การส่งเสริมการใช้และเชื่อมโยงระบบ Backhauling เพื่อลดการขนส่งเที่ยวเปล่า
การส่งเสริมการใช้และเชื่อมโยงระบบ Backhauling เพื่อลดการขนส่งเที่ยวเปล่า
บริษัทต่างๆ ในประเทศไทยที่ทำหน้าที่รับจ้างขนส่งสินค้า หรือบริษัทผู้ผลิตสินค้าและวัตถุดิบที่ต้องมีการเคลื่อนย้ายสินค้าล้วนถูกกดดันให้แข่งขันทั้งในด้านต้นทุนและความใส่ใจสิ่งแวดล้อมมากขึ้น ส่งผลให้การขนส่งเที่ยวกลับ (Backhauling) และโลจิสติกส์ย้อนกลับ (Reversed Logistic) เข้ามามีบทบาทต่อการออกแบบเครือข่ายการกระจายสินค้ามากขึ้น ปัญหาที่องค์กรส่วนใหญ่พบในการบริหารจัดการรถเที่ยวกลับคือไม่สามารถใช้ประโยชน์จากยวดยานพาหนะ (Load Utilization) และการใช้พลังงานเชื้อเพลิงให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุดได้ เนื่องด้วยเพราะขาดระบบและการประสานงานที่ดีในการจับคู่ผู้ที่มีความต้องการตรงกัน อีกทั้งการใช้คนในการดำเนินการโดยขาดระบบเทคโนโลยีสารสนเทศเข้ามาช่วยอาจก่อให้เกิดความผิดพลาดได้ง่าย และใช้เวลานานในการจัดตารางเที่ยวการขนส่ง
ดังนั้น กรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ โดยสำนักโลจิสติกส์ ซึ่งรับผิดชอบดำเนินภารกิจหลักด้านการส่งเสริมการพัฒนาระบบโลจิสติกส์ภาคอุตสาหกรรมได้จัดทำโครงการส่งเสริมให้เกิดการจัดการการขนส่งเที่ยวเปล่า โดยผู้เข้าร่วมโครงการจะได้รับสิทธิประโยชน์ในการใช้งานระบบบริหารการจัดการด้านการขนส่ง (Transportation Management System:TMS) และระบบเครือข่ายการขนส่งเพื่อลดจำนวนรถเที่ยวเปล่า (Backhauling Management System: BMS) โดยมีรายละเอียดดังนี้
ระบบ TMS มีหน้าที่ช่วยในการบริหารจัดการการขนส่งภายในสถานประกอบการ โดยรองรับการทำงาน 3 ด้าน หลักคือ (1) การจัดการคำสั่งของลูกค้าที่เข้ามา (2) การบริหารจัดการการขนส่ง ทั้งในการออกใบงาน การบริหารจัดการกองยวดยานพาหนะ ประวัติพนักงานขับรถ การซ่อมบำรุง และ (3)การจัดการด้านการเงิน นอกจากนี้ระบบยังมีการเก็บข้อมูลตัวชี้วัดประสิทธิภาพ (Key Performance Indicator: KPI) ที่เกี่ยวข้องกับระบบการขนส่ง เช่น ต้นทุน ระยะเวลาเฉลี่ยในการจัดส่งสินค้า ความสามารถในการจัดส่งสินค้า เป็นต้น เพื่อให้ผู้บริหารได้มองเห็นถึงประสิทธิภาพในการทำงานได้อย่างรวดเร็ว อีกทั้งระบบที่สำนักโลจิสติกส์ได้พัฒนาขึ้นมายังรองรับกับมาตรฐาน Q-mark ของกรมการขนส่งทางบกอีกด้วย
ระบบ BMS มีหน้าที่ช่วยจับคู่การขนส่งในเที่ยวกลับไม่ให้รถวิ่งเที่ยวเปล่า โดยระบบสามารถรับข้อมูลได้ทั้งจากการป้อนข้อมูลโดยตรงหรือจะรับข้อมูลจากระบบ TMS ก็ได้ ซึ่งช่วยลดเวลาในการทำงานและลดความผิดพลาดที่อาจจะเกิดขึ้นได้
โดยระบบทั้งสองถูกพัฒนาขึ้นมาภายใต้ระบบของ Odoo ซึ่งมีฟังก์ชั่นการทำงานของระบบบริหารจัดการทรัพยากรขององค์กร (Enterprise Resource Planning: ERP) ที่ครบถ้วน มีลักษณะเป็นระบบเปิด (Open source) ทำให้ผู้ประกอบการสามารถนำระบบเทคโนโลยีสารสนเทศภายในองค์กรมาเชื่อมต่อได้โดยง่าย เช่น เชื่อมกับระบบบัญชี หรือระบบบริหารจัดการงานขาย เป็นต้น และในอนาคตเพื่อให้การบริหารจัดการการขนส่งมีประสิทธิภาพสูงสุดระบบจะเชื่อมโยงกับ GPS และแผนที่อิเล็คทรอนิคส์เพื่อให้ออกเส้นทางการขนส่งได้โดยสะดวก
ปัจจัยหลักแห่งความสำเร็จที่สำคัญของการทำ Backhauling คือ ผู้ประกอบการจะต้องรวมกลุ่มกันเพื่อแบ่งปันข้อมูลการขนส่งและสร้างความไว้เนื้อเชื่อใจระหว่างสมาชิกในกลุ่ม เนื่องจากการจะผลักดันให้เกิดการจับคู่ Backhauling ได้นั้น ทั้งผู้ว่าจ้างและผู้ถูกว่าจ้างและต้องมีความเชื่อใจซึ่งกันและกัน ผู้ถูกว่าจ้างต้องทำให้ผู้ว่าจ้างมั่นใจได้ว่าสินค้าที่ตนให้ทำการขนส่งจะไม่สูญหายหรือเกิดความเสียหาย ทางผู้ถูกว่าจ้างเองก็ต้องมั่นใจว่าเมื่อส่งสินค้าถึงปลายทางแล้วจะสามารถเรียกเก็บค่าขนส่งจากผู้ว่าจ้างได้ ความไว้ใจกันจึงเป็นปัจจัยหลักที่สมาชิกคำนึงถึง ดังนั้นเป้าหมายหนึ่งในการดำเนินโครงการของทางสำนักโลจิสติกส์คือการสร้างเครือข่ายของผู้ให้บริการขนส่งและโลจิสติกส์ (Logistics Service Provider Cluster) เพื่อการแลกเปลี่ยนและบูรณาการข้อมูลด้วยการใช้ระบบเทคโนโลยีสารสนเทศเป็นเครื่องมือหลัก และส่งผลให้มีการขนส่งสินค้าเที่ยวกลับเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยยะ โดยโครงการได้ดำเนินการมาอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2555 และมีสถานประกอบการเข้าร่วมในการใช้งานระบบมาแล้วไม่ต่ำกว่า 113 สถานประกอบการ เพื่อการสร้างเครือข่ายการขนส่งแบบไม่เสียเที่ยวเปล่าของผู้ประกอบการขนส่งและผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมการผลิตอย่างกว้างขวางในประเทศ นอกจากจะช่วยลดต้นทุนรวมด้านโลจิสติกส์ให้กับภาคอุตสาหกรรม และลดมลพิษทางอากาศจากการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์แล้วยังเป็นการยกระดับศักยภาพของภาคอุตสาหกรรมการผลิตและผู้ให้บริการขนส่งและโลจิสติกส์ด้วยเช่นกัน