงานเอกสารสำเนาเยอะๆ การทวนสอบที่มากเกิดความจำเป็น
- ลูกบาศก์ที่เก็บและขน (Cube) การขนอากาศแทนที่จะขนสินค้า การจัดเรียงสินค้าไม่ดีมีช่องว่าง มีช่องเผื่อเยอะ ทำให้ขนสินค้าไม่ได้เติมปริมาตรลูกบาศก์ ผมเคยให้คำปรึกษาธุรกิจค้าปลีกรายใหญ่ ลองไปดูขณะคู่แข่งระหว่างธุรกิจขนสินค้าเข้าหน้าร้าน รถขนสินค้าเปิดท้ายออกมา ขนสินค้าเติมจนชนเพดานรถ แทบไม่มีที่ว่างเลย เดี๋ยวนี้มีซอฟร์แวร์ช่วยบริหารจัดการปริมาตรลูกบาศ์กแล้วครับ
- บรรจุภัณฑ์ (Packaging) การออกแบบบรรจุภัณฑ์ไม่เหมาะสม รูปทรงไม่เอื้อต่อการจัดการ เช่น บรรจุภัณฑ์ทรงกลม ทำให้ซ้อนและวางได้ยาก ต้องมีออกแบบบรรจุภัณฑ์ร่วมกันทั้งฝ่ายขนส่ง ฝ่ายผลิต ฝ่ายจัดหาวัสดุ เพื่อทำให้ได้บรรจุภัณฑ์ที่เอื้อต่อการโลจิสติกส์
- เวลา (Time) เวลาในการนัดหมายต้องตรงเวลาจะได้ไม่เสียเวลาไปต่อคิวท้ายแถว เจอเหตุการณ์แบบนี้บ่อยๆ ตามนิคมอุตสาหกรรม ต้องติดตามสถานะสินค้าได้ รถบางคันไปแอบจอดดูดน้ำมันไปขายก็เคยเจอมาแล้ว ต้องติดตามสถานะได้และจับระยะเวลาจอดรถทิ้งไว้นานจนผิดสังเกตุ และการรอคอยขึ้นลงสินค้าที่ใช้ระยะเวลานานต้องคิดหาอุปกรณ์มาช่วย บางรายเริ่มใช้ผ้าม่านแทนตู้ระบบปิด เพื่อให้สะดวกตอนขึ้น-ลงสินค้า สามารถนำรถโฟล์คลิฟท์มายกสินค้าเข้า-ออกได้พร้อมๆ กันทีละ 2-3 คัน
- ความรู้ (Knowledge) ความคิดสร้างสรรค์ของคนงานที่ไม่ได้นำมาใช้ ไม่ได้ใช้เครื่องมือ อุปกรณ์ และเทคโนโลยีใหม่ๆ เพื่อมาช่วยให้การทำงานสะดวกและง่ายขึ้น
จะเห็นว่าจริงๆ โลจิสติกส์แบบลีน เป็นเรื่องใกล้ๆ ตัว แต่เรามักไม่ได้สังเกตุ และใส่ใจ ถ้าเริ่มนำสิ่งที่ได้อธิบายไว้ไปพัฒนาและลงมือทำจริงก็จะทำให้ท่านลดต้นทุนธุรกิจ งานเสร็จไว ระดับการบริการให้ลูกค้าได้มากขึ้น และกำไรพุ่ง แล้วพบกันใหม่ฉบับหน้านะครับ
เอกสารอ้างอิง
วิทยา สุหฤทดำรง, 2553, การกระจายสินค้าแบบลีน, กรุงเทพมหานคร: อี.ไอ. สแควร์.
สิริพงศ์ จึงถาวรรณ, 2561, LEAN ผู้ประกอบการยุคใหม่ จากก้าวเล็กๆ สู่ก้าวที่ยิ่งใหญ่ในโลกธุรกิจ, กรุงเทพมหานคร: Dดี (ติดอันดับหนังสือขายดี (Best Seller) ภายในวันแรกที่วางจำหน่าย).
สิริพงศ์ จึงถาวรรณ, 2560, LEAN ลดต้นทุนธุรกิจ งานเสร็จไว กำไรพุ่ง, กรุงเทพมหานคร: Dดี (ติดอันดับหนังสือขายดี (Best Seller) ภายในสัปดาห์แรกที่วางจำหน่าย).
Thomas Goldsby and Robert Martichenko, 2005, Lean Six Sigma Logistics: Strategic Development to Operational Success, US: J.Ross.